Wednesday, April 11, 2007

Shark in a Desert Sea


ถ้าพูดถึงทะเลคอร์เตซ หลายคนอาจไม่รู้จักในขณะที่หลายๆคนอาจรู้สึกคุ้นๆเหมือนเคยได้ยินในรายการเกี่ยวกับสัตว์ อาจจะเป็นแดนสนธยา ,ปฐพีชีวิต, แอนิมอล แพลนเน็ตหรือ ดิชคอเวอรี่แชนแนล

ผมเองก็คุ้นๆครับ จนกระทั่งได้มาดูวีซีดีเกี่ยวกับทะเลที่ซื้อมาดอง( หลายเดือนแล้ว) ได้มาจากชั้นใต้ดิน เซ็ลทรัล ลาดพร้าวนี่เองครับ

ชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เป็นที่อยู่ของปลาหลากหลายชนิด “ฉลาม”(Shark) เจ้าปลากระดูกอ่อนที่ใครๆก็รู้จักกันดี เป็นหนึ่งในนั้น แถมเยอะเสียด้วยครับ


นักวิทยาศาสตร์ที่นี่พยายามค้นหาเส้นทางอพยพของ “ฉลามขาว”(Great White Shark) นักล่าผู้ทรงพลัง เพราะนอกจากจะพบเพศเมียแล้ว ยังค้นพบว่าได้พบเพศผู้ด้วย

แต่หากเปรียบเทียบกับ Megalodon แล้วยังถือว่าฉลามขาวยังตัวเล็กกว่ามากครับ สังเกตได้จากขนาดฟันที่ดูแล้ว ขนลุกขึ้นมาทันที

ทำให้นึกถึงนิยาย Megalodon ของอาจารย์ธรณ์ ที่ผมอ่านจบมานานแล้ว(สนุกมากครับ แม้จะเป็นนักดำน้ำแต่ก็ไม่ถึงขนาดกลัวฉลามจนไม่กล้าลงน้ำ) รอภาคจบว่า จะมาเมื่อไร(อยากอ่านใจจะขาดแล้วครับ)

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การที่ Megalodon สูญพันธ์อาจเป็นเพราะปลาที่เป็นอาหารอพยพไปอยู่ที่อื่น ทำให้ไม่มีอาหารกิน


อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ครับ ขนาดปลาซีลาแคนด์ สูญพันธุ์ไปก่อน Megalodon เสียอีก ยังมีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้(น่าจะเป็นที่ญี่ปุ่นนะครับ) เมื่อวานนี้ข่าวไอทีวี ก็ยังมีการค้นพบปลาฉลามพันธุ์เก่าแก่อีกสายพันธุ์

ส่วนตัวจึงเชื่อครับว่า Megalodon ยังมีอยู่ เพียงแต่อยู่ในที่ลึกมาก ไม่มายุ่มย่ามกับเราแน่นอนครับ

มาต่อครับ ที่ทะเลลาปาซ นักวิทยาศาสตร์ว่ายตามหลังฉลามวาฬ(Whale Shark)แสนเชื่องตัวหนึ่ง ที่กำลังอ้าปากกรองแพลงตอนเข้าสู่ปากและปล่อยออกทางเหงือกที่อยู่ด้านข้าง

ยักษ์ใหญ่ผู้ใจดี ออกลูกเป็นตัว เป็นขวัญใจของนักดำน้ำ ด้วยขนาดที่มหึมา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับทุกคนที่ได้เห็น

ที่หมู่เกาะเรวิลลากิเกโด ถิ่นกำเนิดของประชากรกระเบนราหู(Manta Ray)ฝูงใหญ่ที่สุดในโลก ว่ากันว่า กระเบนราหูมีขนาดสมองที่ใหญ่ ถือเป็นปลากระดูกอ่อนที่ฉลาดที่สุดในท้องทะเล(ผมไม่แน่ใจนะครับว่าใหญ่กว่าฉลามขาวหรือไม่)

แต่นักวิทยาศาสตร์ให้สังเกตเวลากระเบนราหูมาเล่นกับนักดำน้ำว่า หากเขารู้ว่า นักดำน้ำไม่เป็นอันตรายก็จะกลับมาว่ายเล่นกับนักดำน้ำอีกครั้ง บ่งบอกถึงความฉลาดได้ดี

กระเบนราหูกินอาหารโดยการกรองแพลงตอนเข้าสู่ปาก แผ่นหลังของกระเบนราหูนั้นหนามาก มีสัตว์เกาะติดประเภทปลา ติดตามไปด้วยตลอด(พอแกะออกหลังกระเบนราหูเป็นรอยช้ำเลยครับ)

นักวิทยาศาสตร์จึงเลือกที่จะติดชิพไว้ที่ปลายครีบที่ตั้งขึ้นเพราะเป็นจุดที่ไวต่อความรู้สึกน้อยที่สุด เพื่อศึกษาอีกหนึ่งสัตว์ทะเลที่ลึกลับ

การเดินทางของนักวิทยาศาสตร์สิ้นสุดที่เกาะซอคอร์โร ที่นี่มีฉลามครีบขาว(Whitetip Shark)และฉลามกาลาปากอส(Galapagos Shark)ที่ค่อนข้างอันตราย เคยจู่โจมนักดำน้ำมาแล้วด้วย

ปราดเปรียว รวดเร็ว จู่โจมเหยื่อภายในเวลาไม่กี่นาที

ท้ายสุดนี้ อยากจะบอกว่า ฉลามไม่น่ากลัวทุกชนิด บางชนิดรักสงบ เวลาเจอแล้วควรดีใจ มากกว่าตกใจนะครับ

0 Comments:

Post a Comment

<< Home