Thursday, May 06, 2010

ดำน้ำสิมิลัน....วันคริสต์มาส(5)







26 ธันวาคม 2552

ผมตื่นมาทั้งน้ำตา เมื่อคืนฝันถึงแม่ครับ ฝันถึงเรื่องเก่าๆ ผมจำรายละเอียดไม่ได้นัก แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่คุยกับพี่วามเมื่อวานนี้ก็ได้

เช้านี้ลงดำกันที่กองหินริเชลิวครับ จุดดำน้ำสุดสวยที่นักดำน้ำต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน

Dive 9 รวมตัวกัน สากนักล่า!!!


ฝูงปลาข้างเหลืองเยอะเลย สำหรับริเชลิว มีอะไรให้ดูเยอะเสมอ

ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ(Harlequin Ghost pipefish) สัตว์ประหลาดที่หลายคนชื่นชอบ ที่เห็นไดฟ์นี้มีอยู่ 3 ตัวครับ แต่ถ่ายรูปมาค่อนข้างเบลอ เพราะข้อจำกัดเรื่องปริมาณนักดำน้ำน่ะ ก็เลยรีบๆดู กด 1 ครั้ง แล้ว รีบๆออกครับ

โพรงตรงนี้ ผมจ๊ะเอ๋กับ กั้งตั๊กแตน(Mantis Shrimp) ว่ากันว่า มีแรงดีดสูงครับ โดนเข้าไปถึงขั้นร้องจ๊าก ดูเฉยๆดีกว่า

จากกั้ง ตรงกิ่งของปะการังมีหอยเบี๊ยครับ สองตัวแน่ะ ลายเหลืองสลับดำแบบนี้ คือ หอยเบี๊ยชนิด Primovula tigris แต่ตัวเล็กมาก ผมต้องขยายดูในกล้องถึงจะเห็นชัด ใกล้ๆมีนักดำน้ำซักคน มาถามว่ามีอะไร ผมไม่รู้จะอธิบายสัญลักษณ์ว่าอะไร ก็เลยกดในกล้องให้ดู คนนั้นทำท่าโอเค(แล้วไปต่อ) แสดงว่า อาจจะธรรมดาเกินไปครับ 555

อุดมสมบูรณ์หรือไม่ ก็มีปลาการ์ตูนสี่ชนิดที่นี่แล้วกัน ใครชอบน้องการ์ตูนคงไม่ผิดหวัง เริ่มจาก ปลาการ์ตูนส้มขาว(Flase Clown Anemonefish) ปลาการ์ตูนอินเดียน(Skunk Anemonefish) ปลาการ์ตูนลายปล้อง(Clark ‘ s Anemonefish) และปลาการ์ตูนปานดำ(Red Saddleback Anemonefish)หรือปลาการ์ตูนมะเขือเทศ นั่นเอง

ที่กลางน้ำ ระหว่างพี่หนอมจุด Sausage ทำ Safty Stop มีฝูงปลาสากบั้ง(Blackfin Baracuda)ให้ดูกัน ลักษณะหัวเรียวแหลม มีบั้งบริเวณลำตัว เป็นนักล่าที่มักจะอยู่บริเวณกองหินที่มีกระแสน้ำ ดูแล้วนึกถึงรายการทีวีของญี่ปุ่น ที่แล่ปลามากินสดๆ เห็นแล้วหิว ปลาสากเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจครับ เก่งแค่ไหนก็ไม่พ้นมนุษย์หรอก จอมทำลายล้างสุดๆแล้ว

แน่นอนที่สุด ส่วนปลาชนิดอื่นๆในไดฟ์นี้ก็มี ปลาสินสมุทรจักรพรรดิ(Emperor Angelfish) และปลาปักเป้าหน้าหมา(Blackspotted Puffer) อีกแล้วครับท่าน

พักน้ำ แล้ว ไส้กรอก ไข่ดาว แฮม ก็แล้ว ลงริเชลิวเหมือนเดิมครับ


Dive 10 ฉุดร่างกายขึ้นอย่างบ้าคลั่งกับลมใน BCD!!!!


ปากเป็นท่อแบบนี้ คือเจ้าปลาจิ้มฟันจระเข้ลายด่าง(Scribbled Pipefish) แถวอ่าวไทยก็มี แต่ที่อันดามันดูจะสดใสกว่าอ่าวไทยที่สีจะตุ่นๆ พวกนี้ปากจู๋ ดูแล้วคงไม่มีฟัน หากมีก็คงไม่คม อาหารเป็นพวกแพลงตอนสัตว์ แต่เวลาเลื้อยคล้ายๆงู หลายคนเห็นการเคลื่อนไหว อาจจะเข้าใจผิดได้

ผมถ่ายเจ้าตุ๊ดตู่ Blenny หรือปลาตั๊กแตนหิน ได้ด้วยครับ ปกติพวกนี้ไว ชนิดนี้สีไม่สวยนักแต่สวยกว่าที่เคยเห็นในอ่าวไทยแน่นอน ลองนิ่งๆ หายใจเบาๆ ดูบ้าง

