Sunday, November 05, 2006

โลซิน……มหัศจรรย์ใต้สมุทร(2)





2 กันยายน 2549

ผมนอนหลับเต็มที่ ตื่นแบบสบายๆ(ไม่ทันพระอาทิตย์ขึ้น) เช้านี้อากาศดีมาก ทะเลเรียบ ผมมองเห็นประภาคารตั้งตระหง่านอันเป็นเอกลักษณ์ของโลซิน ผมรู้ทันทีว่าประภาคารเปลี่ยนสภาพไปจากที่ผมเคยเห็นในรูป พี่หมีบอกว่าประภาคารถูกเรือขนาดใหญ่ชน จนส่วนยอดพังและจมสู่ใต้น้ำ

แดดกำลังออก เดินไปที่ด้านหน้าของเรือมีเบาะสำหรับให้นักดำน้ำนั่งหรือนอนชมวิว มีตระกร้าวางผลไม้ด้วย(อะไรจะราชาขนาดนั้น)

การตื่นสายแม้จะไม่ทันฟังพี่ป้อม Brief แต่ยังทันฟังพี่หมี Brief ผมถ่ายรายชื่อนักดำน้ำบน White Board เก็บเอาไว้ พร้อมกับ Dive Site โลซินด้วย

พี่หมีกับพี่ป้อมคุยว่า อากาศที่โลซินดีมากผิดกับทุกๆครั้งที่มักมีคลื่นลมแรง หากอากาศเป็นแบบนี้เราจะดำกันที่นี่ 7 Dive เลย ไม่ไปดำที่ลอปิ(ตู้รถไฟ) ซึ่งตรงนั้นจะน้ำขุ่นกว่ามาก ถ้าถามผม ผมไม่อยากไปไหนแน่นอนครับ มาก็ลำบาก อากาศก็ดี ทะเลก็สงบ หาไม่ได้อีกแล้ว

พี่หมี Brief ให้ฟังว่า เราอาจเห็นแมนต้าก็ได้ ที่นี่มีทากทะเลและปลาเยอะแยะ มีปะการังเขากวางมาก(สุดยอดมากครับ บางคนอาจไม่ชอบดูปะการังแต่ผมชอบครับ เพราะสามารถวัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลแถบนั้นได้ดี จะมีปลาที่อาศัยตามแนวปะการังมาก เมื่อมีความสมบูรณ์ความหลากหลายก็จะตามมาเอง) พี่หมีบอกอีกว่าที่นี่มีถุงปุ๋ยเยอะมากหากใครเจอถุงปุ๋ยขอความกรุณาให้เก็บขึ้นมาด้วย ถุงปุ๋ยนี้ปลิวจากเรือที่ขนทรายมาตอนมาก่อสร้างประภาคารที่โลซินนั่นเอง(คงพอนึกภาพออกนะครับ ขนาดถุงปุ๋ยยังปลิว บ่งบอกถึงสภาพอากาศได้ดี) ได้เวลาการลงไดฟ์แรกแล้ว ใครจะไปกับผมบ้าง ยกมือขึ้น!!!!!


Dive 1 ใสแบบนี้ มีได้ที่โลซิน!!!

ชุดของผมมีพี่ป้อม พี่ดิ้น น้องโอ๊ต พี่เท็น พี่หนิง พี่โอ๊บ พีและเจ แต่รวมๆแล้ว อยู่คนละชุดก็เหมือนอยู่ชุดเดียวกันเพราะบางครั้งเราดำกันแบบหน้ากระดานแถวตอน(อบอุ่นดี) ข้อดีของการดำแบบนี้ คือ เราสามารถเห็นเพื่อนและช่วยเหลือกันได้หากมีภัย ส่วนข้อเสียคงเป็นเรื่องการเห็นสัตว์ใหญ่ หากไม่โชคดีจริงๆ เราจะเห็นเขายากมาก(เขาจะตกใจ)

วินาทีแรกที่ผมเห็นโลกใต้ทะเลที่โลซิน(อยากจะอ้าปากตะโกนดังๆแต่กลัว Regulator หลุดครับ) น้ำใสมาก ผมไม่แปลกใจว่าเหตุใดหลายๆคนถึงเปรียบว่าหากสิมิลันน้ำใส โลซินก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเลย ผมโชคดีที่มาในช่วงที่ทะเลเรียบ แดดออก จึงเห็นโลซินในช่วงที่สวยที่สุด ผมเห็นด้วยกับพวกเขาจริงๆครับ

