Monday, February 12, 2007

เกาะสุรินทร์….สุดยอดระบบนิเวศทางทะเล(1)





หากมีคำถามว่าแหล่งดำน้ำที่ใดในประเทศไทยดีที่สุด สำหรับคนที่ไม่ได้ท่องเที่ยวเป็นประจำ คงจะตอบได้ยาก เพราะเมืองไทย มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามอยู่หลายที่

แต่หากถามกลุ่มบุคคลที่รักในการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นประจำแล้ว เชื่อได้ว่าคงตอบได้ไม่ยาก สุดยอดการดำน้ำแบบ Scuba คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ. พังงา สุดยอดการดำน้ำแบบ Snorkeling คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ. พังงา

ผมเห็นด้วยกับพวกเขาเหล่านั้น คำว่า “ดีที่สุด” ในที่นี้ไม่ได้เอาตัวผมเป็นที่ตั้งอย่างเดียวนะครับ เราดูจากความหลากหลายทางชีวภาพ ความยาก-ง่ายในการพบเจอสัตว์ทะเล เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลอื่นๆในเมืองไทยตลอดจนเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากบุคคลที่ได้ไปสัมผัสกับสถานที่จริงๆ

ผมมีความทรงจำที่ดีกับหมู่เกาะสุรินทร์เสมอ โดยไปมาครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2546 และครั้งที่สอง เดือนเมษายน 2547 แน่นอนว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมุ่งมั่นที่จะไปที่นี่ให้ได้เกิดจากข้อมูลการท่องเที่ยวเกาะสุรินทร์ใน
http://www.talaythai.com/ และมหากาพย์เกาะสุรินทร์ ในนิตยสาร ATG ฉบับที่ 59 ปี 2545

ปลายปี 2547 หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ผมก็ไม่ได้กลับไปยังเกาะที่ผมทั้งรัก ทั้งหลงอีกเลย(การไป-มาหลายครั้ง คงตอบคำถามได้เป็นอย่างดีว่าที่นี่มีความ “พิเศษ” อย่างไร)

ผมเกือบจะได้กลับไปที่นี่ในเดือน เมษายน 2548 ด้วยความที่ยังไม่มีงานทำ การเก็บเงินจึงค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ผมเลือกที่จะเรียนดำน้ำแบบ Scuba ทำให้หมดเงินที่จะไปท่องเที่ยวที่อื่นๆ ส่วนอีกครั้งหนึ่งในต้นเดือนพฤษภาคม 2549 ก็พลาดไปอีกเพราะในปีนั้นเกาะสุรินทร์ปิดเร็วกว่าทุกๆปี(เขาบอกว่า เป็นผลมาจากคลื่นยักษ์สึนามิครับ) ผมจึงเลือกไปท่องเที่ยวทะเลกระบี่แทน

จากนี้ไป ผมจะไม่ยอมพลาดอีกแล้ว ผมอยากไปสำรวจเกาะที่ผมรัก หลังคลื่นสึนามิพัดผ่านอีกครั้งว่า จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ผมอยากไปดำน้ำแบบ Snorkeling สังเกตปลาผีเสื้อให้มากที่สุด(ที่นี่มีปลาผีเสื้อหลากหลายที่สุดในทะเลไทยครับ) ตามจุดดำน้ำต่างๆที่ผมคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

แต่คราวนี้ ผมมีโปรแกรมที่จะไปดำน้ำแบบ Scuba ด้วย(พี่หนึ่ง สาวนักดำน้ำ เล่าให้ผมฟังว่าเคยไปดำแบบ Scuba ที่นั่น) ฟังดูอาจเป็นเรื่องตลกสำหรับมนุษย์กบคนหนึ่ง เพราะที่นี่เด่นที่สุดในเรื่องการดำน้ำตื้น หากจะดำแบบ Scuba ทำไมถึงไม่ไปสิมิลัน กองหินริเชลิว เกาะบอน เกาะตาชัย อยู่กับเรือแบบ Liveaboard ไม่ดีกว่าหรือ? ประหยัดกว่าด้วยหากคิดจำนวนเป็น ไดฟ์ ต่อ ไดฟ์

