Saturday, January 10, 2009

อันดามันใต้….ดินแดนปะการังอ่อน(2)







Dive1 เหล่าสรรพสัตว์ที่เกาะห้าใหญ่!!!!

เกือบไม่ลงครับ เลยใช้วิชาปักหัว ดำลงไป ค่อยๆเคลียร์หู จึงลงมาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเท่าที่เห็นทัศนวิสัยมองได้ไกล น้ำไม่ได้ขุ่นครับ ออกจะใสด้วยซ้ำ

เริ่มจากลองถ่ายรูปพี่สมนึกดูก่อน จากนั้น สัตว์ทะเลที่ออกมาต้อนรับ คือ ปลาปักเป้าหน้าหมา(Blackspotted Puffer) รอบปากและตาที่มีสีดำคล้ายเขม่า เลยทำให้ดูเหมือนสัตว์เลี้ยงบนบกนั่นเอง

ในแนวปะการังแบบนี้ ย่อมมีปลาผีเสื้อครับ เจ้าปลาผีเสื้ออันดามัน(Andaman Butterflyfish) ตัวสีเหลืองเข้ม มีลายสีดำที่ขอบตาและจุดสีดำที่ส่วนโคนหาง ต่อด้วยปลาผีเสื้อคอขาว(Collared Butterflyfish) ที่มักจะมาเป็นคู่เสมอๆ จัดได้ว่าพบได้บ่อยมาก อีกชนิดพบได้ยากกว่าสองตัวแรก คือ ปลาผีเสื้อลายทแยงครีบดำ(Indian Vagabond Butterflyfish) นอกจากลายทแยงที่เป็นจุดเด่นแล้ว ส่วนที่เป็นสีดำก็จดจำง่ายครับ

ผมเริ่มมองเห็นกัลปังหา(Sea Fan)ในรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่สีจะกลืนกับน้ำทะเลครับ ทั้งนี้เพราะลงมาในความลึก สีจึงเหลืออยู่ไม่กี่สีเท่านั้น(ต้องใช้แฟลช จึงจะเห็นสีครับ)

ปะการังอ่อนของที่นี่(Soft Coral) สวยงามมากครับ เยอะซะด้วย พอผมถ่ายใกล้ๆ เห็นสีสันชมพูที่สดใส ผมไม่แน่ใจว่า มีปะการังอ่อนพังไปมากแค่ไหน(บ้างก็ว่าเกาะห้าก็โดนครับ) แต่เท่าที่ผมเห็นก็ยังมากอยู่ดีแหละ

มีอยู่จุดหนึ่งที่ต้องมุดถ้ำเข้าไปครับ พอเห็นมืดๆก็ดูน่ากลัว ที่ไหนได้ ไม่มีอะไรเลยครับ มุดแล้วก็เจอทางออกทันที

เหมาะเลยครับ ผมเห็นปลาแมงป่องเกล็ดเล็ก(Tassled Scorpionfish) นอนหลับอย่างสบายบนก้อนหินขนาดกว้างใหญ่ พอมีพื้นที่เยอะ ผมเข้าไปใกล้ๆ ขอถ่ายรูปเขาซะหน่อย ดูท่าทางเขาก็รำคาญเล็กน้อยครับ ว่ายหนี แต่สุดท้ายก็หยุดนิ่ง ผมเลยเข้าไปถ่ายใกล้ๆได้อย่างง่ายดาย

มีปะการังสมองที่มีรูแตกอยู่ครับ ในรูมีโพรงด้วย เห็นหนวดออกมาแบบนี้ ใช่เลยครับ กุ้งมังกร(Lopster) นั่นเอง ซึ่งในเวลากลางวัน กุ้งมังกรก็ยังคงเอกลักษณ์การหลบซ่อนอยู่ในโพรงเหมือนเดิม ผมให้พี่มนตรีเข้าไปถ่ายก่อนครับ แล้วจึงเข้าไปถ่ายบ้าง

เท่าที่ผมลองมองดูเข็มทิศ ตรงกับที่ครูตุ๋ม Brief ให้ฟังเลยครับ แถมเข็มทิศน้ำก็ไม่เข้า ใช้ได้ดีเลยล่ะ ประหยัดเงินไม่ต้องซื้อแล้วครับ

พี่สมนึกทำสัญญานให้ผมรอตรงนี้ แต่ผมยังไม่เข้าใจนัก เลยว่ายตามไป(จริงๆแกว่ายไปหาของน่ะครับ) ผลคือ น้ำมีกระแสขึ้นมาครับ ต้องหาก้อนหินจับไว้จะได้ไม่เปลืองแรง(ในกลุ่มผม อย่างนัทและพี่มนตรี ก็ตามมาด้วย พี่แดงทำสัญญานให้ออกไปจากตรงนี้ครับ)

ช่วงเมื่อซักครู่ ผมเห็นชีวิตในแนวปะการัง มีทั้งปะการังลูกโป่งใหญ่(Rounded Bubble Coral) ปลิงขูด(Bohaddschia graffei)ที่มักจะพบในเขตน้ำใส ตามหมู่เกาะไกลฝั่ง ที่มีคุณภาพน้ำดี ดาวขนนก(Feather Star) ปลาการ์ตูนอินเดียน(Skunk Anemonefish) ปลาการ์ตูนส้มขาว(False Clown Anemonefish) ปลาสลิดหินคอดำ(Indian Dascyllus) ปลาสลิดหินกลมสีทอง(Golden Damsel) ปลาโนรี(Longfin Bannerfish) ปลาผีเสื้อเทวรูป(Moorish Idol) ปลาปากแตร(Trumpetfish) ปลาปากขลุ่ย(Smooth Flutemouth) ปลากะรังแดงจุดน้ำเงิน(Coral Rockcod) ปลาสินสมุทรวงฟ้า(Bluering Angelfish)

