Tuesday, October 28, 2008

ปิดฤดูกาลอ่าวไทยที่…ร้านเป็ด ร้านไก่(4)







Dive 4 หอยเบี้ยกับแมนเติลที่ห่อหุ้มเปลือกนอก!!!!

การดำน้ำในเวลากลางคืน ต้องถือไฟฉายเพิ่มเข้ามาอีกอย่างครับ ใครจัดระเบียบสังคม เอ้ย จัดระเบียบร่างกายว่าจะถืออะไร ข้างไหนไม่ดีแล้ว อาจจะไม่ถนัดก็ได้


เช่นกันครับ แม้จะดำน้ำค่อนข้างสบายก็จริง แต่ในมือผมยังไม่ค่อยถนัดเท่าไรนัก ต้องเปลี่ยนข้างให้ถนัดที่สุด เช่น ในไดฟ์นี้ไฟฉายผมจะใช้มือขวา pointer ผมจะถือมือซ้าย แล้วถ้ามีกล้องถ่ายรูปล่ะ(เอ่อ เดี๋ยวค่อยบอกครับ บอกแล้วก็ไม่ตื่นเต้นซิ 5555)


ผมตามติดพี่พิช สายตาคอยชำเลืองดูพี่โหน่งเป็นระยะ หากหายไปซักหนึ่งคน การดำน้ำก็คงไม่สนุกแน่ๆครับ การดำน้ำที่ดี ไม่ใช่การถ่ายรูปที่สวยอย่างเดียว ไม่ใช่การบรรยายเรื่องราวใต้น้ำที่สนุกอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก เช่น การดูแลเพื่อนนักดำน้ำในกลุ่มไม่ให้หลงแม้เราจะไม่ใช่ Divemaster ก็ตาม(แต่ต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อนนะครับ ก่อนที่จะไปดูแลคนอื่น 55)


ยังแค่ช่วงหัวค่ำ ปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish) ก็เลยยังไม่นอนหลับ ว่ายโฉบไปมา คงมาสังเกตดูผู้มาเยือนในยามค่ำคืน ที่เกาะง่ามน้อยแห่งนี้ครับ


“แก๊งๆๆ” เสียงพี่พิชเคาะ Pointer ด้านหน้า คือ ปลากระเบนทอง(Blue-spotted ribbontail ray) หนึ่งในกระเบนบนพื้นทราย ภาษานักดำน้ำก็เรียกว่า Blue-spotted เหมือนกันแต่ถ้าจะให้เจ๋ง ต้องแยกให้ถูกนะครับ ว่าต่างกับตัวที่เห็นบ่อยๆที่อันดามันอย่างไร(ผมเคยอธิบายแล้วครับ ต้องไปค้นคว้านะ ใบ้ให้ อีกตัวชื่อว่า Blue-spotted stingray ) พอถูกแสงไฟฉายส่อง พี่กระเบนทอง ขี้ตกใจครับ ว่ายหนีเข้าไปในถ้ำเลยล่ะ


ว่ายต่อไป ข้างๆที่เป็นแง่หิน ผมเห็นตัวจิ๋วสองตัวครับ เริ่มจาก จิ๋วเล็กอย่าง หนอนตัวแบน(Flat Worm) มีสีขาว ขนาดประมาณเหรียญสิบ อีกตัว คือ ทากปุ่ม ที่ชื่อว่า Phyllidia varicose ขนาดประมาณเหรียญสิบต่อกันสองเหรียญ


มีปูอยู่ในซอกหินครับ เห็นตาแดงๆชัดเลยล่ะ เมื่อขยับตัวก็ยิ่งเห็นชัดใหญ่ แต่สุดปัญญาว่าเป็นปูชนิดไหนครับเพราะรายละเอียดน้อยเหลือเกิน


พี่พิชชี้ให้ดูสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งบนพื้นทราย มีขนรอบตัว(ลักษณะเหมือนหนวดของดอกไม้ทะเล) ผมเดาว่าหอยครับ จากการกลับมาค้นคว้า เขาอยู่ในวงศ์หอยเบี้ยครับ(Cowries) ครอบครัว Cypraeidae ดูแล้วแปลกตาครับ ส่วนที่ห่อหุ้มด้านนอกเปลือก เราเรียกว่า แมนเติล(Mantle) อ่านดีๆ ไม่ใช่แมนต้านะครับ 55