น้ำเข้าตาด้านขวาครับ ก็เคลียร์กันไป จนกว่าน้ำจะออก แล้วผมก็พบปัญหา เพราะร่างกายเหมือนจะถูกฉุดบริเวณตั้งแต่ส่วนหัวลงไปขึ้นด้านบนอย่างรุนแรง มันเกิดอะไรขึ้น

ผมรู้ว่า มีลมในเสื้อ BCD ครับ พยายามกดไล่ แต่ชุด BCD แบบแปลกๆแบบนี้ ผมไม่เคยใช้มาก่อน(ปุ่มกดอยู่ด้านข้างลำตัว) ถ้าหากผมปล่อยมือจากก้อนหิน ผมจะขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วมาก อาจมีอันตราย จากการขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็ว นั่นไง ไดฟ์คอมเตือนแล้ว รีบตีขาลงมา หาที่จับ ขึ้นไป ผมอาจโดนเรือชนก็ได้นะ ชอบมีอะไรให้ตื่นเต้นอยู่เรื่อยเลยนะ 555(ตอนนั้นไม่ขำครับ แต่ตอนพิมพ์นี่แหละขำ)

รีบเข้าไปหาพี่หนอมก่อนเลยครับ ทำท่าให้ดู(ชี้ไปที่ BCD) พอตัวดันขึ้น พี่หนอมเห็นปัญหา เลยจับเสื้อ BCD ให้ตรง ไล่ลมให้ผม และแล้วก็กลับสู่สภาวะปกติ แต่อากาศจะหมดครับ สาเหตุเพราะตื่นเต้น หายใจเร็ว ผมเลยขอขึ้นก่อนดีกว่า

ไดฟ์ต่อไป มุ่งสู่เกาะตาชัย(บริเวณกองหิน) ครับ


Dive 11 สินสมุทรบั้งเหลือง!!!!


ลงมาพบปลาสร้อยนกเขาแตงโม(Indian Ocean Oriental Sweetlips) ถ้าเจอตอนมาเป็นฝูงนะ สุดสวยเลยครับ ถ้าจำไม่ผิดเคยเห็นภาพที่พี่นัท สุมนเตมีย์เคยถ่ายไว้ โอ้ สวยมาก ลงหน้าปกด้วย

ต่อไปเป็น ปลาสิงโตครีบจุด(Spotfin Lionfish) เคลื่อนไหวช้าพร้อมจะให้ทุกท่านถ่ายรูป

ตรงกลางก้อนหินใหญ่ มีเจ้าปลาสินสมุทรชนิดหนึ่ง สีสีสันสวยงาม ลำตัวสีขาว มีบั้งขาวสลับน้ำเงิน นี่คือ ปลาสินสมุทรบั้งเหลือง(Regal Angelfish) อยู่ในตระกูล Pomacanthus หลายคนสงสัยว่าจะแยกจากปลาผีเสื้อได้อย่างไร เขาบอกว่า ปลาสินสมุทรตัวจะใหญ่กว่า และปลาสินสมุทรมีเงี่ยง แต่ปลาผีเสื้อ ไม่มีครับ

จากนั้นเริ่มถ่ายรูปกันเองครับ ใครอยู่ใกล้ๆก็กดแฉะ Act ท่ากันหน่อยนะ

นอกจากเทอร์โมคลายที่หนาว จับใจแล้ว ก็มีปลาสินสมุทรจักรพรรดิ(Emperor Angelfish) และปลาเก๋าขนาดใหญ่ น่าจะเป็นปลากุดสลาด(Squaretal Coralgrouper) จนปัจจุบัน ผมก็ยังมีปัญหาระหว่างปลาหมอทะเลกับกุดสลาดพอสมควร ใครทราบช่วยบอกผมหน่อยนะครับ

Night Dive เราลงกันที่เกาะบอนครับ


Dive 12 ผีฝรั่งกับคนใบ้!!!!


ระหว่างที่ผมกำลังว่ายผ่านปะการังผักกาด ก็มีสัตว์ทะเลตัวยาวๆอยู่ด้านล่างครับ ใกล้มาก ค่อนข้างตกใจ

ปลาไหลมอเรย์ม้าลาย(Zebra Moray) ครั้งแรกที่เห็นในเวลากลางคืนครับ คราวก่อนผมเจอเวลากลางวัน ก็สิมิลันนี่แหละ แต่ตัวนั้นถ่ายไม่ได้เพราะเร็ว ตัวนี้เคลื่อนช้าๆครับ พอนึกถึงว่ามันคล้ายงู เลยค่อนข้างกลัวๆ ผมลอยตัวอยู่กับที่ หยิบกล้องขึ้นมาถ่าย ก่อนที่มันจะหายเข้าไปในดงปะการังครับ(เห็นโต้งกับนิ้วนางบอกว่า อยากเจอมากนะ สำหรับตัวนี้)