พูดไปก็ถูกครับ แต่ไม่ทั้งหมดเพราะจากที่ผมค้นคว้าหาข้อมูลการสำรวจของกลุ่ม ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์กับเหล่าลูกศิษย์ ที่นี่มีอะไรดีๆ เยอะจนหลายๆคนคาดไม่ถึง(เพราะเข็มขัดสั้น) (ล้อเล่นครับ ลูกปลาค้างคาวที่อ่าวผักกาด ปลากระเบนราหู(แมนต้า) ปลานกแก้วหัวโหนก ปลานกขุนทองหัวโหนก(ปลานโปเลียน) ที่ตอรินลา ปลาสินสมุทรพันธุ์หายาก(มาก) และปลาหายากอื่นๆ ที่รอการค้นพบอีกหลายชนิดครับ(แค่เกริ่น ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสิมิลันเลยครับ)

ผมเลือกไปในช่วงวันปีใหม่แม้ผมจะรู้ดีกว่า หากคนมาก(ล้นเกาะ)ความสนุกจะลดน้อยลงแต่เป็นสิ่งที่ผมหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับเพราะด้วยจำนวนวันหยุดที่ยาว เหมาะสมกับการนอนค้างบนเกาะ 3 คืน นอกจากช่วงนี้ผมก็ยังมองไม่เห็นว่าจะไปช่วงไหนได้อีกโดยไม่ต้องลางาน(ลางานลำบากมากครับ ลาหยุดพักผ่อนก็ยังไม่ได้เลย)

ผมต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วรถทัวร์(ขนาดผมไปซื้อตั๋วล่วงหน้า 30 วัน ยังเหลือแค่บริษัท ขนส่ง เท่านั้นครับ (โล่งอกจริงๆ ได้ไปแล้ว) แถมได้ตั๋วราคาถูกกว่าธรรมดาด้วย เพราะเป็นช่วงที่เขาลดราคาตั๋วให้ประชาชนกลับไปเยี่ยมพ่อเนื่องในวันพ่อแห่งชาติครับ) ที่เหลือก็เป็นการจองตั๋วเรือและการจองเต๊นส์ซึ่งก็ไม่มีอะไรยากครับ(อดไปลิกไนท์ ทัวร์ แต่ดีกว่าไม่ได้ไปแล้วกันน่ะ)

ที่ช้าก็เพราะผมต้องรอเพื่อนตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจช้า มีความยึกยักสูง(ทำเอาข้าพเจ้าเกือบไม่มีรถไป ความฝันพังทลายทันที) ผมจึงไม่ลังเลที่จะไปท่องเที่ยวเพียงคนเดียวอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนออกเดินทาง มีข่าวคลื่นลมที่รุนแรงมากในฝั่งอ่าวไทย มีเล็กน้อยที่ฝั่งอันดามัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมกังวลใจ ถึงขนาดที่ต้องยกเลิกการเดินทางไป

แม้คลื่นสึนามิจะสร้างความเสียหายให้กับหมู่เกาะสุรินทร์ บางจุดเราไม่มีทางได้เห็นอีกเลยตลอดชั่วชีวิต บางจุดไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่ผมยังมั่นใจว่าที่นี่ยังมีดีเสมอ

หากไม่เชื่อผมจะพาทุกท่านไปพิสูจน์กันครับ

29 ธันวาคม 2549

เช้านี้ผมตื่นสาย เมื่อคืนกว่าจะได้นอนก็ตี 3 กว่า เพราะต้องรอกล้องดิจิตอลจากคุณแม่ที่พึ่งกลับจากท่องเที่ยวเมืองจีน(ขืนไปโดยไม่มีกล้อง ก็ไม่มีภาพถ่ายมาฝากทุกท่านซิครับ)