แล้วแมนเติล คืออะไร แมนเติล คือ เนื้อของหอยครับ ใช้คลุมอวัยวะภายในและห่อหุ้มร่างกาย อย่างพวกนูดี้ก็เป็นหนึ่งในหอยไร้เปลือกแต่เอาแมนเติลมาห่อหุ้มร่างกายครับ


ส่วนหอยเบี้ยที่เห็นนี้ พี่แกใช้แมนเติลจากด้านใน มาห่อหุ้มเปลือกอีกทีครับ ประโยชน์มีหลายแบบเช่น การพรางตัวจากศัตรู เป็นต้น


หากนึกต่อไป ใครเคยเห็นหอยเบี้ยไข่บ้างครับ นั่นก็มีแมนเติลห่อหุ้มร่างกาย พอตอนที่เห็นเปลือกด้านในจริงๆ ทำเอาผมงงอยู่นาน ว่าหอยอะไร


เอ วังก็ประการละฉะนี้ แต่สนุกดีนะครับ ลงน้ำคราวหน้า เราไปหาแมนเติลกันนะ 555

ขึ้นมาด้านบน พี่พิชจับเวลาได้ตรงเป๊ะ(แกบอกก่อนลงว่าดำ สามสิบนาทีครับ ขึ้นมาดูไดฟ์คอม ก็สามสิบนาทีจริงๆ) ว่าแล้วเราไปอาบน้ำแล้วกินข้าวเย็นกันดีกว่า จะซัดให้หายเฮี้ยนเลย

มีกุ้งเผา แกงจืดหมูสับ ทะเลผัดผงกระหรี่ แต่ที่ถูกใจผมที่สุด คือ ใบเหลียงผัดไข่ อาหารที่ผมชื่นชอบเป็นอย่างมาก มาชุมพรคาบาน่า ผมไม่เคยพลาดที่จะสั่งครับ บนเรือ Cabana MV-1 ก็ต้องมีเช่นกัน(ขนาดนั่งรถแวะปั้มที่ชุมพร ในปั้มมีร้านข้าวแกง หากมีใบเหลียงผัดไข่ล่ะก็ เสร็จผมแน่ๆ)


ทุกคนยังพูดถึงเรื่องไดฟ์ที่สามของวันนี้อยู่ตลอดครับ นี่คือ ไฮไลท์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ จากนั้นก็นั่งคุยกัน ก่อนที่จะไปเล่นไพ่สลาฟเพื่อความสนุกสนาน อากาศเริ่มร้อนเลยย้ายไปเล่นที่ห้องแอร์ ดื่มเบียร์เล็กน้อย ไม่มาก กลัวดื่มเยอะไปไดฟ์เช้าจะไม่สนุก(ยังไม่เก๋าเกมพอน่ะครับ 55) ไวน์ของพี่ป๊อคกี้ก็เลยเหลือเลยน่ะ(คราวหน้าถ้าเป็นวันสุดท้ายแล้วไดฟ์เช้าไม่มีดำน้ำจะดื่มเป็นเพื่อนครับพี่ ขออภัยด้วย 55)



12 ตุลาคม 2551

หันไปมองรอบๆ ตื่นกันหมดแล้วกัน เหลือแค่พี่วิลลี่คนเดียว ผมรีบตื่นดีกว่านะ ยิ่งทำอะไรชักช้าอยู่ด้วย ขึ้นมากินอาหารรองท้องเล็กน้อย เช้านี้เราจะลงดำน้ำกันที่หินแพครับ


ตอนแรกอาจจะต้องลงกับกลุ่มอื่น ครับ เพราะDive leader ผม เมื่อคืนอาจดื่มหนักไปหน่อย แต่ด้วยสปิริต ในที่สุดแกก็ออกมาทำหน้าที่ครับ


พร้อมแล้ว ลุยกันต่อครับ



Dive 5 กุลสลาดนักล่า!!!