ต่อด้วย Octopus 2 ตัว เกี๊ยวพาราสี คราวนี้ถ่ายรูปได้ครับ

มีปูปะการัง(Coral Crab)และปลาแมงป่องเกล็ดเล็ก(Tassled Scorpionfish) แม้น่าสนใจน้อยสำหรับบางคน แต่เป็นสัตว์ทะเลที่เสมอต้นเสมอปลาย เป็นมิตรกับนักถ่ายรูปเสมอ ถ้าไม่แตะ(ฮา)

ขึ้นมาบนผิวน้ำ ค่อนข้างมืด(ก็แหงล่ะ มัน Night Dive) ใกล้ๆ มีชาวต่างชาติคู่หนึ่งพึ่งขึ้นมา ท่าทางจะหลงกับเรือครับ พอเข้าไปคุยปรากฏว่า เขาทำภาษามือ อารมณ์เหมือนว่า กำลังตกใจกลัว

หรือจะเป็นผีวะ!!! หลายคนคิดแบบนั้น

ดูแล้ว ชาวต่างชาติคู่นี้ ที่ไม่พูด เพราะเขาเป็นใบ้ครับ ผมและเพื่อนๆงง ทำอีท่าไหน ถึงหลุดมาแบบนี้ในเวลากลางคืน แถมพูดก็ไม่ได้ ผมว่าอันตราย ดูท่าทางเขาและเธอ อยู่ในอาการตกใจกลัวซะด้วย!!!

มันไม่ผิดหรอกครับ ในการดำน้ำกลางคืน สำหรับคนใบ้(พึ่งเคยเห็นนี่แหละ) แต่ผมว่า ในการดำน้ำกลางคืน ต้องดูแลให้เข้มงวดมากๆ กว่าปกติอยู่แล้ว โชคดีว่า เจอเรือครับ กำลังหาชาวต่างชาติอยู่พอดี เป็นอันว่า Happy Ending

พักผ่อนครับ ทิ้งช่วงในการเขียนนาน รายละเอียดอาจหายไปบ้าง(นี่ขนาดหายไปนะเนี่ย)



27 ธันวาคม 2552


ลงกันที่เกาะบอนครับ


Dive 13 นโปเลียน ไปซะแล้ว!!!!!


ลงมาแป๊บเดียวก็เจอปลานโปเลียน(Napoleonfish) หรือปลานกขุนทองหัวโหนก จัดว่าใหญ่ที่สุดในบรรดาปลานกขุนทอง เมืองไทยกว่าจะมาแต่ละตัว แต่ต่างประเทศเขาว่าเจอง่ายมาก คงต้องหาโอกาสไปทดลองดูครับ

ปลากะรังลายนกยูง(Peacock Grouper) ปลาปักเป้าจุดฟ้า(Bluespotted Puffer) ปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish) ปลาสินสมุทรวงฟ้า(Blue ring Angelfish) และปลาตัวใหญ่ ที่งงอีกแล้ว ว่ากุดสลาดหรือหมอทะเล

ที่เหลือ ว่ายเล่นในแนวน้ำตื้นครับ ไม่มีอะไรมาก

พักน้ำแล้วลงที่เกาะบอนอีกไดฟ์หนึ่ง



Dive 14 ปวดคอ เสมหะเหนียว!!!!



น้ำยังคงใสดีครับ ด้านล่าง รวมฮิตปลาบู่ เริ่มจาก ปลาบู่หน้าม่วง(Decorated Dartfish) และปลาลูกดอกเพลิง(Fire Dartfish)

ดูแล้วเหมือนนักดาบ มากกว่ากุ้งครับ นี่คือ กุ้งมังกร(Lobster) ขึ้นภัตตาคารเมื่อไร ราคาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ดูแล้วในน้ำ มีชีวิตชีวากว่าบนจานเยอะ

ดูเหมือนปลากระดี่ทะเลนะครับ ถ่ายไม่ชัดเท่าไร แต่ใช่แน่ๆ

รู้สึกทรมานครับ คอแห้งมาก แถมมีเสมหะที่เหนียวแล้วขากไม่ออกเสียด้วย ก็เลยเป็นอะไรที่พะอืดพะอม พอสมควร อยากจะขึ้นซะเดี๋ยวนั้นเลย

ปิดท้ายก็มีปลาสลิดหินคอขาว ปลาผีเสื้อรูปไข่ ปลาไหลมอเรย์ยักษ์ ปลิงขูด(Bohaddschia graffei) และปลาปักเป้าหน้าหมาครับ

จริงๆไดฟ์หน้ามีอีกครับ ที่เรือจมบุญสูง แต่ผมขี้เกียจลงแล้วครับ เป็นไดฟ์แรกที่ skip เลยยังไม่ถึง 117 หยุดแค่ 116 ก่อน