เป้ใบใหญ่สีเขียว ยังเป็นเพื่อนซี้ของผมในยามนี้เสมอๆ เพราะบรรจุของได้เยอะ(จนอ้วน) ผมสามารถยัดกระเป๋าเป้อีกใบที่เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับสัตว์ทะเลได้และยังมีหน้ากาก(Mask) ท่อหายใจ(Snorkel) เว็ทสูท(Wet Suit) แบบยาว(ลองนึกดูครับว่ายัดเข้าไปได้อย่างไร)

อุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามาในครั้งนี้ คือ นาฬิกาสำหรับดำน้ำ(ยี่ห้อดัง ราคาแพงซะด้วย) ที่พี่ส้วม(พี่อลงกต) เพื่อนของพี่ชายคนโตให้ยืม โดยต้องการให้ผมนำไปเพื่อดำน้ำโดยเฉพาะ(ถึงแกจะบอกว่า น้ำเข้าไม่เป็นไร ส่งซ่อมฟรี แต่ผมก็ไม่อยากให้น้ำเข้าอยู่ดีครับ)

ไม่ต้องคิดมากครับ หา Taxi ได้ก็รีบขึ้นไปเถอะ ประหยัดแรงไปได้เยอะ เมื่อแบกเป้มาแบบนี้ แน่นอนว่าต้องตกเป็นจุดสนใจอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งพอทราบว่าไปคนเดียว หลายๆคนก็ต้องคิดว่า “มันบ้าหรือเปล่าวะ” แต่นี่แหละครับ คือ ตัวผม หากรอแต่เพื่อนว่างพร้อมกัน แล้วค่อยไปเที่ยว คงพลาดโอกาสดีๆไปอีกมากครับ

คราวนี้รถออก 2 ทุ่ม แต่ก็ต้องรีบครับเพราะช่วงปีใหม่คนกลับบ้านเยอะมาก ไปเที่ยวก็ไม่น้อย ขนาดรีบออกยังใช้เวลาเดินทางจากที่ทำงานย่านราชดำเนินไปสายใต้ 1 ชั่วโมง 30 นาที แน่ะ

คนครับ คนทะลักสายใต้ ไม่แพ้ที่หมอชิตใหม่แน่นอน ผมเดินเข้าไปสอบถามว่า รถจะมาที่ชานชะลาไหน เพื่อป้องกันความยุ่งยากก่อนออกเดินทาง

เดินออกไปหาร้านอาหาร(หาที่นั่งพักด้วยครับ หนักหลังมาก) เจอร้านอาหารแบบปักษ์ใต้ เลยสั่งมาทาน เจ้าของร้านหูไม่ดี หรือผมลิ้นคับปากสั่งไม่รู้เรื่องก็ไม่ทราบ เพราะสั่งผัดผักกับกุ้งหวาน แกเอาผัดผักกับคั่วกลิ้งแสนเผ็ดมาให้

โทรกลับบ้านจึงทราบว่าคุณแม่ติดหวัดจากเพื่อนๆในทริปเมืองจีน โชคดีที่มีคุณพ่อคอยดูแลอยู่ ผมช่างเป็นลูกที่เลวจริงๆเลยครับ(กำลังจะหนีไปเที่ยว)

ผมเดินเข้าไปนั่งรอรถในอาคาร 2 จำได้ว่าเคยมาส่งพี่ชายไปภูเก็ตบ่อยๆ ผมคิดในใจว่าถ้ามีรอบเร็วกว่านี้ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะตอนนี้เริ่มเจื่อนซะแล้ว จะหยิบหนังสือมาอ่านก็ยากเสียเหลือเกินเพราะต้องลาก Wetsuit ออกมาด้านนอก ลำบากน่าดู

ถึงเวลาออกเดินทางเสียที รถของบริษัทขนส่ง นั้นแจกของกินมากกว่าของลิกไนท์ทัวร์ เพราะมีขนม นม น้ำผลไม้ น้ำเปล่า ขนมถุง แต่ที่แย่กว่า คือ จะไปจอดกินข้าวดึกกว่าของลิกไนท์ทัวร์