และยังมีฝูงปลาอย่างปลาสลิดทะเลแถบ ฝูงปลากล้วยหลังเหลือง และปลากระพงลายพาด(Checkered Snapper)ด้วยครับ(ชนิดหลังนี่ ไม่ค่อยได้เห็นเลยครับ แม้จะมีสีน้ำตาลแต่ก็ดูสวยดี)
ดาวทะเลที่ผมถ่ายรูปมารูปหนึ่ง มองดูเหมือนหญิงสาวนอนเปลือยกายบนก้อนหินอย่างสบายอารมณ์ โดยไม่มีอาภรณ์ปิดบัง (จะหาว่าผมคิดลึกไม่ได้นะครับ มันเหมือนจริงๆน่ะ ลองดูซิ)

ผมเห็นปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish) กำลังขบกัดปะการังอย่างสบายอารมณ์ อยากจะไปถ่ายใกล้ๆครับ แต่กลัวพี่แกจะอารมณ์ไม่ดี เปลี่ยนจากขบปะการังมาเป็นน่องของผมแทน 5555
ช่วงนี้พี่สมนึกทำสัญญานให้รอตรงนี้ครับ ว่าแล้วแกก็ตีฟินหายไปอย่างรวดเร็ว(แบบนี้ถูกต้องครับ ไม่ต้องตาม) ซักพักใหญ่พี่สมนึกกลับมา พร้อมทำสัญญานให้ผมตามไป

มีคนมุงดูอะไรซักอย่างในโพรงหินเยอะจังครับ แต่ผมขี้เกียจเข้าไปมุงน่ะ รอให้ว่างๆก่อนก็ได้ ใกล้ๆเห็นปลาสิงโต(Common Lionfish) ฉายเดี่ยว ตรงนั้นพื้นที่เปิดโล่ง ให้ผมเข้าไปใกล้ๆ ถ่ายรูปได้อย่างสบายๆ

อากาศใกล้ๆจะหมดแล้วครับ เหลือไม่ถึงสี่สิบ(มาคราวนี้ พี่ป้อมตั้งไดฟ์คอมเตือนให้เสียงดังในเวลา 45 นาที คงกลัวผมดำเพลินละมั้ง แต่ก็ปลอดภัยดีครับ)

ผมว่าจะไม่ดูตรงจุดที่คนมุงดูครับ พี่สมนึกทำสัญญานถามผมว่า เห็นหรือยัง ผมทำท่าว่าไม่เห็น แกเลยชี้ให้เข้าไปดูครับ ทางสะดวกพอดีด้วย เอ้า ดูก็ดู

ไม่เห็นมีอะไรเลย โพรงเปล่าๆ นี่นา ไม่ใช่ครับ ผมเห็นดวงตาของเขาแล้วล่ะ เฮ้ย นี่มันปลากบนี่นา!!

ดูจากในจอ LCD เหมือนแฟลชจะไปคนละทางครับ ปลากบตัวนี้ ตัวเล็กมาก ขนาดประมาณ 5 ซม ผมถ่ายแค่แชะเดียว มีคนมาถ่ายต่อครับ ผมไปดีกว่า

การแยกชนิดปลากบไม่ใช่เรื่องง่ายครับ หากเป็นปลากบที่ตัวเล็ก ยังต้องอาศัยการดูคันเบ็ดและส่วนประกอบอื่นๆอีกด้วย หลังจากการดูชัดๆ นี่ คือ ปลากบครีบจุด(Spotfin Frogfish) ขนาดยังไม่โตเต็มวัย(โตสุดได้ 10 ซม ก็เล็กอยู่ดีแหละ) มองดูผ่านจากสิ่งที่ปกคลุมลำตัวอยู่ ปลากบตัวนี้มีสีชมพูอ่อนครับ

การพบเห็นปลากบชนิดนี้ ในเวลากลางวัน ถือว่าไม่ง่ายครับ(คนหาต้องตาดีมากๆ ขั้นเทพเลยล่ะ) เพราะพวกเขามักจะหลบอยู่ในซอกหิน ไม่ได้ออกมาจากที่ซ่อนเหมือนเวลากลางคืน(ถ้าเป็นปลากบยักษ์ ที่หินหัวกะโหลก ที่ผมเห็นเมื่อปีที่แล้ว ดูและแยกชนิดได้ง่ายกว่า เพราะตัวค่อนข้างใหญ่ด้วย)

อากาศเหลือน้อยครับ มองหาคนแชร์ดีกว่า แต่ไม่ต้องครับ เพราะทำ Safety Stop ครบพอดี

ขึ้นมาผิวน้ำ ไม่มีอาการคลื่นไส้ครับ สบายๆ ผมส่งกล้องให้กับพี่ Staff พี่สมนึกบริการถอดฟินให้ผมด้วย(โห สุดยอด Leader ทำให้ Diver ขนาดนี้เลยเหรอพี่)

ผมเห็นครูจุ๋มยืนเช็คอากาศของนักดำน้ำว่าเหลือเท่าไร(โดยมี Staff ดูอากาศที่เหลือของนักดำน้ำทุกคน) ตอนแรกผมก็สงสัยครับว่า คือ อะไร (ทราบว่าจดเป็นสถิติให้นักดำน้ำเพื่อสะดวกในการจด Log book นั่นเอง)

อาหารเช้า มีข้าวต้มกุ๊ย หมูสับผัดไข่เค็ม(อันนี้อร่อยมาก) ยำปลากรอบ(เหมือนปลาฉิ้งฉ่างน่ะครับ) ผักกาดดองและกุนเชียงทอด

ดูทุกคนเอร็ดอร่อยกับอาหารเช้ากันดีครับ ที่เมื่อวานผมพูดว่าเห็นเด็กบนเรือ(ไม่ใช่ Juon นะ) เด็กๆ เริ่มออกมาทานอาหารแล้วครับ เริ่มจากน้องสมาทและน้องมายด์ เป็นลูกของพี่หมอพีและพี่ตา อีกสองคน คือ น้องเฟินและน้องเฟิร์ส เป็นลูกของพี่ตุ๊กและเฮียหมี