คนอื่นๆไม่ลงเพราะวันรุ่งขึ้น มีขึ้นเครื่องตอนเช้า ต้องพักน้ำให้เพียงพอ ไม่งั้นอาจเป็นอันตรายได้ ส่วนผมกลับบ่ายครับ

การตัดสินใจ skip ไดฟ์นี้ของผม ถือว่าพลาดอย่างแรง เพราะพี่หนอม พี่ซิม ครูนัท น้องเหม่เม้ เจอปลาสุดหายากในเมืองไทยครับ เห็นว่าอาจเป็นครั้งแรกที่มีรายงาน ต่างประเทศมีที่ช่องแคบเลมเบห์ครับ

รู้สึกว่าจะชื่อ เวลเวด หน้าตามันประหลาดครับ(ดูจากกล้องพี่หนอม) จนบางทีหลายคนอาจไม่สนใจ แต่ผมว่าในเมืองไทย เจอยากกว่าแมนต้าหรือฉลามวาฬอีกนะ
มุ่งหน้ากลับสู่ท่าเรือทับละมุ

คืนสุดท้ายก็มีฉลองกัน น่าจะมากที่สุดสำหรับทุกคืนครับ


28 ธันวาคม 2552


มาสนามบินพร้อมๆกับทุกคนครับ ดูจะโกลาหลเล็กๆ เพราะคนเยอะมาก ต่อแถวยาวเหยียด จะตกเครื่องกัน ต้องรีบวิ่งเข้าไปด้านใน เอาบัตรประชาชนไปให้เจ้าหน้าที่ก่อน

ส่วนผม จะมาเที่ยวต่อครับ ตั้งใจว่าจะเที่ยวใกล้ๆสนามบินนี่แหละ

หลังจากทุกคนไปกันแล้ว ผมเดินต๊อกแต๊ก หารถเข้าเมือง เพราะรถโดยสารแบบขามา มันออกไปแล้วครับ!!!

ไม่นานนัก ผมเจอลุงชนะ ขับรถส่วนตัว บริการนักท่องเที่ยว เมื่อตกลงราคาได้ เช้านี้ผมจะไปวัดพระทอง เพื่อไปทำสังฆทานให้แม่ และไปอุทยานแห่งชาติสิรินาถ(หาดในยาง) เพื่อสำรวจครับ

นับว่าตัดสินใจถูก เพราะของหนักกว่าขามา(เปียกน้ำ) แถมรถโดยสาร ไม่ผ่านสถานที่ที่ผมจะไปครับ


มุ่งหน้าสู่วัดพระทอง(วัดพระผุด)


“ตั้งแต่ลุงขับรถมา ไม่เคยเห็นคนอย่างไอ้หนุ่มเลย ลุงขับรถมานาน เชื่อเถอะ ที่มาเข้าวัดเข้าวาแบบนี้ ไม่มีหรอก” ลุงชนะบอก

“ผมก็แค่อยากมาทำสังฆทานให้แม่ครับ แม่ผมพึ่งเสียจากมะเร็ง วัดนี้ผมกับแม่และครอบครัว เรามากันประจำเวลามาภูเก็ต ก็อยากจะมาแม่เที่ยวด้วยครับ” พูดไปก็ยิ่งบิ้วอารมณ์ตัวเอง ไปซะอย่างงั้น

หาข้าวกินหน่อยครับ หิวมาก ข้าวแกงท้องถิ่นนี่แหละ ลุงชนะบอกไม่ต้องรีบ

ก็หาเครื่องสังฆทานซะเลย


วัดพระทองและตำนาน


“ตำนานพระผุดฉบับวัดพระทองเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีเด็กเอาควายมาผูกไว้กับหลัก ต่อมาทั้งเด็กและควายก็ตายลง พ่อเด็กฝันเห็นสาเหตุการตาย เลยมาดูที่หลัก จึงพบว่าเป็นพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป”

สงสัยมาเช้าไป พระท่านยังฉันอยู่เลยครับ ผมเลยต้องรอ พออยู่เงียบๆ มองดูในสถานที่ที่คุ้นเคย ก็ฟุ้งซ่าน น้ำตาก็คลอ แม่เคยมาตรงนี้ ผมถ่ายรูปให้ตรงนี้ เรามาไหว้พระกันที่นี่

พอพระท่านมา ผมมาทำสังฆทาน ท่านก็พูดคุยกับผมเล็กน้อย

“จริงเหรอ มีคนมาบนไว้กับหลวงพ่อพระผุดเหมือนกัน จะสอบผู้พิพากษา ท่าทางคงสอบได้ล่ะ เลยมาแก้บน”

ท่านก็บอกให้ผมพยายามต่อไปครับ


อุทยานแห่งชาติสิรินาถ(หาดในยาง)


อยู่ใกล้สนามบินมากครับ ที่มาเพราะอยากดูว่าเป็นอย่างไร จะเอาตราอุทยานมาปั้มด้วยน่ะ

