Thursday, August 30, 2007

Scuba…..ที่เกาะเต่า(2)







Dive 1 ขึ้นมาตามพี่โหน่งที่สายเชือก!!!

นอกจากการเคลียร์หูที่ยากแล้ว ผมหายใจเร็วเกินไปและค่อนข้างตื่นเต้น จากการที่นอนไม่พอ มักทำให้เป็นแบบนี้เสมอๆ

ตีขาไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็เหนื่อย น้ำมีกระแสเล็กน้อย ทัศนวิสัยประมาณ 8-10 เมตร ผมอยู่หลังสุดในขณะที่พี่ป้อม เดียร์ จูน หายไปแล้ว เห็นพี่ปุ๊ย พี่นัท 20 นิ้ว พี่หมี อยู่ไกลๆ

แล้วพี่โหน่งล่ะ? ผมหันไป แต่เห็นไม่ชัดนักเพราะมีคนเกาะอยู่ตรงสายเชือก อยู่หลายคน คนไหนละว้า สายตาก็สั้นเล็กน้อย แต่เห็นหน้าไม่ชัดอยู่ดี แต่ผมพอจะจำ wetsuit ของแกได้ครับ ว่าสีออกน้ำเงินๆ ครับ

จึงต้องเปลี่ยนระดับขึ้นไปประมาณ 6-8 เมตร แล้วช่วยดึงพี่โหน่งลงมา(คนดึงกับคนถูกดึงก็ตื่นเต้นพอๆกันครับ เพราะผมก็ไม่เคยดึงใครมาก่อนเช่นกัน)

น้ำมีกระแส ทำให้ตีขาไปยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ (ในตอนนั้นมองไม่เห็นใครแล้วครับ เห็นแค่ฟองอากาศด้านหน้าซึ่งอยู่ไกลเหมือนกัน) แต่ยังไงก็ไม่น่ากลัวแบบพัทยาครับ เพราะน้ำไม่ขุ่นมากแบบนั้น

ในที่สุดบรรยากาศทุกอย่างผ่อนคลายครับ เมื่อมาเจอทุกๆคน อีกทั้งกระแสน้ำก็นิ่ง ทำให้ดำสบายขึ้น พี่โหน่งทำสัญญาณโอเค บอกว่าสบายมากครับ

มีกอปะการังดำและแส้ทะเลมากมายเหมือนที่ครูโก้บอกไว้จริงๆครับ มีหลายสี สวยงามมาก ผมไม่ได้ดูตามกอเท่าไร ได้แต่สังเกตในมุมกว้างๆ

ส่วนปลาที่พอจะสังเกตได้ก็มีปลาผีเสื้อปากยาว(Beak Buttelflyfish) ปลานกแก้ว(Parrot fish) ปลาสลิดทะเลแถบ(Java Rabbitfish) ที่มีเยอะเหลือเกินครับ มาเป็นฝูงๆ ตื้นเต้นดีจัง

และไฮไลท์สุดท้ายที่พอจำได้ คือ ฝูงปลากระพงเหลืองแถบฟ้า(Bluestripe Snapper) ครับ

นับว่ากองหินวงศ์(Hin Wong Pinacle) เหมาะแก่การ Check Dive ที่ดีจริงๆครับ

ขึ้นมา เดียร์บอกว่าเจอ Razor fish ปลามีดโกน(ปลาข้างใส) ด้วยครับ เอกลักษณ์อยู่ที่การว่ายกลับหัว และว่ายเป็นแนวดิ่งโดยตลอด แต่ยังไม่ได้ดูรูปเลยครับ(ว่าถ่ายมาจริงหรือเปล่า ลืมบอกไปว่า นี่เป็นการลองกล้องใหม่ของเธอด้วยครับ)

มื้อเช้าเป็นข้าวผัดกุ้ง ไส้กรอกและแฮม โดยเฉพาะไส้กรอกที่อร่อยที่สุดครับ ถ้าไม่ติดว่าต้องลงไดฟ์ต่อไปอีก ผมจะกินให้พุงกางเลยครับ ฮ่าๆ

เพลียแล้วก็ต้องนอนครับ ไดฟ์ต่อไปจะสดชื่นขึ้น ผมว่าช่วยได้เยอะเลยครับคงไม่ต่างกับการหลับซักงีบ ตื่นมาทำงานต่อ ทำนองนั้นครับ



Dive 2 ตะลึงกับฝูงปลามงหลายร้อยตัวที่หินใบ!!!!