เท่าที่ทราบ มีหนึ่งตระกูล(สองครอบครัว) ที่มาดำน้ำคราวนี้ด้วย(หัวหน้าครอบครัว คือ เฮียช้วนกับเฮียหมี) เรียกว่ามากันที มาเกือบสิบคน ก็นับว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่ นอกจากเด็กๆเล็กๆแล้ว ก็เป็นครอบครัวใหญ่มาดำน้ำกัน นับว่า บรรยากาศอบอุ่นดีครับ

ได้รู้จักกับพี่ตุ้มครับ เป็นทันตแพทย์เหมือนกับพี่แอ๊นซ์(ทริปนี้หมอฟันเยอะจัง)
ผมคุยกับพี่มนตรี ทราบว่า พี่มนตรีใช้ชีวิตอยู่ที่แคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกา นี่เป็นช่วงกลับมาเยี่ยมเมืองไทย ก็เลยถือโอกาสมาดำน้ำครับ

“ตะกี้ๆ อากาศจะหมดเหรอ คราวหน้าแชร์ของพี่ก็ได้นะ ของพี่เหลือเยอะ” พี่กอลฟ์บอก

“ขอบคุณมากเลยครับ เดี๋ยวจะรีบมองหาเลยพี่ 55” (เธอมีน้ำใจดีครับ)

ไดฟ์ต่อไปเราจะลงดำน้ำกันที่หินม่วงครับ หินม่วงเป็นหนึ่งในจุดดำน้ำที่มีชื่อเสียง ครูตุ๋ม Brief ให้ฟังว่า ที่นี่มีปะการังอ่อนเยอะมาก แต่หลังจากปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ ก็มีปะการังอ่อนได้ตายลงไป แต่ตอนนี้ได้มีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะมีโอกาสได้เห็น Manta ray และ Devil Ray ก็เป็นได้

ต้องลงมาแต่งตัวเป็นชุดแรกครับ ผมเห็นครูจุ๋มขยันขันแข็งน่าดู เข้าครัวอบขนม(รูปร่างเหมือนพาย) ใกล้ๆก็มีพี่ Staff ที่เป็นพ่อครัว ทำอาหารอยู่ มาคราวนี้ผมจะได้ทานขนมแห่งตำนานซะที(ได้ยินชื่อเสียงมานานครับ)

ไปครับ เราไปสำรวจใต้ทะเลที่หินม่วงกันนะ



Dive2 เด็กน้อยน่ารักชื่อ Barred Moray!!!

ยิ่งลงไปลึกมาก สีก็เริ่มหายไปครับ ปะการังอ่อนส่วนใหญ่เป็นสกุล Dendronephthya ซึ่งมีมากจริงๆครับ(ขนาดพังไปเยอะนะ) เมื่อถ่ายรูปออกมาจึงเป็นสีม่วงสดใสขึ้น ถ่ายรูปเท่าไรก็ไม่มีเบื่อครับ(สวยจริงๆ)

มีฝูงปลาข้างเหลืองเยอะจริงๆครับ มีอยู่กลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มปลากล้วย กลุ่มปลากระพง หรือกลุ่มปลาแพะ ก็ยังไม่ชัดนัก ที่แน่ๆคือที่ผมเห็น มีปลากล้วยหลังเหลือง(Fusilier)

เราเรียกง่ายๆแบบรวมๆว่าข้างเหลือง ครับ(กรณีแยกชนิดไม่ได้) เมื่อมาว่ายผ่านด้านหน้าผมแบบนี้ มันท้าทายกันนี่หว่า

ผมเริ่มใช้ประสบการณ์จากการอ่านหนังสือการถ่ายรูปใต้น้ำของพี่ประสิทธิ จันเสรีกร เพราะปลาว่ายเร็ว บางทีอาจล๊อคโฟกัสไม่ทัน บางทีกว่าจะล๊อคได้ เราก็อาจไม่ได้ถ่าย ผมปรับไปที่อินฟินีตี้(ระยะของคอมแพคได้ไม่กี่เมตรครับ) ให้ล๊อคโฟกัสไว้เลย ผลคือ น่าพอใจมากครับ ผมชอบนะ(ส่วนการเปิดแฟลชก็ต้องทดลองดูครับ ใกล้ๆน่าลอง ไกลมาก ก็อันเดอร์แน่ๆ(หลักการเดียวกับบนบกเลย)

ผมเห็นอะไรประหลาดๆ ที่ผมไม่รู้จักก็ลองถ่ายดูครับ นับว่าคุ้มค่ามากกับสิ่งที่ลงทุนไป

มีหนวดกุ้งยาวๆครับ เห็นไม่ชัดเท่าไร เลยไม่แน่ใจว่าเป็นกุ้งชนิดไหน แต่ข้างๆกุ้งแน่นอนครับ หอยเต้าปูน(Cone Shell) ของแท้แน่นอน มีพิษร้ายแรงถึงตายได้เลย ตอนถ่ายรูปผมไม่เห็นเลยนะ ดูแต่กุ้งอย่างเดียวเลยครับ

เริ่มหนาวครับ ผมเจอเทอร์โมคลาย(กระแสน้ำเย็น) ด้วยล่ะ ใครสวมเสื้อยืดลงมาถ้าไขมันน้อยก็อาจมีสั่นได้ ว่าแล้วกอดอกดีกว่า ช่วยได้นิดนึง

ผมพยายามถ่ายภาพปลาผีเสื้อคู่นึง นี่คือ ปลาผีเสื้อลายเส้น(Line Butterflyfish) คล้ายกับปลาผีเสื้อคิ้วดำ(Spot-Nape Butterflyfish) มากๆ (แค่ดูคิ้วว่าขาดช่วงหรือไม่) หากไม่มีรูปถ่ายแล้วซูมเข้าไปดู ผมก็ตายเหมือนกันครับ แยกชนิดได้ยากมาก