ปั้มตราอุทยาน เดินออกมาสำรวจหาด ค่อนข้างเงียบ เหมาะกับคนที่ชอบความเงียบสงบจริงๆ

สูดหายใจเต็มปอด คงอีกนานกว่าจะได้กลับมาอีก

ที่สนามบินคนยังเยอะอยู่เลยครับ เจอครูนัทกับพี่ซิมที่นี่ด้วย พึ่งนึกขึ้นได้ว่าลืมถุงเท้าที่เรือ กับกระดาษจนเบอร์โทรศัพท์ 1 ใบ (คงไม่ทันแล้วล่ะ 555)

ขากลับมาดอนเมือง เจอสาวคนนั้นอีก และก็ไม่ผิด ก็น้องปุ๊ ลูกศิษย์ครูปรีชานี่แหละ น้องปุ๊ไปดำน้ำอันดามันใต้มาครับ

บทส่งท้าย



ครั้งที่สามกับทริปอันดามันเหนือ แม้ครั้งนี้การเดินทางจะเปลี่ยนไปเพราะไม่มีเธอคนนั้น อยู่ที่ปลายสายโทรศัพท์ คอยคุย คอยถาม คอยห่วงใยและยึดเหนี่ยว

ขอบคุณสมาชิกทุกท่าน อาจจะเขียนบันทึกการเดินทางที่เสร็จช้าที่สุด ตั้งแต่ที่เคยเขียนมา เพราะกินเวลา 4 เดือน พึ่งจะมีเวลาน่ะครับ

ยังไงก็ เจอกันทริปหน้า

ขอบคุณที่ติดตามครับ





Phop Payapvipapong

27 April 2010

4.26 Pm

Wednesday, May 05, 2010

ดำน้ำสิมิลัน....วันคริสต์มาส(4)







Dive 5 อินเดียนมิใช่อินเดียนแดง!!!

ถ้าจำไม่ผิดหินหัวช้างกับหินหัวกะโหลกน่าจะเป็นที่เดียวกันนะ ลักษณะจะเป็นหินที่โผล่พ้นน้ำ ด้านล่างจะเป็นกองหินขนาดใหญ่ พื้นที่ค่อนข้างกวาง

จำได้ว่าเคยเจอปลากบยักษ์สีขาวครับ แต่เห็นคนอื่นๆบอกว่า ไม่ได้อยู่ที่เดิม มันย้ายที่อยู่ไปแล้ว อาจจะถูกรบกวนเยอะก็ได้มั้ง

ถ่ายของที่เห็นๆกันดีกว่าครับ นี่คือ ปลาการ์ตูนอินเดียน(Skunk Anemonefish) พบได้บ่อยในทะเลอันดามัน อยู่กับดอกไม้ทะเลฐานม่วง(Heteractis magnifica) นิสัยไม่ขู่ฝ่อเหมือนปลาการ์ตูนอานม้า ออกแนวขี้อายเหมือนสาวบางคน

หลายคนจะสับสนกับปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish) ที่พบมากในอ่าวไทย ขีดที่แก้มและสีลำตัวจะคนละแบบครับ เป็นคนละตัวนะ

สถานที่ที่พบบ่อย ให้นักดำน้ำแบบ Snorkeling ไปที่เกาะยักษ์ จ.ตราดครับ เยอะเชียว ดูไม่เบื่อเลยล่ะ(ระวังขาจะไปโดนนะครับ ลอยตัวดีๆ)

มีช่องมีโพรงเยอะครับ ก็ค่อยๆมุดกันไป ตาม Dive Leader ให้ดี ผมเคยน้ำเข้าหน้ากากตอนอยู่ในโพรงครับ เข้าสองข้าง มืดสนิท ไม่มีแสงอะไรเลย ต้องหลับตาเคลียร์น้ำออกจากหน้ากาก เฮ้อ สนุกดีแท้ 555

ในถ้ำถ้าสังเกตดีๆจะมีปลาหลายชนิดครับ เช่น ปลากระดี่ทะเล ปลาข้าวเม่าน้ำลึก เป็นต้น ดวงตาของปลาที่อยู่ในถ้ำ ธรรมชาติสร้างมาแสนจะสมดุลครับ ดวงตาใหญ่ เพื่อให้มองเห็นได้ชัดแม้ในสภาวะแสงน้อย
นอกนั้นปลาชนิดอื่นๆเท่าที่จำได้ ก็มีปลาโนรี(Longfin Bannerfish) ปลาสร้อยนกเขาแตงโม(Indian Ocean Oriental Sweetlips) และปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish) ครับ

ขึ้นมารับประทานอาหารเช้าครับ พี่เอบอกผมว่า

“ภพ ตะกั่วกับลมใน BCD มันไม่สัมพันธ์กันนะ ตัวภพตกตลอดเลย ได้เติมลมหรือเปล่า? ตอนลงไป”
“เออ จริงด้วยครับพี่ ผมลืมเติมเลย เวรกรรม มิน่าล่ะ”

