Wednesday, June 14, 2006

กระบี่….มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน (3)




เกาะปอดะ

ภูเขาหินปูนด้านหน้า คือสัญลักษณ์ของเกาะปอดะ เมื่อมีแสงแดดตัดกับสีน้ำทะเลแบบอันดามันใต้แล้ว(เขียวมรกต) เธอยังสวยงามไม่เปลี่ยนแปลงจริงๆ หากยังนึกไม่ออกลองนึกถึงโฆษณา DTAC ดูก็ได้

เราลงมาถ่ายภาพก่อนจะออกมาดำน้ำ ผมไม่มีชูชีพ(เอาเข้าไป บนเรือดันมีไม่พอ)เห็นน้ำนิ่งๆ จึงออกไปว่ายดู ผลปรากฎว่าผมยังไม่ชินกับสน็อคเกิ้ลอันใหม่กินน้ำไปหลายอึก แถมไม่มีชูชีพเหนื่อยเป็นบ้า กลับฝั่งดีกว่า

ผมเดินขึ้นไปที่Poda Island Resort เพื่อขอเช่าชูชีพ สอบถามราคาแล้ว อยากจะถามว่า “ปล้นกันดีกว่าไหมพี่” เพราะต้องเสียค่ามัดจำ 1,000 บาท แน่ะ

แมงกระพรุนเยอะมาก เยอะจนน่าตกใจ แต่ผมก็ไม่กลัวเพราะอย่าไปโดนหนวดของพวกเขาเป็นอันใช้ได้ หากเป็นแมงกระพรุนไฟ สีจะออกชมพูต้องระวังให้มากขึ้นนะครับ

ในที่สุดผมก็ได้ชูชีพ โดยพี่คนเรือยืมให้จากเรือข้างๆ เท่านี้ผมก็สามารถลงไปสำรวจใต้ท้องทะเลอย่างสบายใจมากขึ้น

ปลานกแก้ว(Parrot Fish) ฝูงใหญ่ กำลังกัดกินก้อนปะการังอย่างเอร็ดอร่อย ฟันที่คมขนาดกันก้อนปะการังแข็งๆจนกร่อนนั้น หากเป็นมือคนก็คงไม่ใช่เรื่องยาก โชคดีว่ามนุษย์อย่างเราไม่ใช่อาหารของพวกเขา

จากนั้นปลาสลิดทะเลแถบ(Java Rabbitfish) ว่ายผ่านไป ผมจำลักษณะได้ดีเพราะเห็นที่สัตหีบมาแล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นที่อันดามันครับ(อาจเคยเห็นมานานแต่ไม่รู้จักครับ)

ต่อไปเป็นปลาสลิดทะเลโฉมงาม(Magnificient rabbitfish) รูปร่างของพวกเขาทำให้ผมนึกถึงยานอวกาศหรือไม่ก็เป็นหุ่นยนต์เป็นอันดับแรก ลองสังเกตสีสันของพวกเขาดีๆแล้วกันครับว่าจะคิดเหมือนผมไหม

ผมว่ายออกไปเรื่อยๆ จนเห็นแนวปะการังชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับว่ายหลบแมงกระพรุนเป็นระยะๆ ผมสังเกตเห็นว่าปะการังพังไปเยอะ เมื่อเปรียบเทียบจากครั้งก่อนที่ผมมา เป็นผลพวงจากคลื่นยักษ์สึนามิอย่างไม่ต้องสงสัย(เมื่อสอบถามภายหลังจึงทราบว่า ที่นี่ก็โดนเหมือนกันครับ)

ลูกปลาโนรีครีบยาว(Longfin Bannerfish) ที่วัยเด็กครีบจะสั้น ว่ายไล่กันเอง หากไม่สังเกตดีๆอาจคิดว่าเป็นโนรีครีบสั้นแต่จริงๆสีสันของพวกเขาต่างกัน สามารถแยกลักษณะได้ง่ายครับ

พระเอกนีโม คือ ปลาการ์ตูนส้มขาว(Crown Anemonefish)ของเรายังหลงเหลืออยู่ที่นี่ แม้จะไม่มากเท่าคราวก่อน แต่พฤติกรรมของพวกเขาเวลาอยู่กับดอกไม้ทะเล(Sea Anemone) ทำเอาใครต่อใครหลงรักมานักต่อนักแล้ว

