Thursday, July 13, 2006

สู่หมายไกล….ทะเลพัทยา(3)


Dive 3 สวัสดี เพื่อนเก่า ชื่อ ซีมอส!!!

จะเห็นได้ว่า เรือลำอื่นๆมาหลบคลื่นลมที่นี่ทั้งนั้น(สมควรแล้วครับ เพราะที่นี่มีผาหินกำบัง น้ำนิ่งจริงๆ ชอบมากเลยวุ้ย)

ด้านล่างผมดำตามพื้นทรายอย่างช้าๆกวาดสายตาไปรอบๆ พี่ป้อมชี้ให้ดูเพื่อนเก่าของผมซึ่งไม่ได้เจอกันหลายเดือนแล้ว ดูกี่ทีก็ยังคงความน่ารักไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขา คือ ซีมอส มีชื่อแบบไทยๆว่าปลาผีเสื้อกลางคืน อยู่ในสกุล Pegasus(คนละตัวกับปลาผีเสื้อกลางคืนในอันดามันนะครับ ตัวนั้นจะชื่อ Short Dragonfish อยู่ในสกุล Pegasidae) ปากมีลักษณะคล้ายปลาจิ้มฟันจระเข้(มีลักษณะยาวเป็นท่อ) ลำตัวไม่เกิน 7 ซม มีปีก 2 ข้าง กางออกเหมือนผีเสื้อ ส่วนหางตรง ผมว่าพวกเขานี่ล่ะ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของทะเลแถบนี้จริงๆ

ต่อไปเป็นปลาลิ้นหมา(Flounder) ที่ดูกลมกลืนกับพื้นทรายมาก เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพวกเขา(ภูมิใจมาก) เสียดายว่าเคาะ pointer แต่ไม่มีใครมาดู เพราะเริ่มไปกันไกลแล้ว แถมน้ำก็ขุ่น(ประมาณ 1- 2 เมตร ก็จะไม่เห็นกันแล้ว) ผมจะมาอยู่นานไม่ได้เหมือนกัน จึงตีฟินตามกลุ่มไปต่อ

ด้านหน้ามีกอแส้ทะเล(Sea Whip)เล็กๆที่ตายแล้วอยู่ ใครจะไปรู้ว่ามีม้าน้ำ(Sea Horse)อยู่ด้วย เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมผมถึงจ้องดูเขานานๆ ก่อนจะตามกลุ่มไป เขาเกาะแส้ทะเลอยู่นิ่ง เหมือนเด็กดูดนมแม่ยังไงอย่างนั้นเลย (สุดแสนจะน่ารัก)

มีซากยางรถยนต์อยู่ด้านหน้ามีปลาหมึกยักษ์(Octopus)อยู่ด้วย เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่เห็นเขา ผมเห็นแค่หนวดเขาเท่านั้นครับ เพราะดูเขาจะตื่นกลัวเรามากทีเดียว จะใช้วิธียกยางรถยนต์ออกมาเพื่อดูเขาก็จะเป็นการรบกวนเกินไป(แต่ผมลองจับที่หนวดเขา ลื่นมากครับ)

ก่อนขึ้นพบปากกาทะเล(Sea pen)ขนาดใหญ่ มองอีกด้านหนึ่ง ผมพบเพื่อนเก่าอย่าง ปลาวัวหนาม Fan-bellied leatherjacket(Filefish) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Monacanthus chinensis น่าเสียดายตอนผมเคาะแท็งค์ คนอื่นๆกำลังจะขึ้นสู่ผิวน้ำ เลยไม่มีใครมาดูกัน

อาหารกลางวันเป็นน่องไก่ทอด แพนงหมู ไข่เจียว ต้มยำกุ้ง อร่อยทุกอย่างจริงๆ ขึ้นมาไดฟ์นี้ ผมเกทับกับคนอื่นๆได้ เพราะเห็นอะไรๆเยอะ กว่าไดฟ์ก่อนๆ


Dive 4 เลียบพื้นทรายกับท่ากบ!!!!

