ดำน้ำสิมิลัน....วันคริสต์มาส(4)
Dive 5 อินเดียนมิใช่อินเดียนแดง!!!
ถ้าจำไม่ผิดหินหัวช้างกับหินหัวกะโหลกน่าจะเป็นที่เดียวกันนะ ลักษณะจะเป็นหินที่โผล่พ้นน้ำ ด้านล่างจะเป็นกองหินขนาดใหญ่ พื้นที่ค่อนข้างกวาง
ถ้าจำไม่ผิดหินหัวช้างกับหินหัวกะโหลกน่าจะเป็นที่เดียวกันนะ ลักษณะจะเป็นหินที่โผล่พ้นน้ำ ด้านล่างจะเป็นกองหินขนาดใหญ่ พื้นที่ค่อนข้างกวาง
จำได้ว่าเคยเจอปลากบยักษ์สีขาวครับ แต่เห็นคนอื่นๆบอกว่า ไม่ได้อยู่ที่เดิม มันย้ายที่อยู่ไปแล้ว อาจจะถูกรบกวนเยอะก็ได้มั้ง
ถ่ายของที่เห็นๆกันดีกว่าครับ นี่คือ ปลาการ์ตูนอินเดียน(Skunk Anemonefish) พบได้บ่อยในทะเลอันดามัน อยู่กับดอกไม้ทะเลฐานม่วง(Heteractis magnifica) นิสัยไม่ขู่ฝ่อเหมือนปลาการ์ตูนอานม้า ออกแนวขี้อายเหมือนสาวบางคน
หลายคนจะสับสนกับปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish) ที่พบมากในอ่าวไทย ขีดที่แก้มและสีลำตัวจะคนละแบบครับ เป็นคนละตัวนะ
สถานที่ที่พบบ่อย ให้นักดำน้ำแบบ Snorkeling ไปที่เกาะยักษ์ จ.ตราดครับ เยอะเชียว ดูไม่เบื่อเลยล่ะ(ระวังขาจะไปโดนนะครับ ลอยตัวดีๆ)
มีช่องมีโพรงเยอะครับ ก็ค่อยๆมุดกันไป ตาม Dive Leader ให้ดี ผมเคยน้ำเข้าหน้ากากตอนอยู่ในโพรงครับ เข้าสองข้าง มืดสนิท ไม่มีแสงอะไรเลย ต้องหลับตาเคลียร์น้ำออกจากหน้ากาก เฮ้อ สนุกดีแท้ 555
ในถ้ำถ้าสังเกตดีๆจะมีปลาหลายชนิดครับ เช่น ปลากระดี่ทะเล ปลาข้าวเม่าน้ำลึก เป็นต้น ดวงตาของปลาที่อยู่ในถ้ำ ธรรมชาติสร้างมาแสนจะสมดุลครับ ดวงตาใหญ่ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดแม้ในสภาวะแสงน้อย
นอกนั้นปลาชนิดอื่นๆเท่าที่จำได้ ก็มีปลาโนรี(Longfin Bannerfish) ปลาสร้อยนกเขาแตงโม(Indian Ocean Oriental Sweetlips) และปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish) ครับ
ขึ้นมารับประทานอาหารเช้าครับ พี่เอบอกผมว่า
“ภพ ตะกั่วกับลมใน BCD มันไม่สัมพันธ์กันนะ ตัวภพตกตลอดเลย ได้เติมลมหรือเปล่า? ตอนลงไป”
“เออ จริงด้วยครับพี่ ผมลืมเติมเลย เวรกรรม มิน่าล่ะ”
น่าอายครับ 555 ดำมาไดฟ์ที่ 107 แล้ว แต่เบสิคง่ายๆและเป็นเรื่องสำคัญซะด้วย ผมกลับลืมเฉยเลย ไปเรียนโอเพ่นใหม่ดีไหม 555