เมื่อลงไปประมาณ 10 เมตร นาฬิกาของผมเริ่มมีฟองอากาศเข้าพร้อมกับตัวเลขที่เลือนหายไป มีเสียงบอกลาว่า “ลาก่อนเจ้านาย ผมราคาถูก ที่เขียนว่ากันน้ำ 50 เมตร น่ะ กันน้ำเข้าแต่ไม่กันน้ำออกนะเจ้านาย”(ไม่ต้องมาเยาะเย้ย เจ้าคือ หนูทดลอง จำไว้)

ดงปะการังเขากวางมีขนาดกว้างใหญ่มาก บางจุดมีสีทองด้วย ดูสวยมากครับ ผมไม่เคยเห็นดงปะการังแบบนี้อีกเลยหลังจากที่เคยไปSnorkeling ที่เกาะตอรินลา อุทยานแห่งชาติหมุ่เกาะสุรินทร์(กลับไปตอรินลาตอนนี้ ก็คงไม่ได้เห็นแบบนั้นแล้วครับเพราะโดนสึนามิกวาดเรียบ ถ้าเป็นภาษาเขียนของอาจารย์ธรณ์ก็ต้องบอกว่า เหี้ยนเต้ครับ)

ด้านในดงปะการังเขากวางมีปลากะรังแดงจุดน้ำเงิน(Coral Rockcod) แม้พวกเขาจะไม่ได้อยู่ด้านบนสุดของห่วงโซ่อาหารแต่พวกเขาก็เป็นนักล่าตัวยงเช่นกัน(ดูหน้าตาซิ ไม่ใช่แววตาที่อ่อนต่อโลกแต่อย่างใด)

จากนั้นเทวดาแห่งอ่าวไทยก็ออกมาทักทายผม เขาคือปลาสินสมุทรวงฟ้า(Blue-Ringed Angelfish) เราจะพบเห็นพวกเขาได้บ่อยมาก คงไม่แปลกที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจะยกเจ้าวงฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของปลาสินสมุทรในอ่าวไทย

ที่ว่ายผ่านผมไป คือ ฝูงปลาหูช้างครีบยาว(Teira Batfish) หนึ่งในปลาที่นักดำน้ำชื่นชอบ ด้วยอุปนิสัยที่ขี้เล่น ไม่กลัวนักดำน้ำ ทำให้หูช้างเข้ามาอยู่ในใจของใครหลายๆคนอย่างรวดเร็ว

พี่หนิงกับพี่เอถ่ายรูปให้ผมด้วย พอกล้องมาถึงผมก็ต้องเก๊กไว้ก่อน(อย่าให้มีฟองอากาศมาบังหน้า) จากนั้นที่ด้านหน้าเราพบซากประภาคารจึงเข้าไปสำรวจ ประภาคารมีขนาดใหญ่พอสมควรเลยครับ(ไม่น่าตกมาเลยน้อง)

เมื่อพบถุงปุ๋ย ผมไม่รอช้าที่จะเก็บขึ้นมาทันที ส่วนใหญ่จะดึงขึ้นมาไม่ง่ายนัก(ต้องออกแรงนิดหน่อย) บางถุงจะติดปะการังมาด้วย(เอาเฉพาะถุงปุ๋ย ปะการังไม่ต้องเอาขึ้นมาจ๊ะ) ส่วนใหญ่จะเป็นปะการังข้าวซีด ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์ เอลนินโย่ (ปรากฎการณ์ที่น้ำทะเลเปลี่ยนอุณหภูมิครับ)(อยากรู้เรื่องปะการังมากขึ้น อ่าน STS ซิครับ จะได้ความรู้เยอะเลย)

ก่อนมาที่นี่ผมพยายามศึกษาเรื่องปลาสลิดหิน(Damsel Fish)และปลานกขุนทอง(Wrasse)ให้มากขึ้น(จะได้ไม่มองข้ามพวกเขาอีกต่อไป)(ยกเว้นปลาตละกละอย่างสลิดหินบั้งและปลานกขุนทองเขียวพระอินทร์อันนั้นรู้จักดีอยู่แล้วจ้า) และแล้วผมก็สามารถจดจำพวกเขาได้ซะที ผมพบปลาสลิดหินกลมสีทอง(Golden Damsel) ปลาสลิดหินสามจุด(Three-Spot Dascyllus) ปลาสลิดหินดำหางส้ม(Philippine Damsel) ปลานกขุนทองอกแดง(Redbreast Wrasse)