ฝูงปลากลางน้ำอย่างปลาตะคองเหลือง(Golden Trevally)ปะปนอยู่กับปลาข้างเหลืองชนิดอื่น ผมไม่พลาดที่จะถ่ายพวกมันเช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังพอเห็นฝูงปลามงครีบฟ้า(Bluefin Trevally) และฝูงปลามงตาโต(Bigeye Trevally) แต่จำนวนไม่ค่อยเยอะเท่าไรครับ

เจ็บเท้าน่าดูครับ ฟินกัด เห็นทีผมต้องเอาถุงเท้ามาใส่ซะแล้วครับ ไม่งั้นตีขาลำบากแน่ๆ

แม้จะเป็นมุมเดิมๆผมก็ยังลองถ่ายปะการังอ่อนอยู่ครับ คราวนี้สีแดงสดเชียว ลองเปลี่ยนมาถ่ายแบบ Wide บ้างก็ดูแปลกใหม่ดีนะ

เจอปลาสิงโตครีบจุด(Spotfin Lionfish)ครับ จุดเด่นคือจุดสีดำที่ก้านครีบและแถบขนาดเล็กสีขาวพาดขวางลำตัว คราวนี้เจอรวดเดียวสองตัวเลย ที่สำคัญยังทำท่ามุดเข้าไปตรงหน้าโพรงที่มีนางแบบนู๊ดอย่างดาวทะเล(Star Fish)ด้วย แบบนี้ก็สวยซิฟะ นางแบบข้าใครห้ามแตะ 555

มีดาวมงกุฎหนาม(Crown-of-Thon)ด้วยครับ แต่สัดส่วนค่อนข้างน้อยนะ น้อยมากๆเลยล่ะ ปะการังปลอดภัยแน่ๆ(เจ้าดาวมงกุฎเดี๋ยวก็ถูกปลากินแล้วล่ะครับ)

พี่สมนึกชี้ให้ผมดูปลาไหลมอเรย์ยักษ์(Giant Moray) อยู่ในซอกหินด้านล่าง ธรรมดาก็ดูน่ากลัวอยู่แล้ว นี่ออกมาทั้งตัวเลยครับ ความยาวน่าจะประมาณสองถึงสามเมตร พยายามถ่ายรูปแต่ค่อนข้างไกลเกินไปครับ แฟลชไม่ถึงน่ะ

ว่ายต่อมาอีกนิดก็มีปลาไหลมอเรย์ยักษ์อีกครับ คราวนี้อยู่ในช่วงระยะที่พอถ่ายได้ แต่พอเปิดแฟลชก็ดำมืดทันที เอาแบบธรรมดาไปแล้วกันนะ

ผมเจอปลาสินสมุทรจักรพรรดิ์(Emperor Angelfish) ชนิดที่ผมชอบมากๆ ลงทุนดำลงไปถ่ายใกล้ๆ พอเห็นลายชัดเจนครับ ก่อนที่พวกเขาจะว่ายหนีไป

พี่สมนึกชี้ให้ดู สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง รูปร่างๆยาวๆ ใสๆ แกทำท่าว่าอย่าไปแตะครับ พึ่งทราบทีหลังว่า นี่คือแมงกระพรุนสาย(ผมนึกออกแล้วครับ ผมเคยไปเล่นน้ำที่หัวหิน แล้วโยนไปให้เพื่อนด้วยความตกใจเพราะไม่รู้ว่าคืออะไร ผลคือ แสบๆคัน กันถ้วนหน้า ถ้ารู้ว่าเป็นแมงกระพรุนจะไม่โยนไปหรอกครับ 555 )

ด้านล่างมีปลาวัวลายส้ม(Orange Triggerfish)ว่ายอยู่ด้านบนดอกไม้ทะเลครับ ตอนนี้อากาศของผมก็เริ่มใกล้หมดแล้วด้วย(จะเหมือนไดฟ์ที่แล้วหรือเปล่านะ เจอของดีตอนปลายไดฟ์)

พูดไม่ทันขาดคำครับ นักดำน้ำในชุดสีเหลือง ถือกล้องวีดีโอโซนี่(เป็นพี่บิ๊กครับ) เรียกให้ผมลงมาถ่ายรูปสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง(จริงๆ แกจะไม่เรียกก็ไม่ผิดนะครับ แต่แกมีน้ำใจมากจริงๆ)

เหมือนไดฟ์ที่แล้วจริงๆครับ ผมลงไปถ่ายแค่ช๊อตเดียวแล้วรีบขึ้นมา เห็นว่าเป็นปลาไหล์มอเรย์สองตัว ซึ่งสีแปลกมาก ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยครับ

ดูแล้วปลาไหลมอเรย์แน่ๆครับ แต่จะเป็นชนิดไหน ตอนแรกคุยกับพี่ป้อมและพี่บิ๊กว่า น่าจะเป็นลูกของ Honeycomb Moray แต่จากการกลับมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ ดูในเว็บไซด์แล้ว นี่คือ ลูกของ Barred Moray ครับ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Echidna polyzona(ยังไม่ใช่ขนาดโตเต็มวัย)

ชื่อไทยผมยังไม่รู้จะเรียกว่าอะไรเลยครับ ข้อมูลในหนังสือไทยที่มีอยู่ที่บ้านก็ยังไม่คลอบคลุม ไม่ได้กล่าวถึงซะด้วย แต่ที่แน่ๆ พบใน Lembeh ประเทศอินโดนีเซีย(ก็ถือว่าอยู่ในทะเลแถบเดียวกันครับ อินโด แปซิฟิค จึงสามารถพบในบ้านเราได้)