ปลาผีเสื้อคอขาว(Collared Butterflyfish) มาเป็นคู่ ตัวนี้ผมคุ้นเคยดี แยกชนิดได้ง่าย ส่วนอีกตัว คือ ปลาผีเสื้อลายเส้น(Lined Butterflyfish)หากไม่สังเกตดีๆจะแยกไม่ออกครับเพราะเหมือนๆกันไปหมด ผมไม่ได้เอาแผ่นปลาลงไปจึงพยายามจดจำรายละเอียดให้มาก เมื่อบวกกับข้อมูลที่พบได้ในทะเลอันดามันเท่านั้น จึงเป็นพวกเขาอย่างแน่นอนครับ

ปลานกขุนทองเขียวพระอินทร์(Moon Wrasse) ชนิดนี้มีสีน้ำตาลปนอยู่ด้วย แต่ไม่ทำให้ผมหลงในสีสันจนแยกชนิดไม่ออกอย่างแน่นอน ต่อมาเป็นปลากล้วยหลังเหลืองหรือบางคนก็ชอบเรียกปลาข้างเหลือง(Fusilier)(ข้างเหลือง คนไทยมักจะใช้เรียกปลากล้วย อีกชนิดคือ ปลากระพงเหลืองลายฟ้าและปลากระพงเหลืองห้าเส้น ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Snapper นั่นแหละครับ)

สุดท้าย คือ ปลาสลิดหิน(Damsel Fish) ซึ่งผมยอมรับว่า ผมมีความรู้แค่หางอึ่ง ยังจำพวกเขาได้ไม่เก่งนักแต่ดูจากรูปร่าง ครีบ ลักษณะลำตัว ผมมั่นใจว่าเป็นพวกเขาแน่นอน ส่วนปลาสลิดหินอีกชนิดที่เรียกว่า ปลาสลิดหินลายบั้ง(ปลาตะกละ) ผมจำได้ไม่ลืม ชอบมากินขนมปังและไล่ปลาประจำถิ่นออกไป เมื่อปลาประจำถิ่นอย่าง ปลาสิงโต ถูกไล่ออกไปจากแนวปะการัง พวกเขาก็จะตายลง

ผมพยายามที่จะบอกพี่คนเรือว่าให้ช่วยบอกเจ้าของชูชีพว่า ผมขอยืมแล้วจะนำมาคืนเมื่อใช้เสร็จ พี่คนเรือบอกเซย์ โน ท่าเดียว (ไม่รู้จะขี้งก ไปทำไม แต่อย่างว่า เขาคงกลัวชูชีพหาย)

เรามุ่งหน้าสู่จุดดำน้ำ จุดต่อไป คือ เกาะด้ามหอก ด้ามขวาน ชาวเรือจะเรียกว่า เกาะไก่ จุดดำน้ำนี้ ผมไม่ค่อยได้ดำเท่าไร ในครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เพราะคลื่นแรงมาก มาในคราวนี้ ผมหวังว่าจะได้เห็นอะไรมากขึ้นที่นี่

เกาะด้ามหอก ด้ามขวาน

สน็อคเกิ้ลของกอลฟ์ไม่ค่อยดีเท่าไร ผมจึงให้สน็อคเกิ้ลของผมให้มันยืม(ใช้สลับกัน) จึงอยากจะบอกทุกท่านที่รักการดำน้ำ แล้วมาเที่ยวทะเลบ่อยๆว่า ควรซื้อเก็บเป็นของส่วนตัว นอกจากขนาดหน้ากากจะพอดีกับหน้าเราแล้ว สามารถตัดปัญหา น้ำเข้าได้อีกด้วย(บางคนซื้อมาแล้ว ยังเข้าอีก ถือว่าโชคไม่ดีครับ)

สาวๆอย่างพี่ดา พี่นา พี่นุช ดูจะมีความสุขกับการให้ขนมปังปลาสลิดหินมาก พี่จัดกับพี่ดนัยก็เช่นกัน ผมถ่ายรูปเสร็จก็ลงไปสำรวจด้านล่างบ้าง