เรือโชคทวี พาพวกเรามาที่จุดดำน้ำต่อไป คือ หินใบ(Sail Rock) ครับ ซึ่งเป็นกองหินที่โผล่พ้นน้ำ ด้านบนมีศาลอยู่ด้วยครับ 1 ศาล ท้องฟ้า สีฟ้าสดใส เหมาะแก่การดำน้ำจริงๆ

ครูโก้ Brief ให้ฟังว่า ในจุดนี้ความลึกสูงสุด 25 เมตร ไฮไลท์อยู่ที่ฝูงปลามงตาโต(Bigeye Trevally) จะทำไซโคลนให้พวกเราดู(หมายถึง ปลามงจะรวมกลุ่มกันเหมือนพายุไซโคลนครับ) นอกจากนั้นก็จะมีฝูงปลาสาก(Baracuda) ให้เราดูด้วย

เมื่อลงไปไม่นานนัก ผมหันไปทางขวามือก็ต้องตะลึง ทึ่งกับฝูงปลามงตาโต(Bigeye Trevally) หลายร้อยตัว ที่ออกมาให้ยลโฉม แม้พวกเขาจะไม่ได้ทำไซโคลนให้ดู แต่ก็รู้สึกดีใจมากครับ ผมไม่เคยเห็นปลาฝูงใหญ่แบบนี้มาก่อน แม้ตอนไปสิมิลันเมื่อ 2 ปีก่อน ก็ยังไม่เห็นเยอะเท่านี้ นับว่าเป็นโชคดีของเกาะเต่าและเมืองไทยครับ ที่จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ผมลอยตัวได้อย่างอิสระขึ้น หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆแต่ยาวๆ หลายๆครั้ง ทำให้ relax ขึ้นเยอะครับ(การได้นอน ช่วยได้เยอะเลยครับ)

ผมมองดูสัตว์เกาะติด ตามริมผาที่สูงชันด้านขวามือ เผื่อจะเจออะไรบ้าง แล้วก็เจอจริงๆครับ เป็นปลาไหลมอเรย์ตาขาว(Greyface moray) ยื่นหน้าออกมา อ้าปากเพื่อหายใจ ผมเห็นพี่โหน่งอยู่ใกล้ๆ เลยเรียกแกเข้ามาดูครับ เสียฟอร์มเล็กน้อย เพราะพอมาดูปรากฎว่าไม่เจอเสียแล้ว(หาจุดไม่เจอแล้วนะครับ 555)

ผาหินของที่นี่ สูงตระหง่าน หน้าอัศจรรย์จริงครับ เหมือนดั่งป้อมปราการที่ไว้ใช้คอยป้องกันข้าศึกก็ไม่ปาน มองแล้วยิ่งชอบ เพราะมีความลึกลับอยู่ภายในนะ

ที่นี่เริ่มเห็นปลาการ์ตูนครับ เพราะมีกอดอกไม้ทะเลอยู่ และเจ้าประจำก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ปลาการ์ตูนอินเดียนแดงนั่นเอง(Pink Anemonefish) ผมสังเกตเห็นว่า บางตัวว่ายออกมานอกดอกไม้ทะเลไกลเหมือนกันครับ คาดว่ามันคงมั่นใจในระยะปลอดภัยพอสมควร(ถ้าเผลอล่ะก็เสร็จปลาเก๋าแน่นอน) หนึ่งในนั้นก็มีปลากะรังแดงจุดน้ำเงิน(Coral rockcod) อีกหนึ่งนักล่าที่พบเห็นได้ทั่วไปครับ

ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร(Weibel ‘ s Butterflyfish) ปลาผีเสื้อเจ้าประจำแห่งอ่าวไทย มาเกาะเต่าคราวนี้พบเยอะมากครับ มีลำตัวสีเหลืองสด แถบตาจะมีสีดำ สลับขาว ดูน่ารักดี แพร่กระจายทางตอนใต้ ของญี่ปุ่นและจีน ไม่พบในอันดามันครับ

นอกนั้นก็จะมีดาวขนนก(Feather star) แส้ทะเล(Sea Whip) และปะการังดำ(Black Coral)ที่มีเยอะเหลือเกินครับ อย่าคิดว่าไม่สำคัญเชียว พวกนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลอื่นๆทั้งนั้นเลยครับ

