Tuesday, November 09, 2010

สิปาดัน....มหัศจรรย์ทะเลเซเลเบส(4)






Heaven at Sipadan Water Village !!!


น้ำทะเลสีฟ้าอ่อนแห่งทะเลเซเลเบส ใสราวกับกระจก สวยงามมาก ด้านหน้า ก็คือ Sipadan Water Village ใน 4 คืน นับจากนี้เป็นต้นไป ผมกับแม่จะกิน-นอน-ดำน้ำ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

ระหว่างเรือแล่นเข้าจอด ผมก้มหน้ามองแต่น้ำทะเล โอย! อะไรมันจะใสได้ขนาดนั้น นี่ก็ออกจากฝั่งมาได้ไม่เท่าไรนะ

พนักงานของรีสอร์ทประมาณ 10 คน ทั้งหญิงและชาย ออกมายืนต้อนรับ เรียงแถวเป็นหน้ากระดานทั้งสองฝั่ง ทั้งหมดยิ้มแย้ม ทักทายโดยการใช้มือขวา(ลักษณะกำหมัด) ทาบไปบริเวณหน้าอกของตัวเองและก้มตัวลงและกล่าวคำบางคำซึ่งผมฟังไม่รู้เรื่องเท่าไร(ดูแล้วน่าจะเป็นภาษามลายูครับ)

สมาชิกทั้งหมดที่นั่งมาด้วยกัน เดินตามพนักงานมานั่งในห้องรับรอง(ใกล้ๆ หน้า Front) จุดนี้จะเป็น Bar สำหรับนั่งดื่มด้วย มีทีวี ใกล้ๆก็ยังมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง มีรูปเจ้าปลาสาก(Baracuda) ภายในเขียนชื่อ รีสอร์ทแห่งนี้ มีน้ำดื่มบริการอย่างดี มีชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่มาในรถตู้คันเดียวกัน และข้างๆผมก็ยังมีที่ว่างครับ กลุ่มสาวๆ 3 คน ก็มานั่งตรงนี้แหละ(ทักทายแบบง่ายๆ ไว้ก่อน ว่า Hi!) โดยมีฟรอย(Floylan) ซึ่งเป็น Divemaster ของที่นี่ กล่าวต้อนรับ

“ Welcome to Sipadan Water Village!!!”

คราวนี้พอฟังออกบ้างครับ เพราะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ พูดเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆไปของรีสอร์ท จากนั้น ฟรอยถามว่ามีใครเป็นนักดำน้ำแบบ Scuba บ้าง ก็มีแค่ผมกับชาวต่างชาติอีก 2 คน ที่ยกมือ(อืม มาคิดจริงๆ ผมก็เป็นชาวต่างชาตินะ ก็นี่มันไม่ใช่เมืองไทยน่ะ 555) นอกนั้นยังไม่ใช่นักดำน้ำแบบ Scuba ส่วนสาวๆ 3 คน มาแบบ Snorkleing น่ะ

ฟรอยนำเอกสารมาให้ผมเซ็น ก็เกี่ยวกับว่า ดำมาทั้งหมดกี่ไดฟ์แล้ว ถ้ามีปัญหาจะติดต่อใครได้บ้าง และขอดูบัตร Advance ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนที่จะดำน้ำ ซึ่งผมว่าดีครับ(แต่ Log Book ผมบอกฟรอยว่า อยู่ในกระเป๋าใหญ่ ซึ่งอยู่ด้านนอก ซึ่งฟรอยก็บอกว่าไม่เป็นไร)

หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งให้ฟรอย เป็นกระดาษที่ครูจุ๋มให้ Print มาจากใน Internet มีตราบริษัท มนุษย์กบไทย ชื่อของครูจุ๋มและข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมดำน้ำของผม ว่ามีกี่วัน รวมอะไรแล้วบ้าง อะไรที่ยังไม่ได้รวม(คล้ายๆใบส่งของน่ะครับ)

ในใจของผมตอนนี้ ว้าวุ่น พอสมควร ผมกังวลมากๆ เพราะนี่ก็ 10 โมงแล้ว ยังไม่ได้ดำน้ำเลย ฟรอยบอกว่า 11 โมง ให้ไปที่ Dive Center เพื่อ Check Dive โดย Divemaster ชื่อว่า Jimmy(ผมถามถึง Bobby ซึ่งเป็น Divemaster ที่ครูตุ๋ม กล่าวถึงในกระดาษแนะนำที่ผม Printมา โดย Bobby น่าจะได้คุยกับครูตุ๋มโดยตรง แต่วันนี้ Bobby ไปสิปาดันครับ กลับมาตอนเที่ยงน่ะ)