น้ำไม่ค่อยใสอย่างที่คาดไว้ครับ(ก่อนมาคาดว่าจะใสมากๆ) ที่นี่มีฝูงปลากลางน้ำอย่างปลามงด้วย ที่ผมจำได้ดี คือ ปลามงครีบฟ้า(Bluefin Trevally) ลักษณะเด่น คือ ครีบทุกครีบยกเว้นครีบหูมีสีฟ้า มองดูจะเห็นเลยล่ะครับ และมักจะพบในจำนวนที่ไม่มาก เช่น 2-4 ตัว


ปลามงจัดได้ว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ และเป็นนักล่าตัวยงด้วย(แต่ก็ไม่รอดจากมือมนุษย์ไปหรอก) นักดำน้ำแบบดำผิวน้ำ จะไม่มีโอกาสเห็นปลามงครีบฟ้าที่โตเต็มวัย ขณะว่ายอยู่ใต้น้ำเลยเพราะพวกเขาอยู่ในที่ลึกมากกว่าที่จะมองเห็นจากผิวน้ำได้ครับ(ว่าแล้วมาเรียนดำน้ำกันเถอะ)


ส่วนอีกชนิดที่ผมเคยกล่าวมาแล้วในทริปเกาะเต่าเมื่อปีก่อน คือ ปลามงตาโต(Bigeye Treavally) จะเห็นได้จำนวนมากกว่า เหมือนกำแพงสีเงิน ที่ใครเห็นก็ต้องตื่นตาตื่นใจครับ(ไดฟ์นี้ไม่ได้เห็นชัดมากน่ะครับ ตัวแรกจะเห็นชัดกว่า)

ดำต่อไปเรื่อยๆ พี่โหน่งชี้ให้ดูปลาด้านล่างครับ มองแล้วโป๊ะเช๊ะเลย นี่คือ ปลากุดสลาดจุดฟ้า(Squaretail Coralgrouper) หนึ่งในนักล่าอีกเช่นกัน ตัวนี้ ลอยตัวนิ่งๆ เหนือพื้นทรายเล็กน้อย คาดว่าอาจจะรอจับเหยื่ออยู่ ภาษาง่ายๆ ก็เรียกว่าปลาเก๋าชนิดหนึ่งครับ


เรามักจะเห็นปลากุลสลาดอยู่ในอวอเรี่ยม หรือมักจะติดลอบอยู่บ่อยๆ อาจเป็นเพราะสัญชาติญาณนักล่าที่อยู่ในตัว พอเห็นปลาเหยื่อก็ต้องฮุบ(ก็เรียบร้อยโรงเรียนไทย)


แต่ขึ้นชื่อว่านักล่า ก็มีฟันแหลมคม ฉะนั้นอย่าดูถูกปลานะ จะถ่ายรูปก็ถ่ายไป แต่อย่าไปรุกรานเขา(คุณอาจจะถูกปลากุดสลาดกัดเป็นรายแรกของโลกก็ได้ 555)


นอกนั้นในไดฟ์นี้ก็มี ทากปุ่ม ที่ชื่อว่า Phyllidia varicose ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish) ปลาสลิดหินคอดำ(Indian Dascyllus) ปลาสลิดหินสามจุด(Three-spot Dascyllus) ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร(Weibel ’ s Butterflyfish)และปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish) ครับ

ขึ้นมารับประทานอาหารเช้า ผมเจอพี่บุญชัยที่ไม่ได้ลงในไดฟ์แรก สอบถามดู แกบอกว่า เดือนก่อนก็มาที่นี่ จำได้ว่าจุดนี้ไม่ค่อยเห็นอะไรมากนัก ก็เลยรอลงจุดต่อไปดีกว่า เรื่องความใสของน้ำทะเลและการเห็นสัตว์ทะเลนั้น เป็นเรื่องนานาจิตตังครับ บางคนว่าไม่เห็น บางคนว่าเห็น บางคนว่าไม่มีอะไร บางคนว่ามีอะไร ลองศึกษาสัตว์ทะเลให้รู้จักทุกชนิดซิครับ ทั้งวัยเด็ก วัยโต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนพฤติกรรม อาจจะทำให้การดำน้ำสนุกมากกว่าเดิมนะ 555


แต่ละคนเริ่มหาที่นอน พักผ่อน บ้างก็ฟังเพลง บ้างก็นั่งคุย จุดต่อไปเราจะลงดำน้ำกันที่หินหลักง่ามครับ


Dive 6 ในเม่นทะเลมีปลาอกดูด!!!