น่าอายครับ 555 ดำมาไดฟ์ที่ 107 แล้ว แต่เบสิคง่ายๆและเป็นเรื่องสำคัญซะด้วย ผมกลับลืมเฉยเลย ไปเรียนโอเพ่นใหม่ดีไหม 555

จากผิวน้ำ เราปล่อยลมออกจากเสื้อ BCD เมื่อลงไปด้านล่างก็ต้องปรับสภาวะการลอยตัวให้ดีครับ การเติมลมเพียงเล็กน้อย ช่วยให้สภาวะการลอยตัวคงที่และสัมพันธ์กับตะกั่วที่ถ่วงบริเวณเข็มขัด ทำให้เราไม่ต้องตีขา อยู่เฉยๆ ก็หยุดอยู่ตรงนั้นได้ อยากจะมองป ปลา นานเท่าไร ห้อยหัวยังไง(ระวังเสื้อ BCDหลุด)ก็ไม่มีใครว่า

แต่อย่าลืมว่า เติมลมให้เพียงพอและเท่าที่จำเป็นครับ มิใช่กดปื๊ด กดปี๊ด ตัวลอยขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความรวดเร็ว อันตรายนะ

“ไดฟ์หน้าครับพี่ แก้ตัวใหม่” ผมขำตัวเอง

“ไปถ่ายรูปเกาะแปดกัน”

คราวนี้ดูจะพร้อมเพรียงกันดีครับ เพราะสาวๆนัดกันไปถ่ายรูป แต่ละคนแต่งตัวแบบกินกันไม่ลง ทั้งสีชุด และการแต่งหน้า นางฟ้าครองเรือละมั้ง 555
“แป้งไม่ถ่ายค่ะพี่ เดี๋ยวจะไปขอนอนชิวๆริมหาด”(แต่ชุดแต่งพร้อมเลยนะ)

กลับมาเยือนเกาะแปด(หินใบ)

คราวก่อนที่มาขึ้นหินใบไปแล้ว คราวนี้ถ่ายรูปสาวๆน่าจะดีกว่า

แดดช่วง 11 โมง ร้อนแบบเปรี๊ยงๆครับ(ร้อนมาก) ผลที่ได้คือ รูปออกมาสวยมาก เมื่อตัดกับสีของน้ำทะเล หาดทรายสีขาวละเอียดที่สวยงามสุดๆของเกาะแปด

พี่ดา นิ้วนาง น้องแคร์ ฝ้าย ตุ๊ย ตาล ปู นุ่น น้องเหม่เม้ พี่พัท และแป้ง(ไหนว่าจะนอนชิวๆไงน้อง ทนความเย้ายวนไม่ไหวแล้ว)

คนที่นอนชิวจริงๆ คือพี่วามกับโต้งครับ แต่ก็ไม่รอดโดนปลุกมาถ่ายรูปอยู่ดี

ตากล้องทำงานดีครับ พี่เอ พี่โก้ พี่พัท ตาล ฝ้าย ส่วนผม ถ่ายเก็บบรรยากาศอย่างเดียว

แต่ผมก็มีรูปแบบคนอื่นๆเหมือนกัน พี่พัทอนุเคราะห์ครับ ผมชอบมาก ทั้งรูปหน้าตรงติดบัตร หรือรูปที่ตาลกับน้องแป้งกระโดดดันไหล่ผมขึ้นไป ดูเท่ดีและสุขมาก(โอ ไม่สุขได้ไง นานๆมีที)

ส่วนฝ้ายก็ถ่ายเลนส์ตาปลา Fisheye ได้สวย มีรูปของทุกๆคน ผมชอบรูปที่น้องเหม่เม้ขี่หลัง บางคนบอกเหมือนคู่รัก(น้องอายุ 14 เองครับ ผมยังไม่อยากติดคุก 555)

นางแบบเริ่มเหนื่อยครับ แดดร้อนด้วย อีกทั้งก็ใกล้เวลาที่เรือจะมารับแล้ว โชคดีว่า ผมหยิบสมุดมาครับ ไปปั้มตราอุทยานแห่งชาติก่อนดีกว่า

เรือมาครับ กลับเรือกัน

จุดดำน้ำต่อไปเรียกว่า North Point ครับ แต่งตัวแล้วลงดำกันเลยดีกว่า



Dive 6 สนุกขึ้นเยอะเลย เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย!!!