ขึ้นมาครูโก้เจอกุ้งตัวยาวด้วยครับ น่าอิจฉานัก แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมก็เห็นครับ เหลืออีกตั้งหลายไดฟ์ ค่อยๆหาไปเรื่อยๆ

อาหารกลางวันของเราในวันนี้มี ปลาทอด ไข่เจียว ผัดบล๊อคคลอรี่ใส่แครอท อยากกินอีก แต่กลัวอาเจียนครับ เดี๋ยวจะไม่สนุกเอา 555

จะว่าไปไดฟ์ที่แล้ว ก็มีปัญหาเล็กน้อยเรื่องการเคลียร์หู เลยกินแอดติเฟดดีกว่า(เป็นยาลดน้ำมูกครับ กินแล้วจะทำให้เคลียร์หูง่าย ฉะนั้นกินแล้วต้องนอนครับ ไม่งั้นไปหลับใต้น้ำ เรคกูเลเตอร์หลุดจากปากนี่ไม่ดีแน่ครับ) ผมแบ่งให้พี่โหน่งทานด้วย โน้มน้าวว่าดีจริงๆ ให้ลองดู ไม่นานนักครูโก้กับพี่โจก็มาขอด้วยครับ

พี่ป้อมมอบ Sausage อุปกรณ์สำคัญในการดำน้ำ(แต่ราคาแสนถูก) ที่ผมควรจะมีตั้งนานแล้ว ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่พัทยาเมื่อคราวก่อน ผมคงไม่คิดจะหาซื้อหรอกครับ 555 กะว่าจะลองใช้ในไดฟ์ต่อไปนี้ล่ะ

ผมหาที่นอนและมุมสงบก็อยู่ที่พื้น นอนพิงเสานั่นเองครับ(ขี้เกียจถอด wetsuit ครับ ใส่ยาก ถอดยาก แถมจะไปนั่งที่อื่นก็กลัวเปียก เกรงใจคนอื่นครับ)



Dive 3 น้ำใสที่ตุ้งกู+ ชายหนุ่มผู้โง่เขลาและ Sausage!!!

เรือโชคทวีพาเรามาที่ กองตุ้งกู(South West Pinacle) พี่หมึกมา Brief ให้ฟังครับ ความลึกสูงสุด 25 เมตร ลักษณะจะเป็นผาสูงชันรายล้อมกัน อาจได้เห็นปลาหมอทะเล(Giant Grouper) ปลามง ปลาสาก และดงดอกไม้ทะเลครับ

จุดนี้น้ำไม่ค่อยแรงมาก แม้จะมีเชือกให้เกาะลงไป แต่ค่อยๆดำลงไปก็ได้ครับ ด้านล่างจะมีกระแสนิดหน่อย เกาะเชือกไว้บ้างก็ดี Clear หูสบายมากครับ รู้สึกสดชื่น ยาดีจริงๆ(เริ่มแรกก็มาจากเดียร์นี่แหละครับ ที่ให้ผมกินที่สิมิลัน เพราะเห็นผมบ่นๆว่า Clear หูยาก)

ไดฟ์นี้ดำอย่างมีอิสระมากขึ้นครับ เพราะทัศนวิสัยระดับ 12-15 เมตร แน่ะ ตามผาหิน ผมตีขาขึ้นไปเห็นกอดอกไม้ทะเลจำนวนมาก ในนั้นมีแต่ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish) ทั้งนั้น มากกว่าที่เคยเห็นที่เกาะง่ามน้อยอีกครับ เรียกว่ามากที่สุดเท่าที่เคยเห็นคงไม่ผิดนัก

สังเกตดีๆว่า ปลาอะไรเอ่ยชอบอยู่ใกล้ๆ เหนือดงดอกไม้ทะเลเหล่านี้ คำตอบ คือ ปลาสลิดหินสามจุด(Three-spot Dascyllus) ครับ มีเยอะจริงๆ แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศใต้ทะเลที่กองตุ้งกูสมบูรณ์มากครับ