ในบางจุดน้ำก็ใสดี ในขณะที่บางจุดน้ำก็ขุ่น ในขณะลัดเลาะไปที่ริมผา ผมสังเกตเห็นปลาชนิดหนึ่งมีขนาดเล็ก ปากเรียวแหลม ลำตัวมีสีแดงสลับขาว อาศัยอยู่ในเม่นทะเล ชื่อของเขา คือ ปลาอกดูดเม่นทะเล(Urchin Clingfish) ครับ


ที่ชื่อแบบนี้เพราะครีบท้องของเขามีลักษณะเหมือนถ้วยดูดติดกับสิ่งมีชีวิตอื่น การอาศัยในเม่นทะเลนั้น ถือเป็นการได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว กล่าวคือ ปลาอกดูดใช้เม่นทะเลเพื่อป้องกันตัว แต่กินแพลงตอนขนาดเล็กที่ล่องลอยมาตามกระแสน้ำ


ถ้าเปรียบได้ก็คือ คนที่ช่วยเหลือผู้อื่น(โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนแอกว่า) โดยตนเองไม่หวังสิ่งตอบแทนครับ


ต่อมาผมพบทากทะเลชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Phyllidia ocellate ตัวนี้มีปุ่มสีเหลือง ส่วนอื่นๆจะมีสีดำครับ มาคราวนี้ ผมเจอแต่ทากปุ่ม ทากชนิดอื่นๆไม่เห็นเลยน่ะ(พี่หมอหมูเห็นครับ ถ่ายรูปมาด้วย แต่ผมไม่เห็นน่ะ 55)


ตามก้อนหิน หากสังเกตดีๆ จะมีสิ่งมีชีวิตรูปร่างยาว มีสีขาวคล้ายหนอน เชื่อว่าหลายคนก็เคยเห็นครับ ซึ่งก็คือ หนอนทะเล(Worms)นั่นเอง


มีฝูงปลาข้างเหลืองมากจริงๆ นอกนั้นเท่าที่จำได้ก็มี ทากปุ่ม ที่ชื่อว่า Phyllidia varicose ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish) ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร(Weibel ’ s Butterflyfish) ปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish และปลาข้าวเม่าน้ำลึก(Soldierfish) ครับ

ขึ้นมารับประทานอาหารเที่ยง เสร็จแล้ว ผมถ่ายรูป Staff บนเรือทุกคน(เท่าที่เจอ) เก็บไว้ เพราะส่วนหนึ่งของความสะดวกสบาย เกิดจากการทำงานของ Staff เหล่านี้ครับ


ไดฟ์ต่อไปเราจะลงดำกันที่หินหลักง่ามเหมือนเคย ตอนแรกผมว่าจะไม่ลง(เอาอีกแล้ว ปลิ้นปล้อนจริงๆ) แต่สุดท้าย คิดว่า ลงดำสบายๆดีกว่า ผมเลือกที่จะไม่สวม Wet Suit ดูบ้าง แต่ลงด้วยเสื้อยืดและกางเกงขาสั้น สวมตะกั่วแค่สามก้อน(น้อยสุดเท่าที่เคยใส่ครับ) พอลองแบกแท๊งค์ ปรากฎว่า เบาหวิวเลยครับ ไม่เคยเจอความรู้สึกแบบนี้มาก่อนเลยน่ะ( พี่เอกับพี่ปุ๋มก็ไม่สวม Wet Suit เช่นกันครับ)


Dive 7 สบาย สบาย เคลื่อนที่สะดวก!!!

อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียสครับ(อุ่นๆ) ตะกั่วสามก้อนของผม ลงสู่ใต้น้ำได้อย่างสบายๆ ไม่แปลกใจเลยว่าพี่เอก็ไม่สวม Wet Suit ตั้งแต่ไดฟ์เช้าแล้ว ผมลอยตัวอย่างอิสระมากขึ้น นอกจากร่างกายที่เบาขึ้นมากแล้ว ก็ไม่มีชุด Wet Suit มารั้งที่บริเวณคอและรั้งบริเวณระหว่างขาสองข้าง(ภาษาเรียกว่า ง่ามขาน่ะครับ 555)