เมื่อฟรอยกล่าวขอบคุณ ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานอีกคน มาพูดเกี่ยวกับรีสอร์ท ว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง และแจกกุญแจห้อง ของผมได้ห้อง Kapalai 102 (เป็นห้อง temporary room) เขาบอกว่า มีปัญหานิดหน่อย จึงให้ห้องนี้กับผมเพื่อพักผ่อนและเปลี่ยนเสื้อผ้าชั่วคราว ประมาณบ่าย 2 โมง ค่อยย้ายมาที่ห้องนอนของผมจริงๆ โดยมาติดต่อที่หน้า Front(ไม่มีปัญหาครับ แต่ที่ผมงงๆอยู่ว่า Kapalai นี่ รีสอร์ท Kapalai หรือเปล่าวะเนี่ย555)

เดินตามพนักงานไปครับ สะพานไม้ทอดยาวสวยงามจริงๆ น้ำทะเลก็ใสและสวยมาก และแล้วก็มาถึงเจ้าห้อง temporary room ก็อยู่ที่ Resort นี้แหละครับ เพียงแต่ว่า เป็นชื่อที่ตั้งเท่านั้นเอง

พนักงานบอกว่า ให้บ่ายสองไปติดต่อที่ Front ผมบอกว่า ไม่แน่ใจว่า จะออกไปดำน้ำหรือเปล่า ถ้าไม่ทัน ตอนกลางคืนผมค่อยย้ายแล้วกันนะ

โห นี่ขนาด temporary room ยังเหมือนห้องจริงๆเลยเว้ย มีห้องน้ำ มีเตียงสองเตียง มีพัดลม อืม แต่นี่ไม่ใช่เวลาชื่นชมห้อง ผมต้องรีบแข่งกับ
เวลา นี่ก็ 10 โมงครึ่งแล้ว ไป Dive Center โดยด่วน!!!!!!


เตรียมอุปกรณ์อย่างเร่งด่วน / 3 สาวมาเลเซีย


ตอนนี้ เหมือนคนบ้าที่กำลังแต่งตัวแข่งกับเวลาครับ รีบมากๆ เอาลูกกุญแจมาไขแม่กุญแจทั้งสามดอกในกระเป๋าใหญ่เพื่อเอาตัว Rush Guard ออกมาใส่(เหมือนเสื้อที่ใว้ใส่กันแดดครับ แขนยาว บางๆ แห้งเร็ว ปกติสวมด้านในก่อนจะใส่ Wetsuit ) Fin ออกมาซิ เอา Mask ออกมาด้วย ถุงเท้ากันฟินกัด เอากล้องออกมา ถอดสายคล้องกล้องออก เอาโอริงมาทาซิลิโคน เช็คให้ดีนะว่าไม่มีเม็ดทรายหรือเส้นผม เสร็จแล้วประกอบกับ Housing ...............

มันต้องแบบนี้แหละ ไม่งั้นไม่ใช่ผม เดินออกมา นึกขึ้นได้ว่า ลืมของครับ ร้อนๆแบบนี้ ห้ามลืมหมวก

ระหว่างเดินที่บันไดสุดคลาสสิค ท่ามกลางแดดที่ร้อนจัด เจอ 3 สาวที่มาด้วยกันบนเรือ ทักทายซะหน่อย

“Hi ! What ‘ s your name?”

พวกเธอเป็นชาวมาเลเซียครับ คนนึงชื่อ Lai อีกสองคน ชื่อ Lee ทั้งคู่(ผมต้องชี้ประกอบเพราะกำลังงง 555) 3 สาว มาพักเพียง 1 คืน มาแบบ Snorkleing ก่อนที่จะกลับพรุ่งนี้บ่าย พวกเธอถามว่าผมมาดำน้ำแบบ Scuba มาคนเดียวเหรอ? ผมบอกใช่ เพราะว่างไม่ตรงกัน(ตอบแบบง่ายๆให้เข้าใจไว้ก่อน) ก่อนที่ผมจะถ่ายรูปให้พวกเธอสามคน ซึ่งผมก็ได้เข้าไปอยู่ในรูปด้วยนะ Lee ให้พนักงานที่ผ่านมาถ่ายให้น่ะ เลยได้ถ่ายกับ 3 สาว ก่อนที่ผมจะขอตัวไป Dive Center และพวกเธอขอตัวไปเดินดูด้านหลัง

ว่าแต่สะพานมีแยกหลายทางชักงง แบบว่าพึ่งมา ยังไม่คุ้น ถามทางดีกว่า

“Where ’ s Dive Center ?”