ปลานกแก้ว(Parrot Fish) ขนาดใหญ่ว่ายผ่านไปช้าๆ แม้จะเป็นปลาที่ดูธรรมดามาก แต่การสังเกตพฤติกรรมของปลา คือ สิ่งที่ผมพยายามค้นหา เพื่อที่จะได้มีข้อมูลมาเล่าสู่การฟังให้มากขึ้น

ต่อมา คือปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish) ที่ผมเจอบ่อยในฝั่งอ่าวใทย ในคราวนี้เขามากับปลาผีเสื้ออันดามันหรือปลาผีเสื้อเหลืองปานดำ(Andaman Butterflyfish) ซึ่งผมลอยตัวสังเกตอยู่นานเพื่อที่จะไม่ผิดพลาด หากไม่สังเกตดีๆเขามีส่วนคล้ายกับปลาผีเสื้อหยาดน้ำตา(Teardrop Butterflyfish) และคล้ายกับปลาผีเสื้อเบนเนต(Bennett’ s Butterflyfish)

ปลาผีเสื้ออีก 1 ชนิด ที่มาเยี่ยมเยียนผม คือ ปลาผีเสื้อลายเส้น(Lined Butterflyfish) จากนั้นก็เป็นปลาสลิดทะเลแถบ(Java Rabbitfish)

ปิดท้ายด้วยปลาผีเสื้อเทวรูป(Moonrish Idol) รูปร่างคล้ายปลาผีเสื้อ ซึ่งจริงๆเขาไม่ได้อยู่ในครอบครัวของปลาผีเสื้อแต่อยู่ในอีกสายพันธุ์หนึ่ง คนดูปลาแรกๆอาจสับสนกับปลาโนรี(Longfin Bannerfish)แต่หากสังเกตดีๆที่ปาก ปลาผีเสื้อเทวรูปปากจะเหมือนเป็นแผล ถ้าอยากดูง่ายๆไปดูหนังเรื่อง Finding Nemo แล้วจะเข้าใจเองครับ

สรุปแล้วมาในคราวนี้ ผมรู้สึกเห็นอะไรมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะว่าผมมีความรู้เรื่องสัตว์ทะเลมากขึ้น ก็เป็นได้

ต่อไป เรือจะพาเราไปจอดที่ทะเลแหวก ดำน้ำ เดินเล่น พักผ่อนและตามอัธยาศัย


ทะเลแหวก

เราจะคุ้นเคยกับภาพเกาะ 3 เกาะ(เกาะไก่ เกาะทับ เกาะหม้อ)โดยมีสันทรายเชื่อมต่อกัน จนเห็นเหมือนทะเลแหวก(Unseen Thailand) จริงๆแล้วทะเลแหวกจะมีในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ หากมา ช่วงน้ำขึ้น น้ำจะอยู่บริเวณหัวเข่า

ในวันนี้เป็นช่วงน้ำขึ้นพอดี หลายๆคนเริ่มบ่นว่าอยากเห็นทะเลแหวก ส่วนผมรู้สึกเฉยๆเพราะเคยเห็นมาแล้ว พี่คนเรือบอกว่าจะเริ่มแหวกบ่ายโมง(ขณะนั้น 11 โมงกว่า) พอลองคิดดูจึงเริ่มถึงบางอ้อ นี่เรามาในช่วงวันวิสาขบูชา(ก็15 ค่ำนี่หว่า)

ข้อดีของเรือเหมาลำ เราสามารถอยู่ในจุดไหน นานแค่ไหนก็ได้ หากเป็นเรือแบบ มากับคนอื่นๆ จะอยู่ในจุดต่างๆได้ไม่นานมากนัก จึงได้ข้อสรุปว่า เราจะอยู่กันที่นี่จนกว่าทะเลจะแหวกจนเห็นสันทรายและเดินผ่านไปได้

ทะเลแหวกในวันนี้ แม้คราคร่ำไปด้วยผู้คน กลับเงียบสงบ ผมเดินถ่ายรูป ยกกล้องขึ้นสูง มีเพียงเสียงคลื่นเอื่อยๆ เข้ามาในหูผมเท่านั้น(อ่อ ระวังแมงกระพรุนด้วยล่ะ ต้องใช้คำว่ามหาศาลเหลือเกิน)