“พี่ๆไปลงระนองเหรอครับ” ไอ้หนุ่มข้างๆถามผมด้วยสำเนียงใต้(หน้าตาแก่กว่า บังอาจมาเรียกผมว่าพี่อีก ฮ่าๆๆๆ)

“ผมไปลงคุระบุรีครับ” ผมตอบ(ดูๆไปผมว่าอายุก็น่าจะพอๆกันนั่นแหละ) ขอเรียกไอ้หนุ่มนี่ว่า ไอ้หนุ่มกระเปอร์แล้วกันครับ เพราะลงถัดจากโรงพยาบาลกระเปอร์เล็กน้อย(ลืมถามชื่อน่ะครับ) (กระเปอร์ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดระนองครับ)

ไอ้หนุ่มกระเปอร์เล่าให้ผมฟังว่า พึ่งมาทำงานที่กรุงเทพได้ไม่นาน พอเห็นแสง สี ที่กรุงเทพ ก็หลงอยู่ไปพักหนึ่ง ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นก็ต้องตามเพื่อนไป แต่ก็ไม่ลืมที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต วันนี้โชคดีที่มีคนสละตั๋ว จึงได้กลับบ้าน

ไอ้หนุ่มเล่าให้ฟังอีกว่า บ้านของเขาได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิเช่นกัน โชคดีว่า เช้าวันนั้นพ่อของเขาไม่ได้ออกไปหาปลา จึงรอดชีวิต ส่วนเพื่อนของเขาอีกคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้

“พี่มาเมื่อไร บอกผมแล้วกัน ผมมั่นใจว่าเคยไปมาแล้วทุกเกาะ พาพี่ไปเที่ยวได้ทุกเกาะแล้วกัน” นั่นเป็นคำสุดท้ายจากปากไอ้หนุ่มกระเปอร์ เท่าที่ผมจำได้ครับ


30 ธันวาคม 2549

ตี 1 ครึ่ง แวะกินข้าวที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ด้วยความงัวเงีย ผมไม่อยากจะทานอะไรตอนนี้เลยครับ หนาวก็หนาว ง่วงก็ง่วง เลยใช้คูปองแลกเครื่องดื่มก่อนจะขึ้นไปบนรถเพื่อนอนต่อ

ผมหลับไปก่อนที่จะตื่นอีกครั้งที่ อ.กระเปอร์ จ. ระนอง(ประมาณ 6 โมงครึ่ง) ไอ้หนุ่มกระเปอร์ลงไปแล้ว ผมมองดูข้างทางเพราะเริ่มจะนอนไม่หลับ เห็นทัศนียภาพของจังหวัดระนองแบบเต็มๆครั้งแรก(หากนั่งรถทัวร์มาในเวลาอื่น จะถึง อำเภอคุระบุรี ตอนเช้ามืด ไม่มีโอกาสได้เห็นจังหวัดระนองแน่ๆครับ) ระนองเป็นจังหวัดที่ชาวบ้านค่อนข้างมีชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย สังเกตได้จากข้างทางที่สลับไปด้วยทุ่งหญ้ากับภูเขา บ้านแต่ละหลังปลูกห่างๆกัน ชาวบ้านยืนรอรับลูกๆ ซึ่งลงรถทัวร์ได้ไม่นาน ก่อนจะพาเข้าบ้าน

ดูป้ายข้างทาง ผ่านกิ่งอำเภอสุขสำราญ ผ่านคลองนาคา ผ่านหาดประพาส ชื่อเหล่านี้ผมคุ้นเคยดีเพราะจำได้ขึ้นใจตอนเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ

ผมเริ่มร้อนใจว่า หากไปไม่ถึงเวลาเรือออกจะทำอย่างไร คงเป็นเรื่องตลกน่าดู(ขำไม่ออก) พอเห็นป้าย คุระบุรี 26 กิโลเมตร จึงเริ่มสบายใจขึ้น มั่นใจว่าไปถึงที่หมายทันแน่นอน