จากผิวน้ำ เราปล่อยลมออกจากเสื้อ BCD เมื่อลงไปด้านล่างก็ต้องปรับสภาวะการลอยตัวให้ดีครับ การเติมลมเพียงเล็กน้อย ช่วยให้สภาวะการลอยตัวคงที่และสัมพันธ์กับตะกั่วที่ถ่วงบริเวณเข็มขัด ทำให้เราไม่ต้องตีขา อยู่เฉยๆ ก็หยุดอยู่ตรงนั้นได้ อยากจะมองป ปลา นานเท่าไร ห้อยหัวยังไง(ระวังเสื้อ BCDหลุด)ก็ไม่มีใครว่า
แต่อย่าลืมว่า เติมลมให้เพียงพอและเท่าที่จำเป็นครับ มิใช่กดปื๊ด กดปี๊ด ตัวลอยขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความรวดเร็ว อันตรายนะ
“ไดฟ์หน้าครับพี่ แก้ตัวใหม่” ผมขำตัวเอง
“ไปถ่ายรูปเกาะแปดกัน”
คราวนี้ดูจะพร้อมเพรียงกันดีครับ เพราะสาวๆนัดกันไปถ่ายรูป แต่ละคนแต่งตัวแบบกินกันไม่ลง ทั้งสีชุด และการแต่งหน้า นางฟ้าครองเรือละมั้ง 555
“แป้งไม่ถ่ายค่ะพี่ เดี๋ยวจะไปขอนอนชิวๆริมหาด”(แต่ชุดแต่งพร้อมเลยนะ)
กลับมาเยือนเกาะแปด(หินใบ)
คราวก่อนที่มาขึ้นหินใบไปแล้ว คราวนี้ถ่ายรูปสาวๆน่าจะดีกว่า
แดดช่วง 11 โมง ร้อนแบบเปรี๊ยงๆครับ(ร้อนมาก) ผลที่ได้คือ รูปออกมาสวยมาก เมื่อตัดกับสีของน้ำทะเล หาดทรายสีขาวละเอียดที่สวยงามสุดๆของเกาะแปด
พี่ดา นิ้วนาง น้องแคร์ ฝ้าย ตุ๊ย ตาล ปู นุ่น น้องเหม่เม้ พี่พัท และแป้ง(ไหนว่าจะนอนชิวๆไงน้อง ทนความเย้ายวนไม่ไหวแล้ว)
คนที่นอนชิวจริงๆ คือพี่วามกับโต้งครับ แต่ก็ไม่รอดโดนปลุกมาถ่ายรูปอยู่ดี
ตากล้องทำงานดีครับ พี่เอ พี่โก้ พี่พัท ตาล ฝ้าย ส่วนผม ถ่ายเก็บบรรยากาศอย่างเดียว
แต่ผมก็มีรูปแบบคนอื่นๆเหมือนกัน พี่พัทอนุเคราะห์ครับ ผมชอบมาก ทั้งรูปหน้าตรงติดบัตร หรือรูปที่ตาลกับน้องแป้งกระโดดดันไหล่ผมขึ้นไป ดูเท่ดีและสุขมาก(โอ ไม่สุขได้ไง นานๆมีที)
ส่วนฝ้ายก็ถ่ายเลนส์ตาปลา Fisheye ได้สวย มีรูปของทุกๆคน ผมชอบรูปที่น้องเหม่เม้ขี่หลัง บางคนบอกเหมือนคู่รัก(น้องอายุ 14 เองครับ ผมยังไม่อยากติดคุก 555)
นางแบบเริ่มเหนื่อยครับ แดดร้อนด้วย อีกทั้งก็ใกล้เวลาที่เรือจะมารับแล้ว โชคดีว่า ผมหยิบสมุดมาครับ ไปปั้มตราอุทยานแห่งชาติก่อนดีกว่า
เรือมาครับ กลับเรือกัน
จุดดำน้ำต่อไปเรียกว่า North Point ครับ แต่งตัวแล้วลงดำกันเลยดีกว่า
Dive 6 สนุกขึ้นเยอะเลย เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย!!!