พวกพี่ๆต่างไปนั่งพักบนเกาะ รับประทานอาหารกลางวัน บนนั้นมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่ด้วย ส่วนผมสวมหน้ากากและชูชีพ ออกไปสำรวจสัตว์ทะเลเพียงลำพัง

ขบวนการปลาผีเสื้อออกมาให้ผมยลโฉม เริ่มตั้งแต่ปลาผีเสื้อคอขาว(Collared Butterflyfish) ปลาผีเสื้อลายเส้น(Lined Butterflyfish) ปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish) ปลาผีเสื้ออันดามันหรือปลาผีเสื้อเหลืองปานดำ(Andaman Butterflyfish) ปะการังแถบนี้ส่วนใหญ่จะราบเรียบเหมือนพื้นซีเมนต์(ไม่รู้จะเรียกว่าปะการังโต๊ะได้ไหม ผมไม่ค่อยรู้เรื่องปะการังมากเสียด้วย)

ว่ายหลบแมงกระพรุนไปเรื่อยๆ ก็ต้องพงะเพราะมีแมงกระพรุนไฟด้วย(หนีโดยด่วน) จากนั้นเป็นภาพปลาสลิดทะเลแถบ(Java Rabbitfish) กำลังรุมกินโต๊ะแมงกระพรุน(Jelly Fish)น้อยผู้น่าสงสารจนร่างกายเปื่อยยุ่ย แต่นี้ คือ ห่วงโซ่อาหารที่สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลจนถึงทุกวันนี้ได้

ผมเห็นปลาการ์ตูนส้มขาว(Crown Anemonefish) กับดอกไม้ทะเล(Sea Anemone) อีกครั้งหนึ่ง แต่กอนี้อยู่ตื้นมาก ตื้นจนผมสามารถลงไปจับได้อย่างสบายๆ แต่ผมก็ลอยตัวเพื่อไม่ให้เตะโดน มองดูเขาใกล้ๆ เห็นได้ชัดว่า เขาเริ่มตื่นกลัวและแปลกใจกับผม พยายามเข้าๆออกกอดอกไม้ทะเลอยู่ตลอด สีหน้าเหมือนจะบอกว่า “นี่บ้านฉันนะ นายออกไปเดี๋ยวนี้” น่าเสียดายว่ากล้องไม่ได้อยู่ที่ผม กว่าจะเรียกกอลฟ์มา ผมลอยตัวอยู่บนผิวหน้า ก้มลงมาอีกที กอดอกไม้ทะเลนั้นก็หายไปแล้ว(หาไม่เจอแล้วครับ)

นอกจากนี้ผมยังเห็นหอยมือเสือ(Giant Clams) ปลิงทะเล(Sea Cucumber) รูปร่างต่างๆอีกด้วย

ผมเดินขึ้นมาหยิบข้าวบนเรือ ลงไปทานกับพี่ๆบนเกาะ อาหารอร่อยมาก(อาจเพราะหิวก็ได้) ผมโชคดีได้กินสัปปะรดแสนอร่อย เพราะพี่นาแกะให้(กินแบบไม่ต้องปอกแบบนี้ เข้าทางผมเลย ฮ่าๆๆๆ)

เรารอจนกระทั่งทะเลเริ่มแหวก จึงเดินไปฝั่งตรงข้ามซึ่งเรือจะไปรอรับอีกด้านนึง(หากไม่รีบออก พอน้ำลดจะออกไม่ได้ครับ)

แดดร้อนแบบสะใจจริงๆ สะใจคนอย่างผมที่ไม่ชอบทาSunblock(แล้วยังจะสวมเสื้อกล้าม) เพราะกลัวมือเปื้อนกล้องดิจิตอล เวลากลับมากรุงเทพ ตามร่างกายก็ลอกเป็นแผ่นๆ

เราขึ้นเรือ เพื่อไปอ่าวถ้ำพระนาง จุดสุดท้ายของโปรแกรมท่องเที่ยวในวันนี้

อ่าวถ้ำพระนาง

เราตกลงกับคนเรือว่า ให้เขาไปรอรับเราที่อ่าวไร่เลย์ทางด้านตะวันตก โดยเราจะเดินเลาะด้านหลัง ขึ้นจุดชมวิว ก่อนจะกลับมาด้านหน้า