ถามว่าในเมืองไทยหาง่ายไหม ผมว่าไม่ง่ายครับ(แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี ทะเลนั้นกว้างใหญ่ อาจมีตัวแปลกๆอีกเยอะ ที่เรายังไม่รู้) ถ้าเจอบ่อยๆ ได้ผ่านตานักวิจัย คงมีลงหนังสือไปแล้ว ข้อมูลของ Barred Morayน้อยกว่าปลาไหลมอเรย์ชนิดอื่นๆ แสดงว่าไม่ค่อยมีรายงานการพบเห็นเท่าไร

เท่าที่ผมเคยดูในรูปจากหลายๆเว็บ วัยเด็กของปลาชนิดต่างๆอีกมาก(รวมทั้งชนิดนี้) ที่ยังรอคอยให้เราตามไปค้นหาครับ(ดูปลาตัวแม่ว่าแน่ ดูตัวลูกได้ ยิ่งแน่กว่านะนาย 555 )

ดวงตาแป๋วแหว๋วแบบนี้(ขนาดพี่ตาลยังบอกว่าน่ารักเลยครับ) ผมก็ว่าพวกเขาดูน่ารักจริงๆนะ หวังว่ากลับไปคราวหน้าพวกเขาจะโตเต็มวัย รอให้ผมไปยลโฉมอีก(แต่ไม่น่ารักเหมือนลูกๆแน่ครับ 555)

ก่อนขึ้น(อากาศจะหมดแล้วจ้า)ก็ยังมีอารมณ์ถ่ายปะการังอ่อนต่อครับ แต่เข้าใจว่า เริ่มตื้น เริ่มมีแสงแดดส่องถึง บวกกับแฟลช เลยทำให้เห็นเป็นสีแดง

แฮ่ๆ จริงๆมีเชือกอยู่น่ะครับ(เลยใจเย็นได้) ผมทำสัญญานบอกพี่สมนึกว่า ขอขึ้นก่อนนะพี่ ไต่เชือกขึ้นไป ทำSafety Stop ถ่ายรูปลงมา ติดนัทกับพี่แดงก็กำลังทำ Safety Stop อยู่ด้วยครับ

ส่วนปลาอื่นๆไดฟ์นี้เท่าที่จำได้ ก็มี ปลาสลิดหินสามจุด(Three-spot Dascyllus) ปลาการ์ตูนอินเดียน(Skunk Anemonefish) ปลาผีเสื้อคอขาว(Collared Butterflyfish) ปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish)และปลากระพงลายพาด(Checkered Snapper)

ขึ้นมาบนผิวน้ำ คลื่นไส้เล็กน้อยครับ เห็นเรือ Speed Boat ของ Lanta Fun Diver มีฝรั่งเต็มเรือเลยครับ ท้ายเรือมีสาวนุ่งบิกินี่ อาบแดดด้วยล่ะ555(เลยถ่ายรูปเธอ เอ้ย ถ่ายรูปเรือไว้ครับ)

กลับมาที่เรือของเราครับ อาหารกลางวัน มีบะหมี่เกี้ยวหมูแดง(เกี้ยวอร่อย) ของหวานเหมือนฟรุ๊ดสลัดผลไม้บวกเม็ดมะม่วงหิมพานต์(เรียกไม่ถูกครับ แต่อร่อยดี)

หามุมนอนบ้างครับ(เริ่มง่วง) ประมาณชั่วโมงกว่าๆหลังจากนั้น ก็ต้องลงดำน้ำต่อแล้วครับ จุดต่อไป คือ หินแดง เป็นจุดดำน้ำอีกจุดหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก

หินแดง เป็นหินที่โผล่พ้นน้ำ จนเห็นปะการังอ่อนเป็นสีแดง ครูตุ๋ม Brief ให้ฟังว่า ตรงจุดนี้นอกจากปะการังอ่อนก็จะมี Long -Nose Hawkfish และ Ghost Pipefish ให้ดูอีกด้วย

ก่อนลงผมเข้าไปหยิบถุงเท้าในห้องมาใส่ ไม่ไหวแล้วครับ ฟินกัดเท้าเป็นแผลแบบนี้ เดี๋ยวจะยิ่งไม่สนุก ว่าแล้ว ลงไปสำรวจหินแดงกันเลยครับ



Dive3 มหัศจรรย์หินแดง!!!

ลงมาด้านล่างได้ไม่นาน เป็นไปอย่างที่ครูตุ๋มบอกไว้จริงๆครับ พี่สมนึกชี้ให้ดูบริเวณดาวขนนก นี่คือ สุดยอดปลาที่นักดำน้ำชื่นชอบครับ Harlequin Ghost Pipefish หรือปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจนั่นเอง ตัวนี้มีสีแดงครับ

ผมรอจังหวะ เพื่อเข้าไปถ่ายรูป กดประมาณสี่แชะครับ เพราะเราต้องเห็นใจคนอื่นที่มาต่อคิวเราด้วย คนอยากถ่ายอยากดูก็มี ถ่ายเสร็จผมก็หลบฉากออกมาเลย

บางคนก็เรียกว่า ปลาจิ้มฟันจระเข้ขนยาว(Ornate ghost pipefish) ก็คือตัวเดียวกันครับ มีชื่อเรียกได้หลายชื่อดังเช่นปลาชนิดอื่นๆ Ghost Pipefish ที่ผมเห็นลำตัวมีสีแดง พรางตัวได้ดีทีเดียว เป็นครั้งแรกที่ผมถ่ายรูปได้ หลังจากที่เคยเห็นครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กลางน้ำมองออกไป มีปลาสากหางเหลือง(Yellow-tail Baracuda) อยู่หลายตัวครับ นักล่าอย่างเขามักจะมีระเบียบในการล่าดีแบบนี้แหละ

