Friday, August 10, 2007

หยุดการ Forward อย่างเมามัน ด้วย กฎหมายคอมพิวเตอร์


ผู้อ่านทุกท่านคงได้ยินข่าวเรื่องกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่พึ่งออกมาใหม่และมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งกฎหมายตัวนี้ ชื่อว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550


ถามว่าสำคัญแค่ไหน ตอบได้ว่ามากครับ โดยเฉพาะคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เพราะต่อไปนี้ จะทำอะไรก็ต้องดูให้ดีๆ ไม่งั้นอาจผิดกฎหมายได้ครับ


ผมจะพูดให้เข้าใจง่ายเข้าไว้ และจะพูดในมุมกว้างๆ ครับ กฎหมายตัวนี้มีบทลงโทษสำหรับ แฮคเกอร์ ทั้งหลาย ที่ชอบเข้าถึงข้อมูลผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติ จะเป็นการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือทำลายก็แล้วแต่ หรือหากไม่เข้าแต่ก่อกวนให้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ถูกชะลอ ไม่สามารถปฎิบัติงานได้เหมือนปกติก็มีความผิดครับ


คำว่า “ผู้ให้บริการ” น่าสนใจครับเพราะหมายความว่า


(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดย
ประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น


(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น


นั่นหมายความว่า เว็บที่ให้บริการรับฝากรูป ก็ถือเป็น “ผู้ให้บริการ” นะครับ


มาว่ากันเรื่องเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่โพสกันบ้าง ต่อไปนี้ หากโพสข้อมูลใดๆเข้าไปในระบบผู้ให้บริการแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือแก่ผู้อื่น(ก็ประชาชนนั่นแหละ) จะมีความผิดครับ


ตามมาติดๆด้วยเจ้าพ่อหรือเจ้าแม่ Forward เมลทั้งหลาย ถ้ามีรูปหรือข้อมูลที่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่ผู้อื่นและผู้กระทำรู้ว่าเป็นข้อมูลเช่นนั้น ส่งต่อหรือเผยแพร่ไปก็มีความผิดครับ


ต่อด้วยผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวก็จะมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดครับ


ข้อนี้น่าสนใจครับ ถ้ามีการกระทำความผิดเช่นนี้นอกราชอาณาจักรล่ะ จะลงโทษได้ไหม? ถ้า


1) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือ
ผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ


2) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและ
ผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ


จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร


สรุปถ้าเข้าองค์ประกอบ ก็สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ครับ


ยังมีรายละเอียดใน พ.ร.บ. นี้ ที่ผมยังไม่ได้กล่าวอีกครับ แต่คิดว่าเท่านี้ทุกท่านน่าจะเข้าใจในภาพกว้างๆ


เนื่องจากกฎหมายนี่ค่อนข้างใหม่ แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาจึงยังไม่มี กฎหมายนี้จะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่


คงต้องรอดูกันต่อไปครับ


ที่แน่ๆ ยังมีคนจ้องทำอยู่เยอะนะ


ตัวบทกฎหมายดีแค่ไหน ถ้าไม่มีความจริงจังในการแก้ไขปัญหา


ผู้กระทำความผิดก็ไม่กลัวหรอกครับ

0 Comments:

Post a Comment

<< Home