ทรายที่นี่ ละเอียด น่าเล่นน้ำ เวลาเหยียบก็ไม่เจ็บเท้า ไม่มีเศษหิน เศษปะการังเท่าไรนัก

มองไปด้านข้าง มีพนักงานเสริฟของ รายาวดี พรีเมียร์ รีสอรท์ ที่พักหรูหราแบบ คนไม่มีเงิน มาพักไม่ได้อย่างแน่นอน กำลังควงขวดอยู่อย่างคล่องแคล่ว ผมจึงไม่พลาดที่จะถ่ายวีดีโอเก็บไว้

เดินต่อไปมองไปด้านบนผา มีชาวต่างชาติสวมทูพีช(พระเจ้าจอจร์ มันยอดมาก) ทำท่าเหมือนจะกระโดดมาจากบนนั้น ผมจึงคว้ากล้องมาถ่ายเอาไว้ ปรากฎว่าไม่นานนักเธอก็กระโดดลงมา โชคดีผมเก็บภาพนั้นเอาไว้แล้วด้วย

เราเข้าไปนมัสการศาลพระภูมิของพระนาง ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวเรือและศักดิ์สิทธิ์มาก ผมอธิษฐานอวยพรไปเรื่อยๆ เรื่องที่ไม่ลืมแน่ๆขอให้ท่านช่วยคุ้มครองผมและเพื่อนๆเวลาขึ้นจุดชมวิวด้วย(ชันมากและหฤโหดสุดๆ)

เดินอ้อมมาด้านหลัง ตรงหัวมุมจะมีฝูงลิง มารอรับอาหารจากนักท่องเที่ยว ผมถ่ายรูปลิงแม่ลูกคู่หนึ่ง น่ารักมากครับเพราะลูกลิงเกาะอยู่บริเวณท้องแม่แบบไม่ห่างกาย ที่สำคัญหน้าตาไร้เดียงสามากด้วย

ที่นี่มี Full Moon Party ด้วยสังเกตได้จากป้ายที่ติดไว้ เดินต่อไปเรื่อยๆ ก็ถึงทางขึ้นจุดชมวิว ที่ผมตั้งชื่อเองว่า “ทางขึ้นปราบเซียน” ใครไม่แน่จริงขึ้นไม่ได้แน่ครับเพราะต้องปีนขึ้นไปบนเขาในลักษณะที่ลาดชัน(มาก) หากจับไม่ดีก็บ๊ายบายโลกมนุษย์ได้เลย ซึ่งทุกคนก็ตัดสินใจขึ้นหมดยกเว้นพี่ดนัยเลือกจะสำรวจด้านล่างมากกว่า

เพื่อความปลอดภัยหากใครสวมรองเท้าแตะมาให้ใช้เท้าเปล่าจะดีกว่า เพราะจะคล่องตัวขึ้น หากใครมีรองเท้าผ้าใบนั่นก็ดีมากเลยครับ(ทำใจว่ารองเท้าและตามเนื้อตัวจะเปื้อนแน่นอน)

แม้จะเป็นครั้งที่สามของผมแล้วสำหรับจุดชมวิวที่นี่แต่ผมกลับไม่รู้สึกเบื่อเลย ผมสะพายเป้ใว้ข้างหลังปีนขึ้นอย่างช้าๆ มีสมาธิและระมัดระวังมากที่สุด(ใครๆก็รักชีวิตนะ)

ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ก็มาถึงจุดชมวิว(Low view point) ด้วยสภาพที่ชุ่มไปด้วยเหงื่อทุกคน ตามเสื้อผ้าเปื้อนดินสีออกน้ำตาล หลังจากถ่ายรูปเสร็จ ผมมองไปยังด้านล่าง ด้านหน้าใกล้ผม คือ อ่าวไร่เลย์ตะวันออก ด้านซ้ายมือ คือ อ่าวไร่เลย์ตะวันตก ผมจำได้ว่าก่อนสึนามิ อ่าวไร่เลย์ตะวันออกสวยกว่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าเพราะสึนามินั่นเองทำให้สภาพดูแย่ลง(มาก) ชายหาดแห้งขอดแถมสกปรก ไม่สามารถเล่นน้ำได้อีกต่อไป