ลงมา ผมไม่ลืมครับ เติมลมนิดนึง ผลคือ ผมลอยตัวได้ดีขึ้น ขาแทบไม่ต้องตี ขยับเบาๆก็ไปแล้ว สามารถถ่ายรูปสัตว์ทะเลชนิดไหนก็ได้ ที่อยากถ่าย(ตามความสามารถ) และไม่ต้องกลัวว่าจะโดนปะการังโดยไม่ตั้งใจ แม้จากลำตัวจะห่างจากปะการังแบบมือเอื้อมถึงก็ตาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ อากาศก็ใช้ได้นานขึ้น หายใจเข้า-ออก ช้าๆ นั่นเต่าครับเต่า

เจ้าเต่ากระ(Hawksbill Turtle) 2 ตัว หนึ่งในนั้นว่ายผ่านไป อีกตัวกำลังอยู่บนพื้น ขบกัดตะไคร้น้ำอย่างมีความสุข

แม้จะอยู่ใกล้ๆก็ไม่หนีครับ พี่หนอมเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ผมรอจังหวะคนโล่ง ขอไปถ่ายบ้าง

จากนั้นมาถ่ายปลาการ์ตูนลายปล้อง(Clark ‘ s Anemonefish) กันดีกว่า อย่าลืมว่ามีการผันแปรของสีเยอะครับ ก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ เจ้านี่ดูก้าวร้าวกว่าอินเดียนครับ เท่าที่เห็นอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด S. Haddoni นะ

ฟินใครหว่า คนละข้าง คนละสี ถ่ายมาก่อน ไม่แน่ใจว่าใส่ผิดหรือยังไง แต่คิดว่าแฟชั่นครับ 555
กัลปังหาเมื่อตัดกับสีน้ำทะเล กับฝูงปลาเล็กปลาน้อยนับพัน สวยงามมากๆ

เจอนูดี้แล้วครับ นี่คือทากเปลือยชนิด..... ติดไว้ก่อนนะ ลำตัวสีดำ ปุ่มที่ลำตัวมีสีเทา คงไม่ใช่ทากหายากครับ แต่ยังหาชื่อไม่ได้(ไปอ่านกฎหมายเยอะ ความรู้ ความขยันในด้านนี้ก็ต้องหายไปบ้าง เรื่องธรรมดาครับ)
ต่อด้วยปลาวัวตัวตลกหรือปลาวัวมงกุฎ(Crown Triggerfish) มาแบบเงียบๆแต่ลวดลายสวยมาก น่าจะเป็นปลาวัวที่ลวดลายสวยงามติดลำดับต้นๆเลยครับ

นอกจากฝูงปลากลางน้ำ ด้านล่างมีหอยมือเสือ(Giant Clam)ครับ ขนาดใหญ่แม้จะไม่ใช่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็น หวังว่าจะปลอดภัยจากน้ำมือมนุษย์ล่ะ

ทากปุ่มสีขาว มีลายสีดำพาดผ่าน ดูแล้วคล้ายชนิด Phyllidiopsis krempfi

แมงกะพรุน(Jellyfish) ล่องลอยไปมา เดี่ยวๆ ก่อนจะตกเป็นเหยื่อของปลาทั้งหลาย พี่หนอมหรือพี่หัวไก่กำลังถ่ายอยู่ ผมรอจังหวะเข้าไปบ้าง

ปิดท้ายด้วย เจ้าปลากลางน้ำแสนเชื่องเข้าใกล้ได้มากกว่าแมวจรจัดแถวบ้านซะอีก นักดำน้ำคงรู้ เจ้าปลาหูช้างครีบยาว(Teira Batfish) นั่นเอง ยื่นกล้องเข้าไปห่างไม่ถึงครึ่งเมตร ก็ยังไม่หนีเลยครับ

ส่วนปลาชนิดอื่นๆในไดฟ์นี้ก็มี ปลาสินสมุทรจักรพรรดิ(Emperor Angelfish) และปลาปักเป้าหน้าหมา(Blackspotted Puffer) ครับ

พักรับประทานอาหารกลางวัน ในขณะที่เรือโชคทวี มุ่งหน้าสู่เกาะตาชัย

พักน้ำประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ลงดำกันต่อเลยนะครับ


Dive 7 วัวดำรวมฝูง !!!!

แน่นอนว่า จุดดำน้ำนี้ ใครๆก็นึกถึงแมนต้า เป็นอันดับแรก แล้วถ้าแมนต้าไม่มาล่ะ คุณจะไม่ดูสัตว์ทะเลชนิดอื่นเลยเหรอ?

หลายครั้งที่ผมมาที่นี่ แล้วไม่เจอสัตว์ใหญ่ อาจเป็นเพราะผมมาในช่วงที่คนมากทุกๆครั้ง ก็เป็นได้ แต่ก็พยายามดูด้านล่างว่ามีอะไรบ้าง

ด้านล่างพบปลาวัวดำครับ(Redtooth Triggerfish) มาเป็นฝูง ปลาวัวชนิดนี้เป็นหนึ่งในชนิดที่เรามักพบครั้งละหลายๆตัว ไม่เหมือนปลาวัวไตตัน(Titan Triggerfish) ปลาวัวตัวตลก(Crown Triggerfish) หรือปลาวัวปิกัสโซ่(Wedge Picassofish) ที่มักจะเจอครั้งละ 1 ตัว