ลงมา ผมไม่ลืมครับ เติมลมนิดนึง ผลคือ ผมลอยตัวได้ดีขึ้น ขาแทบไม่ต้องตี ขยับเบาๆก็ไปแล้ว สามารถถ่ายรูปสัตว์ทะเลชนิดไหนก็ได้ ที่อยากถ่าย(ตามความสามารถ) และไม่ต้องกลัวว่าจะโดนปะการังโดยไม่ตั้งใจ แม้จากลำตัวจะห่างจากปะการังแบบมือเอื้อมถึงก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้ อากาศก็ใช้ได้นานขึ้น หายใจเข้า-ออก ช้าๆ นั่นเต่าครับเต่า
เจ้าเต่ากระ(Hawksbill Turtle) 2 ตัว หนึ่งในนั้นว่ายผ่านไป อีกตัวกำลังอยู่บนพื้น ขบกัดตะไคร้น้ำอย่างมีความสุข
แม้จะอยู่ใกล้ๆก็ไม่หนีครับ พี่หนอมเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ผมรอจังหวะคนโล่ง ขอไปถ่ายบ้าง
จากนั้นมาถ่ายปลาการ์ตูนลายปล้อง(Clark ‘ s Anemonefish) กันดีกว่า อย่าลืมว่ามีการผันแปรของสีเยอะครับ ก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ เจ้านี่ดูก้าวร้าวกว่าอินเดียนครับ เท่าที่เห็นอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด S. Haddoni นะ
ฟินใครหว่า คนละข้าง คนละสี ถ่ายมาก่อน ไม่แน่ใจว่าใส่ผิดหรือยังไง แต่คิดว่าแฟชั่นครับ 555
กัลปังหาเมื่อตัดกับสีน้ำทะเล กับฝูงปลาเล็กปลาน้อยนับพัน สวยงามมากๆ
เจอนูดี้แล้วครับ นี่คือทากเปลือยชนิด..... ติดไว้ก่อนนะ ลำตัวสีดำ ปุ่มที่ลำตัวมีสีเทา คงไม่ใช่ทากหายากครับ แต่ยังหาชื่อไม่ได้(ไปอ่านกฎหมายเยอะ ความรู้ ความขยันในด้านนี้ก็ต้องหายไปบ้าง เรื่องธรรมดาครับ)
ต่อด้วยปลาวัวตัวตลกหรือปลาวัวมงกุฎ(Crown Triggerfish) มาแบบเงียบๆแต่ลวดลายสวยมาก น่าจะเป็นปลาวัวที่ลวดลายสวยงามติดลำดับต้นๆเลยครับ
นอกจากฝูงปลากลางน้ำ ด้านล่างมีหอยมือเสือ(Giant Clam)ครับ ขนาดใหญ่แม้จะไม่ใช่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็น หวังว่าจะปลอดภัยจากน้ำมือมนุษย์ล่ะ
ทากปุ่มสีขาว มีลายสีดำพาดผ่าน ดูแล้วคล้ายชนิด Phyllidiopsis krempfi
แมงกะพรุน(Jellyfish) ล่องลอยไปมา เดี่ยวๆ ก่อนจะตกเป็นเหยื่อของปลาทั้งหลาย พี่หนอมหรือพี่หัวไก่กำลังถ่ายอยู่ ผมรอจังหวะเข้าไปบ้าง
ปิดท้ายด้วย เจ้าปลากลางน้ำแสนเชื่องเข้าใกล้ได้มากกว่าแมวจรจัดแถวบ้านซะอีก นักดำน้ำคงรู้ เจ้าปลาหูช้างครีบยาว(Teira Batfish) นั่นเอง ยื่นกล้องเข้าไปห่างไม่ถึงครึ่งเมตร ก็ยังไม่หนีเลยครับ
ส่วนปลาชนิดอื่นๆในไดฟ์นี้ก็มี ปลาสินสมุทรจักรพรรดิ(Emperor Angelfish) และปลาปักเป้าหน้าหมา(Blackspotted Puffer) ครับ
พักรับประทานอาหารกลางวัน ในขณะที่เรือโชคทวี มุ่งหน้าสู่เกาะตาชัย
พักน้ำประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ลงดำกันต่อเลยนะครับ
Dive 7 วัวดำรวมฝูง !!!!
แน่นอนว่า จุดดำน้ำนี้ ใครๆก็นึกถึงแมนต้า เป็นอันดับแรก แล้วถ้าแมนต้าไม่มาล่ะ คุณจะไม่ดูสัตว์ทะเลชนิดอื่นเลยเหรอ?