นอกจากนั้นผมพบปลาสลิดทะเลที่ชื่อว่า Fox-Face Rabbitfish(Lo Vulpinus) ปลาสลิดทะเลแถบ(Java Rabbitfish) ปลานกแก้ว(Parrot Fish) ปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-Banded Buttelflyfish)ปลาขี้ตังเบ็ด(Surgeonfish) ปลาโนรีครีบยาว(Longfin Bannerfish) และที่ลืมไม่ได้ก็คือ ดาวมงกุฎหนาม(Crown-of-Thorns)ศัตรูตัวฉกาจของปะการังก็มากับเขาด้วย

ขึ้นมา พี่หมีเล่าให้ฟังว่ามีคนเจอแมนต้า ตอนพวกเราขึ้นมาพอดี(โอ้ โชคดีมาก) แม้ผมจะไม่เจอทากทะเล (Sea Slug)ปลาปักเป้ากล่อง(Yellow Box Fish) แต่ก็ประทับใจกับความใสของน้ำทะเลมาก ขนาดตอนอยู่ใต้น้ำพี่โอ๊บยังเห็นผมชัดเจนเลยว่า ถือถุงปุ๋ยอยู่(แกสงสัยอยู่ตั้งนานว่า ผมถือถุง ถือไป ถือมา ทำไม)

ข้าวต้มหมูเป็นอาหารเติมพลังในช่วงเช้า ผมรู้สึกไม่ค่อยสดชื่น เคลียร์หูลำบาก จึงกินแอคติเฟดเข้าไปด้วย พร้อมหาที่นอน ก่อนที่จะลงในไดฟ์ต่อไป


Dive 2 ปลาอะไรเอ่ย มีขากรรไกรยืด-หดได้

เราเปลี่ยนจุดลงมาอีกด้านหนึ่งของกองหิน น้ำใสมีแนวปะการังที่สมบูรณ์มาก พบปลาการ์ตูนอินเดียนแดงและดอกไม้ทะเล(Pink Anemonefish and Sea Anemone) ผมเคาะ Pointer ชี้ให้พีดูปลาปักเป้าลำตัวสีดำ ตัวหนึ่ง น่าเสียดายที่ผมจำลักษณะไม่ได้มากนัก

ปากยื่นปากยาว ตัวนี้ผมสงสัยในชื่อภาษาอังกฤษที่โปสเตอร์ในห้องและที่ Under Water world มานานว่า Sling-Jaw นี่มันคือปลาอะไรหนอ? ในที่สุดผมก็ได้คำตอบที่โลซินนี่เอง พวกเขาชื่อปลานกขุนทองปากยื่น(SlingJaw Wrasse) ที่นี่พวกเขาสีสวยครับ(สวยกว่าที่เห็นในอควอเรี่ยมเยอะ) จุดเด่นที่ชื่อนี้เพราะเขามีขากรรไกรที่ยาว สามารถยืด-หดได้ด้วย แม้ผมเคยดำน้ำที่สิมิลันเพียงครั้งเดียวแต่ผมก็กล้าบอกได้ว่า เราพบปลานกขุนทองปากยื่นที่นี่บ่อยมากไม่แพ้ที่สิมิลัน(พบบ่อยกว่าตอนที่ผมไปสิมิลันเยอะ) พูดถึง Wrasse ผมยังพบ ปลานกขุนทองอกแดง(Redbreast Wrasse)และปลานกขุนทองหลังขีด(Vrolik’s Wrasse) อีกด้วย

พีชี้ให้ผมดูปลาชนิดหนึ่งบนผิวน้ำ ผมเคาะ Pointer และชี้ขึ้นไปทันที(เจ้าตัวก็มารู้ภายหลังครับ ว่าหายาก) เขาคือปลาสาก(ฺBaracuda) มีฟันแหลมคมเป็นหนึ่งในนักล่า(และถูกมนุษย์ล่าเช่นกัน) คราวนี้เขามาเดี่ยวซะด้วยหลังจากที่ผมเคยเห็นพวกเขาแล้วในการดำสน็อคเกิ้ลที่เกาะสต๊อค อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์(คราวนั้นมาเป็นฝูงอยู่ไม่เกิน 5 เมตร มองลงไปน่ากลัวมาก) น่าเสียดายว่าคราวนี้ระยะห่างไกลมากจนผมไม่รู้ว่าพวกเขาคือปลาสากชนิดไหนกันแน่(กว่าจะตีฟินขึ้นไป ปลาคงอยู่ให้ผมดูหรอกนะ)