แน่นอนว่า สีสันของปลาวัวดำนั้นแสนจะธรรมดา หลายคนคงไม่สะดุดตาเท่าไร แต่หากเป็นนักดูปลา ก็ควรจะรู้ไว้ สำหรับนักดำน้ำแบบ Snorkeling ไปเกาะสุรินทร์ครับ มีแน่นอน

จากปลาวัวดำ ผมลอยตัวถ่ายปลาสิงโต(Common Lionfish) ดูแล้ว ดีกว่าในตู้ปลาเยอะเลย

พี่หนอมกำลังดูโกบี้หน้าม่วง DM แป้งไม่เห็นว่ามีคนดูอยู่ กำลังจะเข้าไปใกล้ๆโกบี้ พี่หนอมเลยรีบดึงไว้ โกบี้ค่อนข้างขี้ตกใจครับ หากไม่ระวัง ก็จะมุดลงไปในรู แต่ต้องรอจังหวะ เขาถึงจะโผล่มาใหม่

ส่วนผม อยู่ฝั่งตรงข้ามครับ มองพอเห็นพี่หนอมและเพื่อนๆนักดำน้ำที่กำลังดูปลาบู่หน้าม่วง ขณะที่ผมอยู่บนพื้นหินก้อนเล็กๆ สายตาสอดส่ายหาสัตว์ทะเล ด้านหน้าผม มีเจ้าโกบี้สีแดงหรือปลาลูกดอกเพลิง(Fire Dartfish) พอจะยกกล้องขึ้นมาถ่าย เจ้าลูกดอกเพลิงก็หายวับไปกับตา(ไวจริงๆ) แต่ก็หวังว่าในอนาคตจะถ่ายรูปเจ้านี่ได้บ้างเหมือนกับคนอื่นๆ

ส่วนปลาอื่นๆในไดฟ์นี้ ก็มีปลาปากขลุ่ย(Smooth Flutemouse) ปลาผีเสื้อพระจันทร์(Racoon Butterflyfish) ปลาสินสมุทรวงฟ้า(Bluering Angelfish)

จากตาชัย เราไป Night Dive กันที่เกาะบอนครับ


Dive 8 ลีลาการจีบกันของหมึกยักษ์!!!!

ลงมาก็เจอของดีเลยครับ เจ้าOctopus หรือหมึกยักษ์ กำลังใช้หนวดจับกัน เรียกว่า กำลังมีรัก แต่มันคงตกใจเล็กน้อย ที่มีใครก็ไม่รู้มาขัดขวางความสุข อาจทำให้หมดอารมณ์ก็ได้ แต่เท่าที่ดู หมึกยักษ์ก็ยังจับแน่นอยู่นะ ท่าทางคงไม่มีอุปสรรคใดๆมาขวางกั้นความรักระหว่างกันและกันได้

ปลานกแก้ว(Parrotfish) เจอทุกไดฟ์เวลาลงกลางคืน และมักจะนอนทุกไดฟ์ ลองดูใต้ปะการังก็ยังเห็นอยู่ตลอด แต่หากจะกางมุ้ง(ปลานกแก้วจะพ่นน้ำลายออกมา เป็นมุ้ง ป้องกันเวลามีภัยครับ) ก็คงต้องลงมาในจังหวะที่เหมาะๆจริงๆ

ส่องไฟฉายไปพบ ตัวยาวๆผ่านไป 4 ตัว เป็นปลาสาก(Baracuda) หรือ ปลาน้ำดอกไม้บนตลาดหรือในห้างสรรพสินค้านั่นเอง

ตัวยาวๆหายเข้าไปในโพรง นี่คือปลาไหลมอเรย์ยักษ์(Giant Moray) เจอบ่อยที่สุดในตระกูลปลาไหลแห่งท้องทะเลครับ

ปิดท้ายด้วย ปลาสิงโตครีบจุด(Spotfin Lionfish) เวลากางครีบออกก็สวยดีครับ แต่มีพิษ ทางที่ดีอย่าไปแตะ อย่าไปจับดีที่สุด

นั่งคุยกันเหมือนเดิม วันนี้ฟังเรื่องจากพี่วาม หากพูดถึงการสูญเสียพี่วามก็ค่อนข้างหนัก เพราะสูญเสียน้องสาวกับแม่ในเวลาใกล้ๆกัน จนทำให้แกบอกว่า ทุกวันนี้บางครั้งก็กลายเป็นคนเย็นชาในบางเวลา นั่นเพราะพบกับเหตุการณ์ร้ายๆมา นั่นเอง

แม้การสูญเสียและการพัดพราก เป็นของธรรมดา แต่ก็คงต้องใช้เวลาในการเยียวยารักษา หากคุณผ่านไปได้ ในชีวิตนี้ก็ไม่มีเรื่องที่น่าเสียใจไปกว่านี้อีกแล้วครับ