Wednesday, December 15, 2010

สิปาดัน....มหัศจรรย์ทะเลเซเลเบส(9)




Dive 7 ซ้อมเคลียร์หน้ากาก / I am Leader!!!!

ดำตรง Paradise 1 นี่แหละครับ เข็มทิศก็ไม่ได้เอามา(แล้วทำไมไม่เอามา) ถ้าทดลองจากที่พี่หนึ่งและพี่ปุ๋มบอกไว้ ก็ดูจะไม่ยากในการไป Paradise 2 และกลับมายัง Dive center(ก็วันก่อน Rika ก็พึ่งพาไปดูแมนดารินนี่) เพียงแต่ผมคิดเล่นๆว่า ถ้าดำไปเรื่อยๆ ไปโผล่ Seaventure ทำไงวะเนี่ย (คิดในแง่ดี ผมจะได้ดูปลา

กบน่ะซิ 555)


ถ้าจะ Clear หน้ากาก ก็อยู่ใต้สะพานนี่แหละ วนไปวนมา น่าจะมีอะไรให้ดูเยอะ ตอน Check Dive วันแรกที่มาถึง ก็พอเห็นอยู่บ้าง


ไดฟ์นี้ลงคนเดียว ฉะนั้น ผม คือ Leader ตัวเอง รับผิดชอบตัวเองให้ได้ ใจตัวเองบอกว่า ไม่อยากดำแบบไม่รู้ทิศทาง แบบไปเรื่อยๆ เสี่ยงดวง แต่อยากจะดำสบายๆ รู้แน่ๆ ว่าทางขึ้นอยู่ตรงไหนมากกว่า? แน่นอนว่า ถ้าแม่ยังอยู่ ท่านก็คงไม่ปลื้ม และคงห่วงผมมาก


ระดับความลึกสูงสุด แค่ 6 เมตรเท่านั้น มองเห็นนักเรียน Open Water น่าจะเป็นครอบครัวชาวเยอรมัน กำลังเรียนภาคปฎิบัติ(บังเอิญว่าที่นี่มันไม่มีสระว่ายน้ำ ก็คงเหมือนเรียนดำน้ำที่เกาะหลีเป๊ะ) ขยับไปอีกด้านดีกว่า


สัตว์ทะเลขาประจำที่อยู่บริเวณใต้สะพานนี้ เริ่มจาก ปลาหูช้างครีบยาว(Teira Batfish) พี่แกนิ่ง ว่ายช้าๆ เชื้อเชิญให้เข้ามาถ่ายรูปได้ตลอดเวลา แม้จะเป็นวีดีโอ ก็ยังนิ่ง ไม่หนีไปไหน


ใกล้ๆ ตรงเสาและตรงพื้นไม้ของสะพาน นอกจากจะมีฟองน้ำ สาหร่ายและเพรียงเกาะอยู่แล้ว ยังมี Scribbled Pipefish หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลายด่าง อยู่ เคลื่อนไหวแบบพลิ้วๆ เคยให้เพื่อนดูรูป บางคนกลัวบอกเหมือนงู จริงๆไม่ได้มีอะไรครับ น่ารักๆ


ปลามีดโกน(Razor Fish) 10 กว่าตัว ลอยตัวเรียงกันเป็นระเบียบเรียบร้อย บางตัวลอยแบบเฉียงๆ บางตัวหัวปักลงพื้นแบบ 90 องศา แต่ก็ยังว่ายน้ำ เคลื่อนที่ได้ปกติ นับเป็นหนึ่งในปลาที่ว่ายน้ำประหลาด และผมเชื่อว่าหลายๆท่าน ที่ไม่ได้ดำน้ำ อาจไม่ทราบ ว่ามีปลาแบบนี้อยู่


ใต้ซากปะหรักหักพัง ท่ามกลางแท่งปูนที่วางเรียงซ้อนกัน ผมกำลังตามถ่ายปลาสิงโต(Common Lionfish) ดูซิครับ ปะการังก็ไม่มี แต่ปลาที่เห็นนี่ ไม่ใช่ว่าจะเจอได้ง่ายๆ แบบกระโดดลงจากสะพานแบบนี้นะ


