Sunday, October 29, 2006

เพื่อนสมุทรที่ไม่ได้อยู่ใต้สมุทร


พึ่งกลับจากงานกฐินพระราชทานที่สภาทนายความจัดขึ้นที่วัดโพธาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ระหว่างทางผมเห็นสถานการณ์น้ำท่วมแล้วรู้สึกเห็นใจคนต่างจังหวัดมากครับ บ้านบางหลังท่วมเกือบมิดหลังคาบ้าน หากกรุงเทพไม่ได้พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการปล่อยน้ำให้ท่วมที่ดินส่วนพระองค์ กรุงเทพก็คงน้ำท่วมหนักกว่านี้แน่นอน

ขากลับผมได้มีโอกาสไปเที่ยวบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี แม้ผมจะเคยไปมาแล้วก็ตาม(รายละเอียด อ่านเรื่อง “เที่ยวบึงฉวากครับ”) การไปกฐินคราวนี้ ผมยอมรับว่าไม่ได้ต้องการบุญมากเท่าไร ความหวังคือต้องการไปเยี่ยมเพื่อนใต้ทะเลที่ถูกขังไว้ในอควอเรี่ยมนั่นแหละครับ(เจตนาซ่อนเร้นในทางกฎหมายนั่นแหละ) การได้เห็นพวกเขาแม้จะไม่สามารถช่วยให้ออกมาได้ แต่ก็ทำให้มนุษย์อย่างผม ใกล้ชิดพวกเขามากขึ้น

ผมชอบดูปลาทะเลมากกว่าจึงขอเว้าซื่อๆเลยแล้วกัน ในโซนแรกที่ยังสร้างไม่เรียบร้อยดีนักเมื่อคราวก่อน คราวนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนนี้ก็จะมีปลาน้ำจืดเป็นส่วนมาก มีปลาทะเลอยู่ 3 ตู้ ตู้แรกจะเป็นปลาโนรี(Longfin Bannerfish) อีกตู้จะเป็นปลากระพง(Snapper)(จำชื่อไม่ได้ครับแต่มีลายสีเทาพาดผ่าน 3 ลาย ลำตัวมีสีเงิน) ตู้สุดท้ายเป็นปลาไหลมอเรย์จุดขาว(White-spotted moray)(กรี๊ดที่ 1 ) หายากครับในทะเลไทยส่วนใหญ่เราจะเจอปลาไหลมอเรย์ยักษ์(Giant moray eel)ซะมากกว่า ผมมองดูเข้านานหน่อยหวังไว้ว่าจะได้มีโอกาสเจอเขาอีกครั้ง ในบ้านที่เขาอยู่จริงๆ

ด้านข้างจะมีบ่อปลา(ลักษณะเป็นแบบ Touch Pool ที่ Under water world pattya) แต่ผมก็ไม่คิดที่จะใช้มือจับครับ ในนั้นมีปลากระเบนทอง(Blue-spotted ribbontail ray)ที่ผมแน่ใจว่าไม่ใช่ปลากระเบนจุดฟ้า(Blue spotted stingray)เพราะดูลักษณะลำตัวที่เป็นรูปวงรี ไม่ใช่รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน(ที่ทราบเพราะถ่ายวีดีโอมาแล้วมาดูภาพแล้วหยุด เปรียบเทียบกับหนังสือ อ ธรณ์จ้า ไม่งั้นแย่แน่)

กรี๊ดที่ 2 อยู่ในนี้ครับ ลูกปลาฉลามที่เขียนว่า Zebra Shark ตอนแรกผมคิดว่าเป็นปลาที่เจอในเมืองนอกเพราะไม่คุ้นเอาซะเลย แต่พอได้กลับมาค้นคว้าแล้วมาดูวีดีโอและเปิดหนังสือ Shark and Ray ที่เจ้าเพื่อนที่แสนดีซื้อมาฝากจากอังกฤษ(ขอบใจมากเพื่อนมีประโยชน์มากเลย) zebra shark ของเมืองนอกก็คือ Leopard shark(ฉลามเสือดาว) ของเมืองไทยเรานั่นเอง ส่วน leopard shark จริงๆของเมืองนอกจะเป็นอีกตัวครับ(triakis semifasciata ลองไปหาดูนะครับ) ไม่ต้องห่วงว่าจะสับสนเพราะไม่มีในเมืองไทยจ้า(ตัวพ่อน่ะหาไม่ยากในเมืองไทย แต่ตัวลูกบอกตามตรงว่าผมยังไม่เคยเห็นรูปถ่ายในเมืองไทยเลยครับ จะว่าไปทั้งตัวพ่อที่ว่าหาง่ายผมก็ยังบื้อไม่เคยเห็นเลยครับ)

กรี๊ดที่ 3 ก็อยู่ในนี้เช่นกันครับ ปลาค้างคาว(Pinnate Batfish) ที่หายากอีกเหมือนกันในเมืองไทย (3 กรี๊ดแล้วนะ มันมีความรู้สึกว่าทำไมต้องมาเห็นครั้งแรกในตู้ด้วยหนอ เฮ้อ) ส่วนใหญ่เราจะเจอปลาหูช้างครีบยาว(Teira Batfish)มากกว่าครับ ปลาค้างคาวน่ารักมาก ขี้เล่นว่ายขึ้นมาทักทายผมด้วยล่ะ(เสียใจจ้า ดูอย่างเดียว ก็แค่ยิ้มดีใจเฉยๆจะดีกว่า )

กรี๊ดสุดท้าย อยู่ในตู้อีก 1 ห้องครับ อันนี้ผมร้องดังมาก Rockmover!!!!! ปลานกขุนทองพลิกหิน(Rockmover Wrasse) ว่ายน้ำเร็ว มีอุปนิสัยชอบคาบหินผลักหาเหยื่อที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ พี่เอ รุ่นพี่ในการดำน้ำถ่ายรูปไว้ตอนไปอันดามันใต้ ผมหวังอย่างยิ่งว่าจะไปเห็นพวกเขาตัวจริงที่นั่นให้ได้ (จะมีซักกี่คนหนอที่จะทราบว่า ที่อยู่ในตู้เนี่ย มีตัวหายาก)

บอกได้เลยครับว่าที่ผมกล่าวมาน้ำเสียงแบบกระเทยว่ากรี๊ดๆๆ นั้นน่ะ หายากทั้งนั้น แต่ตัวอื่นๆแม้จะหาง่ายกว่านั้นสถานที่ที่พวกเขาอยู่อย่างมีความสุขจริงๆก็คือ “บ้าน” แน่นอนครับ

การกลับมาบึงฉวากในครั้งนี้ทำให้ผมได้ความรู้ขึ้นมาก ขอบพระคุณ โอกาสที่ทำให้ผมได้มาพบเจอพวกเขาครับ



หมายเหตุ : โลซิน คืบหน้าไปมาก เหลืออีก 3 ไดฟ์เท่านั้นครับ รอหน่อยนะ

จริงๆยังมีกรี๊ดสุดท้ายครับ ลืมไปหน่อย คือเจ้าปลาฉลามครีบดำ(blacktip Shark) ครับ




Phop Payapvipapong

29-10-2006

23:50

0 Comments:

Post a Comment

<< Home