สบายจริงๆนะครับ(ไม่ได้โม้) ผมเคยลงด้วยเสื้อยืดมาแล้วที่พัทยา แต่ตอนนั้นอุณภูมิไม่ใช่แบบนี้ ก็เลยรู้สึกหนาวอยู่บ้าง ผมขยับขานิดเดียว ร่างกายก็เคลื่อนที่ แม้จะหยุดอยู่นิ่งๆ ก็ดูสัตว์ทะเลตรงผาหินได้อย่างสบายใจ จะลอยตัวเหนือดอกไม้ทะเล ก็อยู่นิ่งๆได้(อย่าลืมเอาขาชี้ขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยครับ)


แต่ข้อเสียก็มีครับ แม้จะดำสบายกว่า แต่การไม่มี Wet Suit ทำให้ง่ายต่อการถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลที่จะยิงเข้าใส่ ง่ายต่อการถูกเม่นทะเลเสียบ รวมทั้งสัตว์ทะเลชนิดอื่นที่มีพิษด้วย(เปรียบได้ง่ายๆ พอนักรบถอดเกราะเหล็ก ก็เหลือแค่ร่างกาย ถูกแทงก็บาดเจ็บเต็มๆครับ 555)


อีกข้อหนึ่ง ผมคิดว่า การหายใจก็มีส่วนสำคัญที่สุด พอจิตใจสงบนิ่ง ทำให้การดำน้ำดีตามไปด้วย(ไดฟ์อื่นๆก็ไม่ใช่ว่าผมวอกแวกนะ เพียงแต่ว่าไม่ใช่การดำน้ำที่ดีที่สุดนั่นเอง)


พี่วิลลี่ชี้ให้ดูสิ่งที่เหมือนควัน ออกมาจากหอยมือเสือ(Giant Clam)ครับ ผมก็จ้องอยู่นาน ก็แปลกดี พอขึ้นมาสอบถาม ทราบว่า นั่น คือ อสุจิของหอยมือเสือครับ เป็นการสืบเผ่าพันธุ์ของพวกเขานั่นเอง


ปลายๆไดฟ์ เรามาทำ Safety Stop ในที่ตื้น หันไปด้านหลัง ปรากฎว่าพี่โหน่งหายไปครับ เลยทำสัญญาณบอกพี่วิลลี่ ซึ่งก็ว่ายกลับมาตามหา แต่พี่ดลบอกว่า พี่โหน่งขึ้นไปแล้ว เราจึงขึ้นสู่ผิวน้ำครับ

ที่ขึ้นมาก่อนแล้ว เพราะว่า พี่โหน่งถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลยิงใส่ครับ เลยเกิดผื่นแดง มีอาการปวดแสบปวดร้อน หมูเลยส่งน้ำส้มสายชูมาให้ล้างบริเวณแผล ช่วยบรรเทาอาการพิษ หลายท่านอาจสงสัยว่า ดอกไม้ทะเลที่อยู่กับปลาการ์ตูนมีพิษด้วยเหรอ?


ตอบได้ว่ามีครับ โดยอยู่บริเวณ หนวดที่ยื่นออกมา ซึ่งเวลาเข็มพิษยิงใส่ ก็ยิงมาจากข้างในโดยอัตโนมัติเมื่อมีสิ่งใดมาแตะต้อง เรามองไม่เห็นเข็มพิษหรอกครับ กว่าจะรู้สึกตัวก็ปวดแสบปวดร้อนซะแล้ว ถ้าเผลอจับโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่วนฐานของดอกไม้ทะเลจะไม่มีพิษครับ(ทางที่ดี ห้ามจับ ห้ามแตะ ระวังตัวอยู่ตลอดครับ)


ส่วนปลาการ์ตูน ที่ไม่ถูกเข็มพิษยิงใส่ เพราะปลาการ์ตูนใช้ลำตัวถูเมือกของดอกไม้ทะเล ทำให้ปลอดภัยจากการยิงเข็มพิษ(อาจจะคิดว่าเป็นพวกเดียวกันก็ได้) ผมเลยแนะนำพี่โหน่งเล่นๆ ว่า ถ้าพี่ไม่อยากถูกเข็มพิษ พี่ต้องเอาตัวไปถูกับดอกไม้ทะเลให้ติดเมือกมานะครับ 5555