และแล้วผมก็มาถึงท่ารถ เวลา 7 โมงครึ่ง ผมมองหาพี่มล(นฤมล)กับร้านซาบีน่าและพี่...(นิรนาม)ที่เคยอำนวยความสะดวกให้ผมทั้ง 2 ครั้ง เมื่อสอบถามคนแถวนั้นจึงทราบว่าบริษัทได้ย้ายไปฝั่งตรงข้ามเรียบร้อยแล้ว

ภายในบริษัทดูโอ่อ่า ใหญ่โตขึ้น ผมเห็นนักท่องเที่ยวมาติดต่อเรื่องเรือกับเจ้าหน้าที่ รอบๆผนังมีโปสเตอร์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวหมู่เกาะสุรินทร์ รวมทั้งกระดาษแผ่นใหญ่สีขาวที่เต็มไปด้วยลายมือของนักท่องเที่ยวที่เล่าถึงความประทับใจที่เกาะสุรินทร์ ผมลองหาลายมือตัวเอง เจอด้วยครับ(ตอนงาน TDEX ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซาบีน่าไปออกบูธ ผมเข้าไปในร้านและได้ไปเขียนข้อความด้วยครับ)

“พี่คะ หนูฝากชาตจ์ โทรศัพท์ตรงนี้ ไม่หายใช่ไหมคะ” สาวน้อยคนหนึ่งในสุดสีชมพูพูดกับเจ้าหน้าที่ขณะนำโทรศัพท์ชาตจ์(ผมคิดในใจ เจ๊ครับ ไม่หายหรอกน่า เจ้าหน้าที่ดูให้แน่นอน)

“ได้คะ ไม่หายหรอกจะดูแลให้อย่างดีเลย” เจ้าหน้าที่ตอบ ก่อนที่จะบอกให้เธอกับเพื่อนไปทานข้าวที่ร้านข้าวแกงใกล้ๆตลาดก่อนที่รถจะออก

ผมเข้ามาติดต่อตั๋วรถกลับในตอนเย็นวันอังคารเพราะจะต้องกลับไปทำงานเช้าวันพุธให้ทันเวลา จากนั้นผมถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบริการแพคเกจทัวร์ของซาบีน่าด้วยความสงสัยเพราะสมัยก่อนที่ผมมา ยังมีให้บริการเฉพาะเรืออย่างเดียว(เจ้าหน้าที่บอกว่า 2 สาวนั้นก็มาแบบแพคเกจทัวร์)

ยังมีเวลาอีกนิดก่อนที่รถจะออก ผมขอเจ้าหน้าที่ไปเดินซื้อของที่ตลาดคุระบุรี ซึ่งในวันนี้คราคร่ำไปด้วยผู้คน อาจเป็นเพราะเริ่มสาย สำหรับคนที่นี่แล้ว จึงมีคนออกมามากเป็นพิเศษ(ทุกครั้งที่ผมมา ไม่เคยเห็นภาพแบบนี้เลยครับเพราะมาเช้า-มืด ตลอด)

ผมซื้อกล้วยเป็นอันดับแรก ด้านหลังติดแม่น้ำมีชาวบ้านนำปลาสดๆออกมาขาย(ถ้าผมเป็นแมว คงกระโดดงับไปแล้วครับเพราะจมูกคุ้นเคยกับกลิ่นปลามาก)

เดินออกมาซื้อน้ำเปล่ากับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป(มาม่า) ด้านหน้าร้าน มีสาวน้อยมาขายรองเท้า ที่สำคัญน่ารักมากด้วยครับ(จริงๆสารภาพว่า มีอยู่หลายร้านแต่พอผมเห็นสาวคนนี้ขายของอยู่หน้าร้าน ก็เลยเดินเข้ามาร้านนี้ครับ ฮ่าๆๆ)

เธอบริการช่วยนำน้ำดื่มและมาม่าใส่ถุงและยื่นให้ผม ผมรับไว้อย่างเต็มใจ(ลุงครับ งูอยู่บนหัวลุงครับ) พอเดินออกจากตลาดจึงนึกได้ว่า น่าจะขอถ่ายรูปเธอเอาไว้(ถ้าหน้าด้าน ได้แน่นอน แต่นี่อายก็เลยอดครับ ครั้นจะย้อนกลับไปมันก็ไม่เป็นธรรมชาติเสียแล้วครับ ฮ่าๆๆ)

