ความโศกเศร้าที่เกาะง่ามน้อย
อาจจะเป็นโชคดีของผมที่ไม่สามารถลงไปกับกลุ่มในไดฟ์นี้ได้ เพราะตะกั่ว 5 ก้อนที่เคยใช้ได้ดีกับ Wet Suit ยาว กลับไม่สามารถทำให้ตัวผมจมลงไปได้ ทั้งนี้เพราะกระแสน้ำที่เกาะง่ามน้อยในวันนี้เป็นกระแสน้ำไหล(มาก)
แม้ผมจะเคาะ Pointer เรียกให้กลุ่มทราบว่าลงไม่ได้ แต่ก็เปล่าประโยชน์ ครูชาลี(แห่งชุมพรคาบาน่า) พี่กุ้ง(นักดำน้ำเพื่อนพี่จิน)และพี่โหน่ง(นักเรียนวชิราวุธรุ่น 56) หายไปกับน้ำที่ขุ่นในระดับที่ 2-3 เมตร ไม่สามารถมองเห็นได้(ความจริงพวกเขารออยู่ซักพักบริเวณใต้เรือ แล้วจึงไปต่อ)
ผมเริ่มลอยไปตามกระแสน้ำเรื่อยๆเพราะตีขากลับเข้าเรือไม่ไหว จากนั้นไม่นานนักนั้นพี่ว่อง(กัปตันเรือ คาบาน่า 3 )ตีขาเข้ามาหาพร้อมห่วงยาง นอกจากนี้พี่ว่องยังใส่ตะกั่วใน BCD ให้ผมอีก 1 ก้อนด้วย
พี่ว่องยังถามอีกว่าจะขึ้นเรือหรือไปต่อ ผมขอพี่ว่องลงดำบริเวณแนวปะการังแถวนี้ เพื่อสำรวจทัศนียภาพ ที่สำคัญแม้ผมจะไม่มี Dive Computer แต่ผมรู้ขอบเขตของตัวเองดี จึงตัดสินใจที่จะดำบริเวณขอบแนวปะการัง(ติดเขาหินปูน)และดำกลับไป-มาหลายๆรอบ เพื่อสำรวจพฤติกรรมสัตว์ทะเล
ในระดับความลึกไม่เกิน 6 เมตร ผมสามารถใช้เวลาที่นี่ได้ยาวนาน ผมพบปลาอมไข่ห้าเส้น(Fine-lined cardinalfish) ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร(Weibel’s Butterflyfish) ปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish) ปลาพยาบาล(Bluestreak Cleaner Wrasse) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีดงดอกไม้ทะเลขนาดใหญ่และปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish)จำนวนมาก ที่ทำปากน่ารัก ขมุบขมิบ เหมือนจะบอกว่า “นายเจ๋งนักเหรอ มาสู้กับเราหน่อยเป็นไง”
ทันใดนั้นผมพบแหของชาวประมงขนาดใหญ่ ยาวหลายเมตร ความรู้สึกที่ปลาบปลื้มกับการได้มาฉายเดี่ยว แหวกว่ายท่ามกลางสรรพสัตว์เปลี่ยนไปเป็นความโศกเศร้า ในนั้นมีปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Butterflyfish) ติดอยู่ 3 ตัว ทุกตัวไม่ขยับเขยื้อน ไม่มีแม้กระทั่งสายตาร้องขอวิงวอน มีเพียงสายตาที่บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่ไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีปลาสลิดหินอีก 2-3 ตัว ที่พบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ลำตัวเปื่อยยุ่ยจากการถูกแทะของปลาต่างๆที่หิวโหย
ทำไมล่ะ? เกาะง่ามน้อยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ซึ่งถือเป็นทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญของเราทุกคน มีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องดูแล กลับมีคนบางส่วนที่เห็นแก่ตัวลักลอบเข้ามา จนเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
ผมพยายามใช้ Pointer สั้นๆที่มีอยู่ 1 อัน ดึงแหขึ้น แต่ดูเหมือนจะเป็นการเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง อีกอย่าง หากผมลงคลุกไปเต็มๆ อาจจะถูกแหพันรอบตัว และผมอาจจะไม่ได้ขึ้นมาบอกเล่าความรู้สึกนี้ให้ทุกท่านฟัง
ผมทำได้เพียงขอร้องคุณเวียนนา(Werner)และ Staff ของชุมพรคาบาน่าคนอื่นๆให้ช่วยตัดแหนี้ออกด้วย ในการมาดำน้ำในวันรุ่งขึ้น(เพราะเราต้องกลับกันแล้ว) โดยมีความหวังว่า หากมาคราวหน้า คงไม่เห็นภาพอันหน้าสลดใจเช่นนี้อีก
บางคนอาจคิดว่า ผมโอเวอร์ แค่ปลาเพียงไม่กี่ตัว ทำมาพูด แถมปลาที่ติดแหก็มีมากอยู่แล้วในธรรมชาติ ลองคิดดีๆซิครับ หากคราวหน้า แหของผู้ไม่หวังดีลงมาที่ดงดอกไม้ทะเลและปลาการ์ตูนอินเดียนแดง หรือเจ้าเต่ากระ(Hawksbill Turtle)แสนเชื่อง หรือเจ้ายักษ์ใหญ่ผู้ใจดีอย่างฉลามวาฬ(Whale Shark) คุณคิดว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง คุณจะได้เห็นภาพน่ารักๆของพวกเขาอีกไหม?
ผมคงไม่โทษว่าเป็นความผิดของใคร เพราะทรัพยากรเป็นของเราทุกคน เราทุกคนต้องสอดส่องดูแลเพื่อรักษาทรัพยากรของลูกหลานเราไว้
ผมไม่มีส่วนได้เสียกับองค์กรใดๆทั้งสิ้น ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ไม่ได้มีใครสั่ง ไม่ได้มีใครสอน ให้เขียนบทความนี้ขึ้นมา ความรู้ที่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือปลา เกิดจากการเข้าเว็บเกี่ยวกับทะเลเกิดจากการดูโทรทัศน์และเกิดจากการสอบถามผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านทะเลทั้งนั้น ผมเป็นเพียงนักดำน้ำคนหนึ่ง ที่มีจิตใจอนุรักษ์ อยากดำน้ำชมสัตว์ทะเลเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง เพื่อผ่อนคลายความเครียดหลังจากที่เสร็จสิ้นการสอบหรือการทำงาน ไม่อยากเห็นภาพเช่นนี้เกิดขึ้น เวลาไปดำน้ำอีก
หากเราไม่ใส่ใจตั้งแต่วันนี้ อาจจะถึงวันที่ “คนไทยทุกคนเป็นผู้แพ้”อย่างที่ ด.ร ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ เคยกล่าวไว้ในหนังสือทะเลไทยก็ได้)
ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้ถึงวันนั้นครับ
Kasab
(Phop Payapvipapong)
23/10/2006
12:52 pm
ขออภัยที่บทความนี้ต้องออกมาก่อน เรื่องไปดำน้ำที่โลซินและเรื่องไปดำน้ำที่ชุมพรที่ผ่านมา เพราะอยากจะสื่อเฉพาะตอนให้ทุกๆคนได้รับรู้จริงๆ เขียนเสร็จแล้วจะมาโพสให้อ่านนะครับ(ตอนเขียนน้ำตาคลอเบ้าด้วยครับ โอเวอร์สุดๆเลย)
0 Comments:
Post a Comment
<< Home