“Thank you very much” โอเคๆเดินตรงไป แล้วเลี๊ยวขวา นะ จ้ำเข้าๆๆๆๆๆๆ



Welcome to Dive Center!!!


“Yes , I ‘ m Jimmy. Welcome to Dive Center”

ชายคนนี้มีส่วนคล้ายพี่แจ้แห่งชุมพรคาบาน่า(ตอนอ้วน) Jimmy เป็น Divemaster พาผมมาลอง Wetsuit เป็นแบบสั้น ชุดแรกดูคับไป ชุดสองดูหลวมๆ ผมถามดูว่า ที่นี่อุณหภูมิน้ำทะเลเย็นไหม Jimmy บอกว่าไม่ ผมถามบอกว่า คุณใส่ชุดนี้ลงเหรอ Jimmy บอกว่าใช่ ผมเลยตัดสินใจว่าจะใส่แค่ Rush Guard กับกางเกงขาสั้นลง(ชุดเหมือน Divemaster ที่นี่เป๊ะ) (จริงๆ นอกจาก BCD และ Regulator ที่ผมเช่าที่นี่แล้ว อย่างอื่นผมมีเองครับ เว้นแต่ Wetsuit ที่ไม่ได้แบกมาจากเมืองไทยเพราะอ้วนขึ้นนั่นเอง)

ถามเรื่องราคาว่าเท่าไร นี่ก็นานอยู่ครับ เรื่องอุปกรณ์เอย เรื่องการดำ Night Dive เอย เรื่องการดำ Self Dive เอย เพราะบางคำพูดผมฟัง Jimmy ไม่รู้เรื่อง แต่พอหลายๆที มีหรือจะไม่รู้เรื่อง 555 ผมยังเกรงใจเลยว่า จะถามมากไป Jimmy บอกว่า No Problem และคำถามของผม เป็น Good Question ซะด้วย

Jimmy แนะนำ Dive Center และพาผมมาดูว่า ตอนนี้ผมใช้เบอร์ 53 นี่ คือ กุญแจ ใช้เสร็จแล้วมาแขวนตรงนี้ กุญแจเอาไว้เปิดล๊อคเกอร์ ไว้ใส่ ตะกั่ว ฟิน หน้ากาก และอื่นๆ หลังจากใช้เสร็จแล้ว(เออ ดีครับ แบบนี้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะโดนคนอื่นหยิบผิดไป) ตรงนี้เป็นที่แช่น้ำ สำหรับกล้องถ่ายรูป ตรงนี้สำหรับฟิน wetsuit ตรงนี้สำหรับ BCD และ Regulator ใช้เสร็จแล้ว มาแขวนตามเลขไว้ เป็นต้น

Jimmy จัดตะกั่วให้ผม 4 ก้อน ยังไงก็พอแน่ๆครับ ไม่ได้ใช้ Wetsuit ด้วย(ผมก็อธิบายไปว่าเคยใช้ 5 ก้อน กับ Wetsuit ยาว น่ะ)

เอาล่ะครับ เช็คไดฟ์ ซึ่งเป็นไดฟ์แรกของวันนี้ จะกระโดดตรงสะพานหลัง Dive Center นี่แหละ จุดนี้เรียกว่า Paradise 1 ผมถาม Jimmy ว่าเอากล้องลงไปได้ไหม Jimmy บอกว่า คุณจะเห็นอะไรมากมายตรงนี้ ผมถามว่าจริงเหรอ ไม่จริงมั้ง แค่ตรงนี้นี่นะ(ย้ำเสียงว่า Really?)

Jimmy บอกว่า ดำตรงนี้ 30 นาที และทดสอบสัญญานใต้น้ำว่า แบบนี้ คือ อากาศเหลือน้อย แบบนี้อากาศหมด แบบนี้..... เป็นต้น (และ Jimmy ทำท่าเหมือนกับว่า เคลียร์น้ำออกจากหน้ากาก และทำท่าควานหา Regulator ซึ่งผมไม่ได้คิดอะไร คิดแต่ว่าจะมีอะไรให้ดูบ้างหว่า ตื่นเต้นๆๆ



Dive 1 ล้อเล่นหรือเปล่าเนี่ย สาบานหรือเปล่า ว่านี่คือ Check Dive!!!!!