เนื่องจากผมมาคนเดียว เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงให้ผมมากับกลุ่มของป้า(นักท่องเที่ยว)ซึ่งขับรถไปท่าเรือคุระบุรีไม่ถูก โดยมีเจ้าหน้าที่สาวนั่งช่วยดูทางไปอีกคนหนึ่งด้วย

จากการใช้หู(สาระแน)ให้เป็นประโยชน์ กลุ่มของป้าพึ่งขับรถมาถึงเมื่อเช้านี้ ผ่านเส้นทางระนองมา เธอบ่นๆเส้นทางว่าค่อนข้างคดเคี้ยวและอันตราย มาที่นี่เพราะได้ยินกิตติศัพท์มานาน อยากมาเห็นว่าจะสวยงามอย่างที่ใครๆเล่าไว้หรือไม่

เมื่อถึงท่าเรือคุระบุรี ผมฝากของไว้ที่รถคุณป้าก่อนที่จะเดินออกมาซื้อตั๋วเรือซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับที่ทำการของอุทยาน วันนี้คนเยอะเป็นพิเศษ ผมจึงต้องรอซื้อตั๋วเป็นเวลานานเหมือนกัน พี่มล(นฤมล)ก็ดูท่าทางจะยุ่งๆมากเพราะต้องคอยต้อนรับแขกอยู่ตลอดเวลา บ้างก็มาแบบคู่หนุ่มสาว บ้างก็มาแบบครอบครัวใหญ่ ผมยังเจอ 2 สาวอีกครั้งที่นี่ด้วย(ที่นี่มีบริการปาท่องโก๋ฟรี ตอนแรกว่าจะไม่หยิบครับ แต่ถึงตอนนี้ ต้องหยิบเพราะไม่มีเวลากินข้าวเช้าแล้ว)

จากนั้น ผมรีบไปยืนยันเรื่องเต๊นส์ที่อุทยาน เมื่อสังเกตเห็นกะบะหลังรถของคุณป้า กระเป๋าของผมได้หายไปเรียบร้อยแล้ว(สงสัยคุณป้าช่วยยกลงไปให้)

หลังจากติดต่อเรื่องเต๊นส์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผมเดินหากระเป๋า ในที่สุดก็อยู่ที่กลุ่มคุณป้าครับ ผมนำสติ๊กเกอร์(ที่แยกสิ่งของระหว่างอ่าวช่องขาดและอ่าวไม้งาม)มาติดไว้ เพื่อง่ายต่อการขนย้ายของเจ้าหน้าที่ด้วย)

วันนี้มีเรือธรรมดาออก 2 ลำ โดยลำแรก(ที่ผมต้องขึ้น)ออกไปเรียบร้อยแล้ว(จ๊าก!!) ผมทราบเพราะว่าเจ้าหน้าที่เดินมาบอกผม

ผมมัวแต่เถลไถลทำให้พลาดเรือไป จึงต้องมาขึ้นเรืออีกลำที่ออกช้ากว่าเกือบ 1 ชั่วโมง แต่ก็นับว่าไม่เลวครับเพราะเรือใหญ่กว่า นั่งสบายกว่าด้วย (ที่ช้าเพราะว่า ต้องรอนักท่องเที่ยวที่ยังมาไม่ถึงครับ)

อาจเป็นโชคดีสำหรับผมก็ได้เพราะ 2 สาว ก็อยู่บนเรือลำเดียวกับผม(นั่งใกล้ๆกันด้วย)ระหว่างเรือออก ผมถ่ายรูปบรรยากาศรอบๆ เช่น ป่าชายเลน ประภาคารสีขาว เป็นต้น