กลับมามองที่แนวปะการังดีกว่า ปลากะรังแดงจุดน้ำเงิน(Coral Rockcod) อีกหนึ่งนักล่าในแนวปะการัง ขอถ่ายรูปซะหน่อยเถอะ(เก่งแค่ไหนก็แพ้มนุษย์ครับ 555)
คิดถึงจริงๆครับ บอกตามตรง ผมไม่ค่อยได้เห็นปลาขี้ตังเบ็ดน้ำเงินฟ้าเท่าไร(Powder-Blue Surgeonfish) ไม่รู้หายไปไหนกันหมด ส่วนอีกตัว คือ ดอรี่ ในเรื่อง Finding Nemo(ปลาขี้ตังเบ็ดน้ำเงิน Blue-Lined Surgeonfish) ตัวนั้นยิ่งแย่ใหญ่ ถ้าจำไม่ผิด ไม่เคยเห็นเลยครับ

ถึงผมจะเห็น ขี้ตังเบ็ดฟ้า แต่ก็แค่ตัวเดียว ยังจำภาพสี่ถึงห้าปีที่แล้ว บริเวณปะการังเขากวาง ที่ร่องตอรินลา หมู่เกาะสุรินทร์ได้เลยครับ ขี้ตังเบ็ดฟ้าเยอะมากๆ(ไม่มีภาพแบบนั้น ในเมืองไทยอีกแล้ว)

แว่บๆ นั่น คือ ลูกปลาสินสมุทรจักรพรรดิครับ ผมไม่ได้ถ่ายเพราะถ่ายไม่ทัน ดูเฉยๆดีกว่า

มีปลาตั๊กแตนหินสองสี(Bicolor Blenny) นอนอยู่บนก้อนหินครับ แต่ถ่ายยากมากๆ พอขยับเข้าไปปุ๊บ ก็หนีทันทีเลย

ส่วนตัวอ้วนๆ ป้อมๆ ถ่ายรูปไม่ยาก ด้านหน้าผม คือ ปลาปักเป้าหน้าหมา Blackspotted Puffer) อาจเป็นเพราะเขาว่ายน้ำช้าๆด้วยล่ะครับ 555

ระหว่างหาสัตว์ทะเลถ่าย ผมจับที่ก้อนหินครับ ถัดจากมือผมไม่กี่ ซม คือ ลูกปลาแมงป่องเกล็ดเล็ก(Tassled Scorpionfish) ครับ(โอย เกือบไปแล้ว) พรางตัวได้เยี่ยมยอด ขนาดผมถ่ายรูป ยังต้องดูหลายๆทีเลยครับ ว่าตรงไหนคือตัวปลากันแน่ แต่ดูหน้าตาไม่โหดเหมือนตอนโตเลยนะ 555

นอกจากดอกไม้ทะเลที่มากมายแล้ว สีสันของปะการังอ่อนสีแดง อันเป็นที่มาของชื่อหินแดง ทำเอาตัวผมเพลิดเพลินมากๆ ทำไมมันสวยอย่างงี้วะ

เห็นปะการังลูกโป่งใหญ่(Rounded Bubble Coral) ดูแล้ว อยากจะเด็ดมาเคี้ยวจริงๆ(เหมือนผลองุ่นสีขาวน่ะครับ)

ผมเจอทากปุ่มชนิดหนึ่ง เลยถ่ายรูปออกมา นี่คือ ทากปุ่มที่ชื่อว่า Phyllidiella pustulosa เห็นได้ชัดเลยครับว่าการเปิดแฟลชกับไม่เปิด แตกต่างกัน ทำให้สีผิดเพี๊ยนออกไป

เจ้านี้ก็ว่ายน้ำไม่เร็วไปกว่าปลาปักเป้าตัวเมื่อครู่ครับ ปลาปักเป้าหนามทุเรียน(Black Blotched Porcupinefish) มีหนามเล็กๆยื่นออกมาด้วยล่ะ(แสดงว่า เริ่มอารมณ์เสียหรือตกใจนิดๆก็ได้มั้ง แต่คงไม่ใช่ผมทำนะ เพราะตั้งแต่เห็นก็มีหนามแล้ว)

มีฟองน้ำสีขาวกับปะการังอ่อนสีชมพู(น่าจะเป็นอีกสกุลหนึ่ง) ผมไม่พลาดที่จะถ่ายรูปออกมาเช่นกัน

มีหนอนพู่ฉัตรครับ(Christmas tree worm) ผมรีบถ่ายก่อนที่มันจะหุบลงไป อันนี้มีสีน้ำเงิน

ด้านหน้าโพรงที่มีเม่นทะเลอาศัยอยู่ มีกุ้งนักมวยหรือกุ้งพยาบาลก้ามขาวด้วยครับ(Boxer Shrimp) กำลังตีลังกาติดผนังถ้ำแบบสไปเดอร์แมน ดูแล้วก็สวยดีครับ

พี่สมนึกชี้ให้ดูแมงกระพรุนที่กลางน้ำ(Jellyfish) ใกล้ๆเห็นปลาวัวหางพัด(Scrawled Leatherjacket) ด้วย น่าแปลกว่า เหมือนภาพเดิมเข้ามาในหัวผม ที่สิมิลัน ครูปรีชาเคยถ่ายสองตัวนี้อยู่ด้วยกันนี่นา ขอถ่ายบ้างแล้วกัน (จริงๆ แมงกระพรุนกำลังถูกเจ้าหางพัดและปลาสลิดทะเลแถบกินเป็นอาหารน่ะครับ ดูก็รู้)

มีรูปหนึ่งพี่สมนึกใช้ฝ่ามือแตะที่หัวของแมงกระพรุน เหมือนหนังกำลังภายในเลย(ถ้าโดนหนวดล่ะก็ แย่แน่ๆครับ)

ส่วนปลาชนิดอื่นๆ ก็มี ปลาผีเสื้อคอขาว(Collared Butterflyfish) ปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish)และปลาไหลมอเรย์ยักษ์(Giant Moray)