ต่อไปเป็นปลาผีเสื้อลายเส้น(Lined Butterflyfish)ที่พบเฉพาะในทะเลอันดามันแต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ที่โลซิน ผมพบพวกเขาที่นี่(ตรงกับข้อมูลของ อ.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ที่ระบุว่าพบปลาผีเสื้อชนิดนี้ที่นี่ครับ) นอกนั้นก็เป็นปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-Banded Buttelflyfish) ที่พบในทุกสภาพของน้ำ(ไม่ว่าจะใสหรือขุ่น)อยู่แล้ว

เทวดามาโปรดอีกแล้วครับ คราวนี้เจ้าเก่าอย่าง ปลาสินสมุทรวงฟ้า(Blue-Ringed Angelfish)ก็ออกมาให้ยลโฉมอีก ส่วนอีกตัวผมเคยพบครั้งแรกที่อันดามัน(ตัวใหญ่เชียวครับ) พวกเขาชื่อว่าปลาสินสมุทรลายบั้ง(Six-Banded Angelfish) ลำตัวสีไข่ไก่กับลายบั้งเป็นเอกลักษณ์เด่น เห็นแล้วก็จำได้ทันที

ฝูงปลาข้างเหลืองทำเอาผมตะลึงกับความยิ่งใหญ่แห่งท้องทะเล พวกนี้คือปลากล้วยแถบเขียว(Blue and Gold Fusilier)และปลากล้วยหลังเหลือง(Yellow-Back Fusilier) แต่ไปๆมาๆชักหิวข้าวซะแล้วล่ะ(กินอะไรดี) ฝูงปลากลางน้ำยังไม่หมดครับ เจ้าปลามงตาโต(Bigeye Trevally) แม้ไม่มาเป็นฝูงใหญ่แต่ก็ทำเอาตื่นตาตื่นใจได้ล่ะ

ท ทหาร แถวตรง เจอทีไร มักจะอยู่เป็นระเบียบเสมอ(ไม่ใช่คุณระเบียบรัตน์)พวกเขาคือ ปลากระรอกลายแดง(Redcoat) หากใครรักท่าทางที่เป็นระเบียบ อาจหลงรักพวกเขาก็ได้ครับ

ผมสงสัยอีกล่ะ(ช่างสงสัยจังวุ้ย) ทำไมลงมาไม่ค่อยเจอปะการังอ่อนสีแดงเลย วันนี้ก็เจอปะการังอ่อนสีม่วง จึงได้ความว่าเวลาแสงแฟลชกระทบทำให้ปะการังอ่อนมีสีแดง ที่เราไม่เห็นเพราะเวลาอยู่ลึกๆสีแดงจะหายไปนั่นเอง(จบมาได้ไงเนี่ย แค่นี้ก็ลืม เดี๋ยวไล่ไปทำข้อสอบใหม่ซะเลย)

ผมยังคงเพลิดเพลินกับความสวยงามที่โลซิน มีสัตว์ทะเลอีกมากที่ดึงดูดใจผม ปลานกแก้ว(Parrot Fish)กับปลาพยาบาล(Bluestreak Cleaner Wrasse) ปลาสลิดทะเลที่ชื่อว่า ( Fox-Face Rabbitfish(Lo Vulpinus) ปลาสลิดทะเลแถบ(Java Rabbitfish) ปลาสลิดหินกลมสีทอง(Golden Damsel) ปลาสลิดหินสามจุด(Three-Spot Dascyllus) ปลากะรังลายนกยูง(Peacock Grouper)ปลาโนรีครีบยาว(Longfin Bannerfish) ปลาโนรีครีบสั้น(Singular Bannerfish) ปลาขี้ตังเบ็ด(Roundspot Surgeonfish) และดาวมงกุฎหนาม(Crown-of-Thorns)

จะเห็นได้ว่าโลกใต้ทะเลที่นี่สุดยอดจริงๆ ผมยังได้ถุงปุ๋ยมาอีก 1 ถุง คราวนี้ผมดำนานเกินไป(เพลิน) จนพี่เอ พี่ป้อม พี่ดิ้น พี่เทน พี่นัท เตือน(เขาจะขึ้นกันหมดแล้ว) แบบนี้บ่อยๆไม่ดีครับ ผมยอมรับว่าผิด ไดฟ์หน้าจะระวังตัวให้มากกว่านี้ครับ เพื่อความปลอดภัย

ข้าวเที่ยงวันนี้มีก๋วยเตี๋ยวปีกไก่ พี่ตั้มก็บริการดีมากเสริฟน้ำให้ตลอดเลย(ผมเชื่อในการบริการแล้ว) ถึงตอนนี้แต่ละคนหามุมส่วนตัวพักผ่อน บางคนก็ดูโทรทัศน์แต่ส่วนใหญ่เลือกที่จะนอนมากกว่า