ผมเห็น 2 สาว ถ่ายรูป พวกเธอขอร้องให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปให้ด้วย(ผมคิดในใจว่า อยากจะถ่ายรูปให้พวกเธอจังเลยครับ ฮ่าๆๆ) เมื่อเธอเดินไปถ่ายรูปด้านหน้าเรือ ผมจึงฟอร์ม(เดิน)ออกไปด้านหน้าบ้าง

คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีคำว่าบังเอิญ มีแต่คำว่าตั้งใจ” ดูท่าจะจริงครับ เพราะเมื่อผมมานั่งตากลม ตากแดด ผมก็จ๊ะเอ๋กับ 2 สาว

“มาเที่ยวคนเดียวเหรอคะ” จูน สาวผิวขาว ร่างเล็ก ดูบอบบาง ทักทายผม

“ครับ มาเที่ยวคนเดียว ผมถ่ายรูปให้ไหมครับ” ผมตอบอย่างยินดี

ส่วนอีกคนหนึ่ง คือสาวผิวขาว ร่างเล็ก ในชุดสีชมพู ที่คุยกับเจ้าหน้าที่ซาบีน่าเรื่องการชาตจ์โทรศัพท์(เจ๊คนนั้นแหละครับ) เธอชื่อส้มครับ

ผมค่อนข้างจะชื่นชม จูนและส้มเพราะเธอเป็น 2 สาว ที่เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ มาเที่ยวกันเพียง 2 คน(หากมาคนเดียว ผมว่าค่อนข้างอันตราย ถ้าเป็นสาวชาวต่างชาติก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกครับ) จากการที่ผมได้คุยกับพวกเธอ สาวที่กลัวความลำบาก ดังเช่น สาวไฮโซทั้งหลาย(บางคน) ไม่กล้ามาแบบนี้แน่ครับ คงต้องไปแบบเรือสำราญหรูๆ ที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย แนวๆนั้น

เรือใช้เวลาเดินทางแบบสบายๆ 2 ชั่วโมงกว่า ผมมองเห็นแหลมแม่ยายและอ่าวช่องขาดอยู่ไม่ไกล ผมจึงชวนจูนและส้มออกมาถ่ายรูปที่ด้านหน้าเรือ

ผมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแนวปะการังน้ำตื้นบริเวณแหลมแม่ยาย(บริเวณสีเขียวที่เป็นแนวปะการังน้ำตื้น ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด) และสันทรายบริเวณอ่าวช่องขาด(ที่หายไปเพราะคลื่นสึนามิ)

ระหว่างรอเรือหางยาวไปจุด 200 เมตร(เพื่อไปอ่าวไม้งาม) เจ้าหน้าที่บอกจูนกับส้มว่า บริเวณจุด 200 เมตร น้ำจะลดอาจจะต้องลุยน้ำไป เปลี่ยนกางเกงขาสั้นน่าจะดีกว่า(จะได้ไม่เปียก) ผมเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่เช่นกัน จึงแนะนำพวกเธอ

เรือหางยาวค่อยๆแล่นผ่านอ่าวช่องขาดไปอย่างช้าๆ น้ำทะเลที่ใสแจ๋ว ทำให้ผมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของอ่าวช่องขาดอย่างชัดเจน แนวปะการังหายไปหมด แม้แต่ปะการังก้อนที่ได้ชื่อว่าแข็งแรงที่สุดในบรรดาปะการังทั้งหมด........

อ่าวที่มีเสน่ห์ที่สุดอ่าวหนึ่งของเกาะสุรินทร์

อ่าวที่ไม่ต้องเสียเงินค่าเช่าเรือออกมาดำน้ำเพราะมีเพียงหน้ากากและท่อหายใจก็สามารถออกมาดำน้ำได้แล้ว

อ่าวที่เห็นเหล่ามัจฉาได้ง่ายเหลือเกิน เช่น ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ปลาปักเป้ากล่อง ปลาไหลมอเรย์ เป็นต้น

“เราไม่มีสิทธิเห็นอีกแล้ว อย่างน้อยก็ชั่วชีวิตของเรา”(ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์)