ตูม!!! ปล่อยลมออกจาก BCD เมื่อ Jimmy ให้สัญญาน น้ำอุ่นดีครับ ในเวลานี้

Jimmy ให้สัญญานจับๆที่หน้ากาก ผมงง(ยังจะงงอะไรอีก เข้าเช็ค Skill ใต้น้ำของมึงเฮ้ย) ความรู้สึกเหมือนตอนเรียน Open Water กับพี่ยุทธและโบ๊ต ที่ผมทำเป็นคนสุดท้าย แต่ก็ยังงงว่าพี่ป้อมจะให้ทำอะไร 555

นึกขึ้นได้ครับ สติมา ปัญญาเกิด อ๋อ! โอเค! ผมเปิดหน้ากากให้น้ำเข้ามา แหงนหน้า หายใจออกทางจมูก Clear น้ำออกจากหน้ากาก ก็เป็นอันเรียบร้อย จากนั้น Jimmy เอามือจับที่ Regulator คราวนี้ผมเป็นเกมแล้ว ผมจับ Regulator ออกจากปาก ปล่อยมันออกไปข้างๆ(ขณะที่ปากยังทำ Bubble) ใช้มือควานหาบริเวณข้างลำตัว แล้วจับเข้าปาก และกดปุ่ม Purge ก็เรียบร้อยอีก Jimmy ทำสัญญานโอเค และชี้ให้ผมดูสัตว์ทะเลที่อยู่บริเวณใต้สะพาน

เฮ้ย!! นี่มันปลามีดโกน(Razor Fish) บางคนก็เรียกปลาข้างใส ปลาที่มีเอกลักษณ์โดยการว่ายน้ำโดยใช้หัวทิ่มลง บ้าไปแล้วเจอง่ายขนาดนี้เลยเหรอ

บ้า บ้า ต้องบ้า อีกแน่ๆ Teira Batfish หรือปลาหูช้างครีบยาว ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว อยู่ตรงนี้ พวกเขายังคงเป็นมิตรและเป็นมิตรตลอดไป ไม่ว่าจะเจอที่ฝั่งทะเลไหน เอ้า ถ่ายรูปๆ

ปลาการ์ตูนครับ Jimmy เรียกให้ดู ดูแล้วเหมือนปลาการ์ตูนลายปล้อง Clark ’ s Anemonefish เพราะมีแถบสีขาว 3 แถบ แถบที่สองลงมาทั้งลำตัว จึงไม่ใช่ปลาการ์ตูนอานม้าแน่ๆ ก็เหมือนปลาการ์ตูน Sebae อยู่แต่ก็ไม่ใช่ พฤติกรรมหวงถิ่นนี่ ไม่เบาครับ ตรงตามฉบับปลาสลิดหิน นี่ทำท่าจะมากัดผมด้วยแน่ะ ขอถ่ายแป๊บเดียวๆ

ลอยตัวสบายจริงๆ ผมเคยดำน้ำแบบไม่มี Wetsuit อยู่บ้าง ข้อดี คือแบบนี้ครับ ขยับสบายไม่มีอะไรมารั้ง แต่ข้อเสียก็คือ อาจมีของแถมตามมานะ 555

Scribbled Pipefish หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลายด่าง ที่ Jimmy เรียกให้ดู ตัวนี้เมืองไทยเรามีก็จริง แต่ไม่ได้หาง่ายแบบนี้แน่นอนครับ

ดอกไม้ทะเลนี้มีอะไรหว่า Jimmy ชี้ให้ดู กุ้งนี่หว่า!! ไม่ธรรมดาเพราะเยอะมากครับ ลำตัวใสๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 30 ตัว เยอะไปหมด อยู่เมืองไทย ผมยังไม่เคยเห็นเยอะขนาดนี้เลยนะ(อย่าลืมว่า ตื้นๆนะครับ ความลึก ยังไม่ถึง 10 เมตรเลย)

มาแล้วจ้า ต. เต่า ตัวนี้ขี้เกียจจริงๆ นอนสงบนิ่ง ใครอยากจะถ่ายรูปก็ถ่ายไป ก็เสร็จซิ นี่ คือ เต่าตนุ(Green Turtle) ตัวใหญ่จัง ไดฟ์แรกก็เจอแล้ว แถมตัวใหญ่อีก

ตรงนั้นก็มีอีกตัวครับ นอนอยู่บนคอนกรีต น่าจะเป็น House Reef ที่ถูกสร้างขึ้น ตัวนี้ดูสง่างามเหมือนกัน