ขากลับลงมาด้านล่าง ไม่เจอพี่ดนัยแล้ว เราจึงเดินต่อไป คิดในใจว่าแกน่าจะไปรอที่เรือแล้ว เมื่อมาถึงอ่าวไร่เลย์ตะวันตกปรากฎว่าพี่ดนัยไม่ได้มาที่นี่ เราจึงนั่งเรือไปรับที่อ่าวถ้ำพระนาง ถึงตอนนี้ผมหาแผ่นปลาที่วางทิ้งไว้บนเรือ ปรากฎว่าไม่มี สอบถามจึงทราบว่าตอนที่พี่คนเรือกลับเรือกระทันหัน แผ่นปลาได้ปลิวตกน้ำไป เรียบร้อยแล้ว(แผ่นละ 200 บาทนะเว้ย) (ผมคิดในใจว่า ช่างไม่มีน้ำใจเลย ไม่ยอมรักษาของลูกค้า)(ภายหลังพอคิดดีๆจึงเข้าใจว่า แผ่นปลาไม่ได้ลอยน้ำ แต่จมน้ำ ผมจำตอนทำตกที่พัทยาแล้วพี่โก้ช่วยเก็บได้ดี)

ผมลงไปตามพี่ดนัยแต่กลับไม่ได้คิดว่าผมจำหน้าตาพี่เขาได้หรือไม่(จำไม่ได้เลย) ผมไปจดๆจ้องๆอยู่กับชายคนหนึ่ง(ซึ่งไม่ใช่พี่ดนัย) ไม่นานนักพี่ดาวิ่งลงมาตามเองเพราะเห็นว่าผมจำไม่ได้แน่นอน(ฮ่าๆๆๆ) จนเจอพี่ดนัยในที่สุด

เป็นอันจบโปรแกรมดำน้ำในวันนี้ ผมเดินทางกลับหาดนพรัตน์ธาราแบบเศร้าใจเล็กน้อยที่ต้องสูญเสียของรักไป 2 แผ่น แต่ช่างมันเถอะ ซื้อใหม่เอาก็ได้ แผ่นแรกสั่งซื้อทางไปรษณีย์กับ อ. ศักดิ์อนันต์ ปลาทองได้ ส่วนอีกแผ่นขอดื้อๆในเว็บทะเลไทยดอดคอมนี่แหละ(ด้านได้ อายอดเว้ย)

หลังจากอาบน้ำจนสบายตัวแล้ว พี่ดาและเพื่อนๆนัดผมและกอลฟ์ออกมาทานข้าวด้วยกัน จากนั้นก็เดินเล่นที่หาดนพรัตน์ธารา เราคุยกันเกี่ยวกับประเด็นศาสนาอิสลามและเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปกติเรื่องที่ห้ามคุยในวงสนทนา คือ เรื่องศาสนาและเรื่องการเมือง แต่กรณีนี้ยกเว้นครับ เพราะพี่ดนัยกับพี่ดา ถือเป็นคนที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มาก การที่ผมกับกอลฟ์ได้ฟังทำให้ผมได้รู้ข้อมูลมากขึ้นเยอะเลย

พรุ่งนี้พี่ๆทั้ง 5 คนก็จะกลับแล้ว แต่ก่อนกลับพวกเขาจะไปพายคายัคที่อ่าวท่าเลนก่อน จากนั้นจะขับรถไป จ. สุราษฐ์ธานี เพื่อไปชมหิ่งห้อย จากนั้นจึงขับกลับมาส่งพี่นา พี่นุช พี่จัด ที่ จ. สงขลา ก่อนจะกลับ จ. นราธิวาส(อึดไหมละครับ)

ผมกับกอลฟ์มีโปรแกรมอยู่แล้วในวันรุ่งขึ้น เราจะไปเที่ยวเกาะห้อง พายคายัคกัน หากโปรแกรมเปลี่ยนแบบวันนี้ เราอาจจะได้ไปเที่ยวอ่าวท่าเลนก็ได้ ใครจะไปรู้

เหนื่อยมาก รีบพักผ่อนดีกว่า วันนี้เราใช้พลังงานไปมากเลยครับ

0 Comments:

Post a Comment

<< Home