ถึงปะการังจะหายไป แต่น้ำทะเลสีเขียวอ่อน ใสมากกว่าที่ใดๆ ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า(แบบผม) ให้ตื่นตา ตื่นใจอยู่เสมอ

เมื่อถึงจุด 200 เมตร น้ำลดมากอย่างที่เจ้าหน้าที่บอกไว้จริงๆ ต้องเดินเท้าเข้าไปเล็กน้อย แม้จะพยายามหลบก้อนหินและปะการังแล้วแต่ก็ห้ามทรายที่ฟุ้งกระจายไปตกอยู่บนปะการังไม่ได้อยู่ดี

ผมช่วย จูนและส้มถือของมาที่อ่าวไม้งาม เนื่องจาก 2 สาว มาแบบแพคเกจทัวร์กับซาบีน่า เต๊นส์(ของซาบีน่า)จึงถูกจัดไว้ให้แล้ว(จะมี zone ของซาบีน่าโดยเฉพาะครับ)

ส่วนผมมาติดต่อที่เคาน์เตอร์เรื่องเต๊นส์ โดยมีป้าเดียร์เป็นคนพาผมมาเลือก

“มีเต๊นส์ด้านหน้าติดหาดหรือเปล่าครับป้า” ผมถามป้าเดียร์

“เต็มหมดแล้วจ้า แต่เดี๋ยวป้าดูให้นะ” ป้าเดียร์ตอบ

โชคดี(ในเรื่องท่องเที่ยว)ยังคงบังเกิดกับผมอยู่เสมอ มีเต๊นส์เล็กว่างอยู่ 1 ที่ พอดี(เจ้าของพึ่งออกไปสดๆร้อนๆเลยครับ(ผมจับเต๊นส์ดู ยังอุ่นๆอยู่เลย เฮ้ย ไม่เกี่ยวแล้ว แดดมันร้อน)

ป้าเดียร์ทำความสะอาดเต๊นส์ กวาดเศษทรายออกไป ป้าเดียร์เล่าให้ผมฟังว่า มาทำงานที่นี่ได้ไม่นาน เรื่องเงินอาจได้ไม่ดีนักแต่ได้ความสุขเพราะอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ที่สำคัญป้าเดียร์พบรักที่นี่เสียด้วยครับ(อันนี้ประเด็นสำคัญ)

ผมเดินเข้ามาที่โรงอาหารเพื่อสั่งอาหารกลางวัน(หิวมาก) กระเพราหมูราดข้าว กับข้าวหมูทอดราดข้าว เป็นอาหารสำหรับ(กระบือ ผู้ใช้แรงงาน เช่นผม) ไม่นานนัก จูนกับส้มก็มานั่งด้วยกันโดยมีอาหารแบบแพคเกจ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำไก่ ปลาทอด ไก่ผัดพริกและผัดผัก

“ไม่น่าสั่งมาเยอะเลย เรากินกันไม่หมดหรอก มื้อหน้าไม่ต้องสั่งนะคะ มาทานด้วยกัน” เป็นน้ำใจที่ดีงามที่พวกเธอมอบให้ คงเป็นจริงกับคำกล่าวที่ว่า “หากอยากได้มิตรภาพจากใคร เราต้องมอบมิตรภาพที่ดีให้กับอีกฝ่ายก่อน”

ผมรอกระเป๋าที่มากับเรือ(ปกติจะใช้เวลาพอสมควรกว่ากระเป๋าจะมา เราถึงจะเดินออกไปรับกระเป๋าที่จุด 200 เมตร) แต่คราวนี้มาเร็วมาก คุณป้า(ที่ผมติดรถมาที่ท่าเรือ)มาบอกผมว่าให้ไปหยิบที่หน้าเต๊นส์ของเธอเพราะยกมาให้ผมแล้ว ผมยกมือขอบคุณกับความมีน้ำใจของเธอ(แต่น้ำดื่มกับมาม่าหายไปครับ คราวหน้าของกินถือติดตัวไว้ดีกว่านะครับ)

0 Comments:

Post a Comment

<< Home