ไดฟ์นี้เราจะลงกันที่เกาะล้าน(บริเวณใต้สะพาน) ก่อนลงไดฟ์นี้ พี่เอแนะนำผมว่าเวลาว่ายเลียบพื้นทรายไม่ควรโบกฟินขึ้นลง แต่ควรใช้ท่ากบทรายจะได้ไม่ฟุ้ง(ผมเห็นด้วยและจะทำตามอย่างแน่นอน ไม่อยากให้ทรายฟุ้งครับเดี๋ยวคนอื่นๆจะลำบาก)

ด้านล่างบริเวณเสา ผมพบปลาวัวหนาม Fan-bellied leatherjacket(Filefish) ดูจะเป็นธรรมดาสำหรับที่นี่เพราะพบได้บ่อยจนคนอื่นๆไม่ค่อยจะแปลกใจกันแล้ว แต่ผมยังพยายามมองเขานานๆเพราะหวังจะสังเกตพฤติกรรมของเขาให้มากขึ้น

ต่อมาพี่ป้อมเรียกให้ผมดู ปลาจิ้มฟันจระเข้หางพัดหรือปลาจิ้มฟันจระเข้สีเพลิง(Gans ‘ s Pipefish) เพื่อนเก่าของผมที่ยังมีความสุขอยู่ดีเสมอ ตราบเท่าที่มนุษย์อย่างเรา ไม่รบกวนเขามากจนเกินไป(เคยได้ยินเรื่องที่ อ. ธรณ์เล่าให้ฟังว่า มีลูกศิษย์ของแกคนหนึ่งอยากจะถ่ายภาพของ Gans ‘ s Pipefish เลยใช้มือไล่มันเพื่อให้อยู่ในแอคชั่นที่เหมาะสม โดยมีเจตนาดี ไม่มีเจตนาร้าย แต่พอหันไปอีกทีเขาอยู่ในปากของปลาเก๋าขนาดย่อม นี่เป็นตัวอย่างสะท้อนได้ดีครับ)

ผมรู้สึกว่าพอใช้ท่ากบแล้ว ตัวอยู่ใกล้พื้นทรายมากและทรายไม่ฟุ้งด้วย ลอยตัวได้อิสระ(ต้องขอบคุณ พี่เอมากๆครับ)

รูปร่างเป็นริ้วๆ สีสัม มีขนาดเล็กมาก อยู่ด้านล่างที่ขยับไปมา คือ หนอนตัวแบน(Flat Worm) เวลาเขาขยับตัวจะรู้สึกว่าเหมือนกำลังเต้นระบำอยู่ สวยงามดีครับ

แมงกระพรุน(Jelly fish) ด้านล่าง ผมก็พอเห็นอยู่ ทราบภายหลังว่าที่เขาจ้องดูกันนั้น คือ มันกำลังถูกปลารุมกินโต๊ะต่างหาก(ผมเคยเห็นแล้ว ไม่นานมานี้ที่ จ.กระบี่ ครับ)

เจ้าปลากระรอกลายแดง(Redcoat)แอบนิ่งอยู่ริมเสา มีปลาผีเสื้อปากยาว(Beak Buttelflyfish) ว่ายผ่านไปเป็นคู่ และยังมีปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Buttelflyfish) อยู่ใกล้ๆด้วย

ที่ว่ายผ่านไปช้าๆ คุ้นหน้าคุ้นตากันดี คือ ปลาปักเป้าหนามทุเรียน(Porcupinefish)

ฝูงปลาบนผิวน้ำ หลายร้อยตัว ยังคงเย้ายวนใจให้ผมแหงนหน้าขึ้นไป แม้สภาพน้ำจะไม่ใสนัก แต่นี่ คือ ความมหัศจรรย์ที่ใครไม่ได้ลงมา คงไม่ทราบหรอกครับ(ฉะนั้น มาเรียนดำน้ำกันนะครับ)

เป็นครั้งแรกที่ผมขึ้นคนเดียว เนื่องจากดูปลาเพลินไปหน่อย แต่ผมก็รู้ตัวเองว่า คนอื่นๆที่อยู่ใกล้ๆขึ้นไปแล้ว จึงขึ้นไม่ห่างจากเขามากนัก และไม่ขึ้นเร็วจนเกินไป รอเวลาทำ safety stop(แม้จะไม่ลึก จะไม่ทำก็ได้แต่ผมก็ยังจะทำอยู่) คิดในใจว่า คราวหน้าหานาฬิกาถูกๆ เอาลงน้ำได้มาใช้ดีกว่า(ไดฟ์คอม ไม่ไหวครับ แพงมาก)


Dive 5 Wet Suit ป้องกันภัย!!!!

กลุ่มพี่โก้ น้องนก พี่ฝ้าย ยังไม่ทันขึ้นมา พี่ป้อมก็ให้พวกเราเปลี่ยนแท็งค์อีกถัง เพื่อลงไปด้านล่าง พี่เอและหลายๆคนยังไม่เห็นเจ้าปลาจิ้มฟันจระเข้หางพัดหรือปลาจิ้มฟันจระเข้สีเพลิง(Gans ‘ s Pipefish) พี่ป้อมจึงจะพาไปดู ผมจึงรีบเปลี่ยนแท็งค์แต่ก็ยังช้ากว่าคนอื่นๆอยู่ดี (รอคุณลุง ด้วยนะพี่ๆน้องๆ)