2 นักล่า แม้จะไม่ได้อยู่ระดับบนสุด แต่ก็สร้างความตื่นกลัวให้กับชีวิตเล็กๆเหมือนกัน คือ ปลาเก๋าหน้าแดง(Black-tipped grouper) และปลากะรังลายนกยูง(Peacock grouper) สังเกตหน้าตาและฟันให้ดีครับ เหมือนจะบอกว่า “เผลอเมื่อไรเจอกัน”

นอกจากนั้นก็มีปลาข้าวเม่าน้ำลึก(Soldierfish) ลีลาที่พร้อมเพรียงกัน คงเป็นที่มาของชื่อละมั้ง ปลาพยาบาล(Cleaner wrasse) พนักงานทำความสะอาดที่มักเข้ามาช่วยขจัดสิ่งสกปรก เช่น ปรสิต จากสัตว์ทะเล ปลาอมไข่(Cardinalfish) ที่ผมยังไม่เห็นพวกเขาอมไข่ในปากซะที แต่รู้ดีกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในเครื่องชี้วัดความสมบูรณ์ของแนวปะการัง และปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร(Weibel ‘ s Butterflyfish) ที่มาทีไรก็พกลูกเล่นที่น่ารักมาทุกๆครั้ง

เมื่อได้เวลา และความลึกประมาณ 5 เมตร ผมพยายามหาที่ว่าง(สายเชือกจะได้ไม่พันคนอื่นๆครับ) หยิบ Sausage ออกจาก BCD แกะเชือกออก หยิบ Octopus ออกมา เติมลมใน Sausage แต่ดันคว่ำหัว Sausage ลง(แล้วจะเติมลงเข้าไหมเนี่ย) มิน่าถึงไม่เข้าซะที(ระหว่างทำมีพี่อรรถกำลังจับเชือกของผมไว้ครับ)
พอหงายหัว Sausage ขึ้น คราวนี้เติมลงมากเกินไป ผลก็คือ พุ่งครับ Sausage พุ่ง ดึงผมขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว(พี่อรรถน่ะ ไหวพริบดีครับ ปล่อยเชือกออกไปแล้ว) เช่นกันครับ ผมก็ยอมทิ้ง หายก็หาย ดีกว่าทำให้ผมขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว(ภายหลังพี่ป้อมบอกทำถูกแล้วน้อง คราวหน้าลองใหม่ ใจเย็นๆกว่านี้ ดีว่านี้แค่ 5 เมตร ความอันตรายก็ลดน้อยลงไปด้วย)

ผมตามขึ้นมาเก็บ Sausage ข้างบน(ไม่หายวุ้ย ไม่ต้องซื้อใหม่ 55) แต่ Sausage แน่นเหลือเกิน แสดงว่าเติมลมไปเยอะจริงๆ (เป็นบทเรียนที่ดีครับ ไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด เพียงแต่ผมจะช้าหน่อยเท่านั้นเอง)

ผมทราบคร่าวๆว่า Night Dive จะลงในช่วง 2 ทุ่มกว่าๆ ที่บริเวณหินเด่น เกาะนางยวน ผมเดินขึ้นไปบนดาดฟ้า พอแดดเริ่มหาย พื้นเริ่มแห้ง ลมเย็นๆบนดาดฟ้าของเรือก็น่านอนอยู่เหมือนกันครับ มีพี่อรรถกับพี่ท๊อปนอนเล่นอยู่ก่อนแล้ว

“อ้าว เฮ้ย นี่มันหาดแม่หาด เกาะเต่านี่หว่า” ผมมองไปด้านหน้าเห็นเกาะที่คุ้นเคย สถานที่ที่ผมเคยมากับเพื่อนๆ เมื่อหลายปีมาแล้ว

ไม่นานนัก เดียร์ก็ขึ้นมาถ่ายรูปเหมือนกัน ผมเดินขึ้นไปด้านหน้าของเรือ เห็นมีกลุ่มพี่ๆกำลังขึ้นดิงกี้ไปเกาะเต่า

“ก็ดีน่ะซิ ขึ้นเกาะเต่าได้ด้วย มีใครไปบ้างครับ พี่อรรถ เดียร์ พี่ท๊อป พี่โหน่งไปไหมครับ ผมอยากกลับไปเดินบนเกาะมานานแล้ว” ผมเอ่ยปากชวน

“ไปๆ” มีแต่เสียงตอบตกลง ไม่มีใครปฎิเสธเลยครับ

................................

0 Comments:

Post a Comment

<< Home