ขึ้นมา มีของว่างให้ทานด้วย พายสัปปะรด ฝีมือครูจุ๋ม อร่อยจริงๆ(กลับไปบ้านคราวนี้ น้ำหนักขึ้นแน่ๆ 555) ทานเสร็จก็ตามด้วยเยลลี่แช่เย็นครับ

“เรียกพี่ป้อมซิครับ ไม่ใช่ลุงนะ ถ้าเรียกเดี๋ยวไปเอาโดโซะให้” เสียงพี่ป้อมคุยกับน้องมายด์

“……………..” น้องมายด์กินโดโซะแล้วก็สั่นหน้า จะเรียกพี่ป้อมว่าลุง ท่าเดียวครับ

“แล้วพี่ภพ เรียกว่าพี่ภพหรือลุงภพ ค่ะ น้องมายด์” พี่แดงถาม

“……………..” พยักหน้าบอกว่าเรียกพี่(โอ้ เด็กฉลาดชาติเจริญ)

ผมคุยกับพี่แดงและพี่ตา หลายๆเรื่อง หนึ่งในนั้นบอกว่าไม่เคยเห็นเด็กๆขึ้นเรือแบบ Non-Dive มากขนาดนี้มาก่อน(เพราะเด็กขึ้นเรือ พ่อแม่ก็ต้องจ่ายตังค์นา) พี่ตาบอกว่า ตอนปีก่อน เด็กๆแทบจะยึดเรือเลยล่ะครับ ดูแล้ว เด็กๆเหล่านี้โชคดีครับ อายุไม่เท่าไรแต่ก็ได้เดินทางไปหลายสถานที่ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนยังไม่มีโอกาสเลย

เรือสคูบ้าเน็ตแล่นมาถึงเกาะรอกนอกครับ ผมไม่เคยมาที่เกาะรอกมาก่อนเลย เคยเห็นแต่ในรูป ในหนังสือว่า ปะการังน้ำตื้นสวยงาม มีน้ำตกไหลลงมาจากภูเขาด้วย แต่เข้าใจว่าอยู่อีกด้านหนึ่งครับ

มองเห็นเรือประมงจอดหลบลมอยู่ บ้างก็ว่าเป็นเรืออวนลาก มิน่า สัตว์ทะเลในเมืองไทยถึงค่อยๆน้อยลง น้อยลง

ไม่เชิงเป็น Night Dive ครับ เรียกว่าโพล้เพล้ไดฟ์ น่าจะดูดีว่า เพราะพึ่งจะเกือบหกโมง แถมยังมีแสงสว่างให้เห็น

ผมรีบไปเตรียมไฟฉาย(เปิดแล้วไฟไม่ติดซะงั้น) เลยลองเปลี่ยนถ่านแล้วประกอบใหม่ก็พอได้ครับ บางทีต้องเขย่าๆดู

ครูตุ๋ม Brief ให้ฟัง พร้อมบอกให้นำไฟฉายติดตัวลงไปด้วยครับ หากออกไปที่ลึกตามพื้นทราย จะมีโอกาสได้เห็นทากแปลกๆหลายชนิดอีกด้วย ส่วนด้านในก็จะเป็นพวกปะการังแข็ง



Dive4 เทอร์โมคลายกับทากทะเลตัวจิ๋ว แปลกประหลาดมากๆ!!!

ลงไปค่อนข้างลึกครับ เจอกระแสน้ำเย็นอย่างเทอร์โมคลาย บรรยากาศเป็นวุ้นๆแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้หนาวมากขึ้น รอบๆ มีแต่ทราย นี่มาดำเกาะสากที่พัทยาหรือเปล่าเนี่ย

อ้าว ถ้าเป็นเกาะสาก ก็ต้องมีอะไรดีๆตามพื้นทรายซิ คิดในแง่ดีก็แล้วกัน

วาจาสิทธิ์ครับ เริ่มที่ทากเปลือยอานม้าสามชั้น(Ceratosoma trilobatum) ผมไม่เคยเห็นมาก่อนครับ ลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอ่อน มีจุดสีเหลืองกระจายรอบตัว มีเส้นสีม่วงรอบลำตัว ส่วนท้ายของลำตัวยกขึ้นมา เท้าส่วนท้ายยืดออกมาเหมือนมีหาง(แปลกดีแฮะ)

ต่อไปก็มีสิ่งคล้ายดอกไม้ทะเล รูปร่างประหลาด ก็ลองถ่ายมาดูครับ

ทีเด็ดสุดๆอยู่ที่ตรงนี้ครับ ไม่พี่สมนึกก็พี่แดงล่ะครับที่เป็นคนหาเจอ ทากชนิดนี้ตัวเล็กมาก(1-2ซม) ขนาดผมถ่ายรูปยังมองไม่เห็นตัวทากเลยครับ เห็นชัดๆแค่สิ่งที่เหมือนกับพืชใต้น้ำที่ทากเกาะอยู่ ต้องมาดูในกล้องที่ถ่ายมา(สงสัยคราวหน้าต้องพึ่งแว่นขยายแล้ว)

ดูคล้ายทากเปลือยปิกาจูมากๆครับ แต่มีสิ่งแตกต่างกันอยู่ เช่นสีที่ลำตัวไม่เหมือน รูปร่างไม่เหมือน ไม่มีจุดสีส้มสลับกับจุดสีดำ(มีแต่จุดดำอย่างเดียว) ก็ตรงกับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนูดี้ อย่างพี่หมอตุ๋งครับ ที่พบเจอทากมาแล้วหลายสายพันธุ์ แต่กับตัวนี้ แกยอมรับว่าแปลกมาก ไม่ใช่ทากเปลือยปิกาจูอย่างแน่นอน

ถ้าผมไม่มีกล้อง ผมว่าไม่คุ้มครับ ดูด้วยตาก็มองไม่เห็นเพราะตัวเล็กมาก นับว่าโชคดีจริงๆเลยล่ะ ที่ได้เจอ