พี่เอก็ถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลเหมือนกันครับ เรียกว่ามาคราวนี้นักดำน้ำได้เม่นทะเลกับดอกไม้ทะเลเป็นของแถม แต่การได้เห็นฉลามวาฬถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากครับ


เราทุกคนถ่ายรูปกันที่ด้านหน้าของเรือ ทุกคนมีแต่รอยยิ้ม ผมดีใจที่ได้รู้จักกับทุกคนครับ


เรือ Cabana-MV 1 แล่นกลับเข้าสู่ท่าเรือท่ายาง จ.ชุมพร หลังจากนักดำน้ำอาบน้ำแต่งตัว ก็เก็บสัมภาระของตัวเอง รวมทั้งอุปกรณ์ดำน้ำลง Gear Bag ที่มีชื่อของตนเอง


ก่อนถึงฝั่ง เรือต้องแล่นให้ช้าลง เพราะคลื่นจากเรือ อาจทำความเสียหายให้กับเรือเล็กๆของชาวบ้านได้(พี่ Staff เล่าให้ฟังน่ะครับ จ่ายเงินให้ชาวบ้านไปหลายลำแล้ว) มีกล่อง Tips Box ให้นักดำน้ำใส่ตามศรัทธา จำนวนเงินเหล่านี้จะช่วยให้พี่ๆ Staff มีเงินเก็บครับ


บทส่งท้าย

เสร็จสิ้น 7 ไดฟ์ ของทริปร้านเป็ด-ร้านไก่ คราวนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทั้งมิตรภาพดีๆ ผมจะไม่ลืมมันเลยล่ะ


ไม่ว่าจะเป็นการพบฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ใจดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเคยได้แต่เห็นแต่ในรูป ในทีวี และการอ่านหนังสือ การได้พบตัวจริงเสียงจริง ทำให้พบรับรู้ได้ถึงความน่ารักของเขาและเธอ(เห็นด้วยตา เห็นที่ใต้ทะเล นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วครับ)


ขอบคุณพี่หมอหมูและสมาชิกอีกสี่คนด้วยครับ หากไม่ได้พี่หมอหมู ทริปนี้คงไม่เกิดขึ้นแน่ๆ


ขอบคุณพี่ป๊อคกี้และหมู ที่ช่วยเข้าร่วมทริปในครั้งนี้ ทำให้มีจำนวนคนเพิ่มมากขึ้น


ขอบคุณพี่ป้อม ที่ให้โอกาส รอคอยจนมีสมาชิกเพิ่มขึ้น และพาไปร้านเป็ด ร้านไก่ สมใจ ตามที่ผมฝันไว้


ขอบคุณนักดำน้ำทุกคนและ Staff เรือ Cabana-MV 1 ทุกคน ที่ช่วยทำให้การเดินทางมีสีสันและสะดวกสบาย หวังว่าคงได้มีโอกาสดำน้ำด้วยกันอีกนะครับ


และที่ลืมไม่ได้ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านเรื่องราวของผมอีกครั้ง แล้วพบกันใหม่ครับ




Phop Payapvipapong

22 Oct 2008

11:29 Am




1 Comments:

At 1:15 PM, October 28, 2008, Blogger kasab71 said...

1 หอยเบี้ยลายเสือดาวกับแมนเติล ครอบครัว Cypraeidae ขอขอบคุณ www.starfish.ch/

2ปลากระเบนทอง Blue-spotted ribbontail ray ขอขอบคุณ http://www.euratlas.com/

3 ปลากุดสลาดจุดฟ้า(Squaretail Coralgrouper) ขอขอบคุณ http://www.atollinx.com.


4 ปลามงครีบฟ้า(Bluefin Trevally) ขอขอบคุณ http://www.akamaidivers.com/

5 ปลาอกดูดเม่นทะเล(Urchin Clingfish) ขอขอบคุณ www.starfish.ch/

6 ทากทะเลที่ชื่อว่า Phyllidia ocellate ขอขอบคุณ http://lh4.ggpht.com/_

7 หอยมือเสือ(Giant Clam) ขอขอบคุณ http://www.barrierreefaustralia.com/

8 โครงสร้างของดอกไม้ทะเล ขอขอบคุณ http://www.esu.edu/

 

Post a Comment

<< Home