หลายครั้งที่ผมมาที่นี่ แล้วไม่เจอสัตว์ใหญ่ อาจเป็นเพราะผมมาในช่วงที่คนมากทุกๆครั้ง ก็เป็นได้ แต่ก็พยายามดูด้านล่างว่ามีอะไรบ้าง
ด้านล่างพบปลาวัวดำครับ(Redtooth Triggerfish) มาเป็นฝูง ปลาวัวชนิดนี้เป็นหนึ่งในชนิดที่เรามักพบครั้งละหลายๆตัว ไม่เหมือนปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish) ปลาวัวตัวตลก(Crown Triggerfish) หรือปลาวัวปิกัสโซ่(Wedge Picassofish) ที่มักจะเจอครั้งละ 1 ตัว
แน่นอนว่า สีสันของปลาวัวดำนั้นแสนจะธรรมดา หลายคนคงไม่สะดุดตาเท่าไร แต่หากเป็นนักดูปลา ก็ควรจะรู้ไว้ สำหรับนักดำน้ำแบบ Snorkeling ไปเกาะสุรินทร์ครับ มีแน่นอน
จากปลาวัวดำ ผมลอยตัวถ่ายปลาสิงโต(Common Lionfish) ดูแล้ว ดีกว่าในตู้ปลาเยอะเลย
พี่หนอมกำลังดูโกบี้หน้าม่วง DM แป้งไม่เห็นว่ามีคนดูอยู่ กำลังจะเข้าไปใกล้ๆโกบี้ พี่หนอมเลยรีบดึงไว้ โกบี้ค่อนข้างขี้ตกใจครับ หากไม่ระวัง ก็จะมุดลงไปในรู แต่ต้องรอจังหวะ เขาถึงจะโผล่มาใหม่
ส่วนผม อยู่ฝั่งตรงข้ามครับ มองพอเห็นพี่หนอมและเพื่อนๆนักดำน้ำที่กำลังดูปลาบู่หน้าม่วง ขณะที่ผมอยู่บนพื้นหินก้อนเล็กๆ สายตาสอดส่ายหาสัตว์ทะเล ด้านหน้าผม มีเจ้าโกบี้สีแดงหรือปลาลูกดอกเพลิง(Fire Dartfish) พอจะยกกล้องขึ้นมาถ่าย เจ้าลูกดอกเพลิงก็หายวับไปกับตา(ไวจริงๆ) แต่ก็หวังว่าในอนาคตจะถ่ายรูปเจ้านี่ได้บ้างเหมือนกับคนอื่นๆ
ส่วนปลาอื่นๆในไดฟ์นี้ ก็มีปลาปากขลุ่ย(Smooth Flutemouse) ปลาผีเสื้อพระจันทร์(Racoon Butterflyfish) ปลาสินสมุทรวงฟ้า(Bluering Angelfish)
จากตาชัย เราไป Night Dive กันที่เกาะบอนครับ
Dive 8 ลีลาการจีบกันของหมึกยักษ์!!!!
ลงมาก็เจอของดีเลยครับ เจ้าOctopus หรือหมึกยักษ์ กำลังใช้หนวดจับกัน เรียกว่า กำลังมีรัก แต่มันคงตกใจเล็กน้อย ที่มีใครก็ไม่รู้มาขัดขวางความสุข อาจทำให้หมดอารมณ์ก็ได้ แต่เท่าที่ดู หมึกยักษ์ก็ยังจับแน่นอยู่นะ ท่าทางคงไม่มีอุปสรรคใดๆมาขวางกั้นความรักระหว่างกันและกันได้
ปลานกแก้ว(Parrotfish) เจอทุกไดฟ์เวลาลงกลางคืน และมักจะนอนทุกไดฟ์ ลองดูใต้ปะการังก็ยังเห็นอยู่ตลอด แต่หากจะกางมุ้ง(ปลานกแก้วจะพ่นน้ำลายออกมา เป็นมุ้ง ป้องกันเวลามีภัยครับ) ก็คงต้องลงมาในจังหวะที่เหมาะๆจริงๆ
ส่องไฟฉายไปพบ ตัวยาวๆผ่านไป 4 ตัว เป็นปลาสาก(Baracuda) หรือ ปลาน้ำดอกไม้บนตลาดหรือในห้างสรรพสินค้านั่นเอง
ตัวยาวๆหายเข้าไปในโพรง นี่คือปลาไหลมอเรย์ยักษ์(Giant Moray) เจอบ่อยที่สุดในตระกูลปลาไหลแห่งท้องทะเลครับ
ปิดท้ายด้วย ปลาสิงโตครีบจุด(Spotfin Lionfish) เวลากางครีบออกก็สวยดีครับ แต่มีพิษ ทางที่ดีอย่าไปแตะ อย่าไปจับดีที่สุด
นั่งคุยกันเหมือนเดิม วันนี้ฟังเรื่องจากพี่วาม หากพูดถึงการสูญเสียพี่วามก็ค่อนข้างหนัก เพราะสูญเสียน้องสาวกับแม่ในเวลาใกล้ๆกัน จนทำให้แกบอกว่า ทุกวันนี้บางครั้งก็กลายเป็นคนเย็นชาในบางเวลา นั่นเพราะพบกับเหตุการณ์ร้ายๆมา นั่นเอง
แม้การสูญเสียและการพัดพราก เป็นของธรรมดา แต่ก็คงต้องใช้เวลาในการเยียวยารักษา หากคุณผ่านไปได้ ในชีวิตนี้ก็ไม่มีเรื่องที่น่าเสียใจไปกว่านี้อีกแล้วครับ
0 Comments:
Post a Comment
<< Home