เริ่มกลับเข้ามาในที่ตื้นครับ ผมถ่ายรูป ปลิงขูด(Bohaddschia graffei) ปลาปากขลุ่ย(Smooth Flutemouth) ดาวขนนก(Feather Star) ที่ดูพลิ้วไหวมากกว่าในเวลากลางวัน

ปิดท้ายด้วยปลาสิงโตครีบจุด(Spotfin Lionfish) และหอยมือเสือ(Giant Clam) ขนาดใหญ่

ก่อนขึ้นมีปลาปักเป้ายักษ์(Star Puffer) ว่ายผ่านไปด้านล่าง ช่วงทำ Safety Stop อีกด้วย

อาบน้ำเรียบร้อย อาหารเย็นมี หอยลายผัดน้ำพริกเผา ดอกกระหล่ำผัดผัก แกงเขียวหวานไก่ ผมรู้สึกว่าเจ็บคอมากๆ เวลากลืนน้ำลาย เท่าที่สอบถามพี่ๆน่าจะเกี่ยวกับคอแห้ง เวลาลงไปใต้ทะเล(ถ้าดูในคอ น่าจะแดงแน่ๆครับ) พี่ตาลบอกให้ผมดื่มน้ำอุ่น พี่ตุ้มแนะนำให้ดื่มน้ำมะนาวด้วย น่าจะช่วยได้ดีขึ้น

พี่ป้อมใจดีมากๆครับ แม้จะพึ่งรู้จักกัน แต่แกหยิบยาอมสเต๊ปซิลมาให้ผมหนึ่งแผง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอและบอกอีกว่า ถ้าหมดแล้วให้มาเอาใหม่

ผมถามพี่ป้อม บอกว่า พอถอดกล้องออกจาก Housing มีหยดน้ำติดที่ตัวกล้องสองหยด จะถือว่าน้ำเข้าหรือไม่ พี่ป้อมบอกไม่เป็นไรครับ ไม่ได้ถือว่าน้ำเข้า

ได้คุยกับนัท นัทมาคนเดียวก็จริงแต่เป็นลูกศิษย์ในมนุษย์กบไทยอยู่แล้ว นี่เป็นครั้งแรกกับทริปยาวๆเช่นนี้ครับ

มาดูรูปในกล้องที่ถ่ายมา บางรูปผมชอบตั้งแต่แรกเห็น(แต่ต้องมาดูในคอมครับ บางทีอาจเบลอก็ได้) เอาเป็นว่า สีสันอันดามันใต้สุดยอดจริงๆ

พรุ่งนี้พี่ตาลมีสอบ Advance กับครูตุ๋มครับ ขยันขันแข็ง อ่านหนังสือใหญ่เลยล่ะ

เรือกำลังแล่นแถมมีคลื่น หลายคนไปนอนกันแล้ว ผมสงสัยว่า ไม่ Countdown กันหรืออย่างไร ด้วยความไม่สะดวกเห็นว่าจะฉลองในคืนวันรุ่งขึ้นแทน

เดินเข้าไปดูในห้อง เห็นมีคนเปิดหนัง เจมส์ บอนด์ ภาคใหม่ แต่คนดูอย่างพี่อำนาจและคนอื่นๆ หลับกันไปแล้วครับ ในห้องนี้หนาวด้วย อยู่ไม่นาน ไปดีกว่า

ในขณะที่เรือโคลงเคลง ผมเห็นหยกและสมาชิกบนเรืออีกหลายคน ช่วยกันเก็บเก้าอี้เข้าที่ เก็บจาน แก้วใส่ในกะละมัง ผมเลยอยู่เฉยไม่ได้ ต้องช่วยด้วย รู้สึกชื่นชมทุกคนครับ(ไปบางลำ Diver ไม่ช่วยทำตรงนี้เลยนะครับ เขาถือว่าไม่ใช่ธุระ ซึ่งถ้าจะให้พูดมันก็ถูก แต่ถ้าช่วยเก็บ อะไรจะน่าดู น่าชมกว่ากันล่ะครับ)

ผมเจ็บคอมากๆ พักผ่อนดีกว่า พรุ่งนี้อาการจะได้ดีขึ้นครับ



1 มกราคม 2552

เหมือนเดิมครับ ก่อนที่จะรับประทานอะไร ผมก็จะนำกล้องมาประกอบเข้ากับ Housing และทาซิลิโคนที่ยางโอ-ริงก่อน และนำไปแช่น้ำว่าใช้ได้

ตอนเช้าๆ เต็มที่ ผมทานขนมปังทาแยมแค่แผ่นเดียวเท่านั้น แยมก็ดีครับ ใช้เปิดขวดแล้วบีบเอาเลย ไม่ต้องใช้ช้อนทาให้เสียเวลา

ทุกคนกำลังนั่งฟังครูตุ๋ม Brief อย่างตั้งใจ ผมโชคดี มาคราวนี้ ทางบริษัท มนุษย์กบไทยให้ความสำคัญเรื่องการ Brief มากๆ(บางลำไปแล้ว ไม่มี Brief เลยครับ) ส่วนตัวผมอยากฟังอยู่แล้วครับ ว่าแต่ละไดฟ์ ไซด์ เป็นอย่างไรบ้าง จะมีโอกาสพบอะไรได้บ้าง ใครไม่อยากฟังก็ไม่ต้องมาฟังซิ คนอยากฟังก็มีนะครับ

เราจะลงกันที่หินแปดไมล์หรือกองหินสคูบ้าเน็ต ครูตุ๋มบอกว่า ครูจุ๋มเป็นคนมาบุกเบิกที่นี่ จากคำบอกเล่าของชาวประมง ว่าที่นี่มีกองหินใต้น้ำ และมีฝูงปลากลางน้ำเยอะมากๆ เคยมีการพบ Manta Ray และ Devil Ray ด้วยล่ะครับ

1 Comments:

At 10:40 PM, February 02, 2009, Anonymous Anonymous said...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

 

Post a Comment

<< Home