กลุ่มของปลาผีเสื้อที่ครองอาณาเขตอย่างเหนียวแน่นในทะเลแถบนี้ก็ออกมาให้ยลโฉมอีกครั้ง คือ ปลาผีเสื้อปากยาว(Beak Buttelflyfish) และปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Buttelflyfish)

มีแผนที่อยู่ด้านล่าง ผมจึงลงไปเก็บ ปรากฎว่าเป็นการโฆษณาขายบ้าน(แป่ว!!) จะเก็บขึ้นมาทิ้งด้านบนกระดาษก็ยุ่ยจนเกินไป หลุดไปหมดเลย

ปลาปักเป้าหนามทุเรียน(Porcupinefish) ขนาดใหญ่(มาก) อยู่เลียบพื้นทราย ดวงตาแป๋ว ไร้เดียงสาเหมือนเด็กประถมเลย(รู้ได้ไงเจ้า คนเขียน เดี๋ยวนี้เด็กประถมบางคนไม่ไร้เดียงสาแล้วนา) ผมเคาะ pointer ให้สมาชิกทราบ นี่ คือ รูปร่างที่ปกติของเขา และผมไม่อยากเห็นในอีกรูปร่างหนึ่งเสียด้วย(รูปร่างที่พองแล้วมีหนาม) นั่นหมายความว่าพวกเขากำลังหวาดกลัวหรือมีภัยร้ายเข้ามา(ทราบหรือไม่ว่า การพองตัวของปลาปักเป้า จะทำให้เขาเสียชีวิตได้)

ผมเห็นน้องโอ๊ตเก็บขวดมา เลยแซวเอา pointer ไปตี(เคยเห็นพี่นกใช้ pointer ฟันกับพี่ป้อมท่าทางหนุกดีครับ) ตีไป ตีมา ตัวผมมาอยู่บนเม่นทะเล(Sea urchin) เลยรีบกลับตัวแต่ก็ไม่ทันครับ โดยแทงเข้าไปแต่ไม่ถึงกับฝังใน(Wet Suit ใหม่ ช่วยได้มากครับ เป็นคำตอบที่ดีว่าถึงจะถอด-ใส่ยาก แต่มีประโยชน์มากจริงๆ) ขนาดโดนนิดเดียว ขาผมยังแดง รู้สึกเจ็บบริเวณเข่าด้วยครับ

อีกข้อ คือ ผมไม่รู้สึกหนาวอีกเลย เวลาอยู่ด้านล่าง Wet Suit ยาว ช่วยผมให้อุ่นมากครับ หนาตั้ง 2.5 มิลลิเมตรแน่ะ ฮ่าๆๆๆๆ

สิ้นสุดการท่องโลกใต้สมุทรในทริปนี้ เรากลับมาอาบน้ำที่โรงแรม ก่อนที่จะมารับประทานอาหารเย็นที่ร้าน “ป ปลา อยู่เย็น” ผมไม่ลืมที่จะให้สมาชิกใหม่(สำหรับผม) ในการเดินทางเขียน Log Book ไม่ว่าจะเป็นพี่เท็น ปรมาจารย์ไพ่ยิบซี , น้องนก สาวหมวยออแกไนเซอร์ ,พี่เต้ลูกเจ้าของร้านทองใน อ บ้านโป่ง(ผมตาไม่ถึงครับพี่มองของดีเป็นสแตนเลต ฮ่าๆๆ) ,น้องจ๊อบหนุ่มผมยาว ช่างพูดมากกว่าที่คิดไว้(ใครไม่ทราบคงคิดว่าจ๊อบไม่ค่อยพูด) และพี่มิ้ง 140 กิโล(ขับปลอดภัย) ผู้ใจดีพาผมมาถึงที่หมายได้ทันเวลาบอลโลก เป็นต้น

ต่างคน ต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตน และจะกลับมารวมตัวอีกครั้ง(เมื่อชาติต้องการ) ผมยังย้ำเสมอว่าทะเลภาคตะวันออกนี้ มีของดีให้ดูมากกว่าที่คิดเยอะ หากคุณเป็นนักดำน้ำที่รักการแสวงหาสัตว์ทะเลทุกชนิด ไม่ควรพลาดที่จะมา แม้จะมีอุปสรรคบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพน้ำและคลื่นลม หากคุณมองว่านี่ คือ เสน่ห์ ไม่มองว่าเป็นความเบื่อหน่าย การดำน้ำของคุณจะมีความสุขมากขึ้น

ขอขอบคุณที่ติดตามงานเขียนของข้าพเจ้า เจอกันทริปหน้าครับ!




Kasab

Phop Payapvipapong

11 july 2006

17.13 pm

0 Comments:

Post a Comment

<< Home