Jimmy เรียกอีก นี่มัน Black-Saddled Toby หรือปลาปักเป้าเล็กหลังบั้ง เจอง่ายๆแค่พื้นทรายนี่เองเหรอ(ไม่ใช่เกาะสากนะเฮ้ย) Toby เป็นปลาน่ารักครับ แม้จะไม่มีหนาม แต่ขึ้นชื่อว่าปักเป้า ก็มีพิษในเนื้อเยื่อและตับ หากเราไม่กินก็ไม่ได้รับอันตราย ดีที่สุด คือ ดูพวกเขาว่ายน้ำ ดีกว่าเยอะ

กระเบนจุดฟ้า(Blue-Spotted Stingray) อยู่ตรงนี้ครับ ผมหยุดถ่ายรูป เพราะหากเข้าใกล้มากกว่านี้ เขาอาจจะหนีก็ได้ บริเวณหางมีเงี่ยงพิษครับ อย่ายุ่งดีกว่า

ปลาสิงโต(Common Lionfish) เพื่อนซี้ทุกที เจอกันทุกที ขออย่างเดียว ไม่อยากเจอที่อควอเรี่ยมเลย

ปักเป้า(Puffer) หน้าตาแปลก ดูก็รู้ว่าเป็นครอบครัวปักเป้าหนัง ไม่มีหนาม เวลาตกใจจะสูบน้ำเข้าไปและพองตัว จำได้แน่นอนว่าเคยเห็นที่อันดามันใต้ครับ

ตรงซากปะหรักหักพังตรงนี้ Jimmy ชี้ให้ดู มีปลาไหลมอเรย์พันธุ์หนึ่งครับ นี่คือ ปลาไหลมอเรย์หน้าปาน(Darkspotted Moray - gymnothorax fimbriatus) ตัวยาวเชียว อย่าเข้าไปใกล้กว่านี้เลย 555

โอย เยอะจริงๆ ปลาดุกทะเล(Striped Catfish) ไม่ต่ำกว่า 100 ตัว บางคนก็เรียกว่าปลาปิ่นแก้ว ปลาดุกลายก็ว่ากันไป เจ้านี้สายตาไม่ดีครับแต่ระบบสัมผัสดีเยี่ยม หากินเวลากลางคืนสบายมาก แต่มีเงี่ยงพิษนะครับ ต้องระวังๆ อยู่เมืองไทย จำได้ว่าเห็นแอบแต่ในโพรง ไม่ค่อยได้เห็นออกมาว่ายน้ำเยอะๆแบบนี้เลย

นี่มันพายุปลาหรืออย่างไร ออกแนวๆ ปลากล้วย ปลาข้างเหลือง ครับ รวมกลุ่มกันจนเป็นกำแพงสีเงินขนาดย่อมๆ ไม่ต่ำกว่า 200 ตัว แถมไม่กลัวซะด้วย เข้าใกล้ได้ง่ายมากๆ ถ่ายรูปสบายเลย เป็นเมืองไทย ใกล้ขนาดนี้ ก็หนีไปแล้ว

ไม่ใช่การสร้างภาพ เพราะ Jimmy ไม่รู้ว่า ผมเป็นนักเขียนที่ชอบบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับการดำน้ำลงบนเว็บไซด์ สิ่งที่ผมเห็นในขณะนี้ก็คือ Jimmy เก็บขยะที่เจอใส่ในถุงขนาดกลาง เก็บ เก็บ และเก็บ เป็นจิตสำนึกของนักอนุรักษ์ที่ดีมากๆ แม้สอนกันได้ แต่สิ่งสำคัญ อยู่ที่ใจครับ ต้องยอมรับว่าเจ๋งจริงๆ

25 นาที พอดีครับ Jimmy ทำสัญญานให้ขึ้น เชื่อหรือไม่ว่า ไดฟ์นี้ ความลึกสูงสุด แค่ 14.6 เมตร แต่ดูจำนวนและชนิดของสัตว์ทะเลที่พบก็แล้วกัน แตกต่างจากเมืองไทยโดยสิ้นเชิงครับ

แค่ไดฟ์แรกก็รู้เลยว่า ปะการังของเขาสู้บ้านเราไม่ได้ แต่ทำไมจำนวนสัตว์ทะเล และบางชนิดก็หายาก กลับหาง่ายเหลือเกิน ในระดับเพียงตื้นๆเท่านั้น

ก่อนมาก็พอจะทราบครับ ว่าเขารักษาทรัพยากรธรรมชาติดีมาก เป็นวาระแห่งชาติ

แม้ยังมีอีกหลายไดฟ์ให้ผมพิสูจน์

แต่งานนี้ บอกได้คำเดียวว่า ในเรื่องนี้

“อิจฉา Sabah อิจฉามาเลเซีย”


0 Comments:

Post a Comment

<< Home