ตรงนี้ก็มี ปลาไหลมอเรย์หน้าปาน(Darkspotted Moray - gymnothorax fimbriatus) ลำตัวสีเหลือง การอ้าปากแบบนี้ มิใช่การขู่ แต่เป็นการหายใจของเขาต่างหาก วันนี้ได้สังเกตได้นานขึ้น หลังจากตอน Check Dive อยู่ไม่นานนัก เพราะต้องตาม Leader( Jimmy) เอ้า! ถ่ายวีดีโอไว้ด้วยดีกว่า อ้าปากเข้า! พี่มอเรย์


คราวนี้ได้เวลาซ้อม Clear หน้ากากแล้ว ผมคุกเข่า ปล่อยน้ำเข้า แล้ว Clear น้ำก็ออกตามปกตินะ เลยไม่รู้ว่า ที่มันเป็นปัญหาเพราะอะไร ไม่เป็นไรครับ ค่อยๆแก้ไป ผมเชื่อว่า ผมจะรู้แน่ๆ ในไม่ช้า


ลองถ่ายรูปตัวเองบ้าง เอา Regulator ออกจากปาก ทำ Bubble แล้วจับใส่ปากเหมือนเดิม กดปุ่ม Purgeด้วย


ก่อนขึ้นขอถ่ายวีดีโอ Razor Fish ซะหน่อย 30 กว่าตัวขึ้นไปแน่ๆ เยอะจริง


ไปสิปาดันอีกวันดีไหม?


ขึ้นมา ก็ลงชื่อและเวลาให้เรียบร้อย ทุกๆคนจะได้ไม่เป็นห่วงแล้วออกตามหา นับว่าดีครับ ฝึกให้ Diver รู้จักรับผิดชอบดี


“Tomorrow , You go to Sipadan.” Jimmy บอกผม


กำลังคิดว่าจะไปดีไหม ใจหนึ่งไม่อยากไป ถ้าไม่ได้ออกตี 5(Early Morning) เพราะผมอยากเห็นเจ้าปลานกแก้วหัวโหนก(Bumphead Parrotfish) อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญของที่นี่ เขาว่ามีเยอะมาก ถ้าได้เห็นก็คงจะสุดยอด(บางทีแล้วแต่ดวงครับ ออกตี 5 ไม่เจอก็มี ออกบ่ายเจอก็มี เพียงแต่ว่า ออกตี 5 โอกาสเจอจะง่ายกว่า) ตอนนี้มีคู่รักชาวฝรั่งเศส 2 คน Marie กับ Phillipe ที่ไป ผมลองชวน Edu ด้วย เพราะเขาก็คงอยากจะเห็นเหมือนกัน(หาแนวร่วม)


เรื่องจ่ายเงินเพิ่มน่ะ ไม่มีปัญหาหรอกครับ คราวนี้ลองมาคิดเล่นๆดีกว่า ว่าน้ำหนักไปทางไหน ครูตุ๋มบอกว่า “ไปเลยภพ 2 วัน” พี่หมอหมูบอกว่า “ต้องไปเลยภพ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม” พี่หนึ่งบอกว่า “ไปเถอะครับ 2 วัน” และนักดำน้ำอีกหลายๆท่าน ที่ผมไม่ได้กล่าวถึง ส่วนใหญ่มาในทิศทางนี้


“Ok Phop , Tomorrow at 05.15 am!!” Jimmy บอก


เยี่ยมเลยครับ! รอโอกาสนี้แหละ ตอนแรกนึกว่าไม่มีคน ปรากฎว่าพรุ่งนี้เรือออกตี 5 สองลำ แน่ะ อย่าลืมว่าที่เกาะสิปาดันมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ละรีสอร์ทก็มีโควต้าอยู่ หากผมไปในช่วงที่คนเยอะๆ ก็คงต้องผลัดๆกันไป แต่ตอนนี้คนไทยกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม กลับไปแล้ว ถือว่าจำนวนคนที่รีสอร์ทตอนนี้น้อย ว่างอยู่หลายห้อง


เห็นที่กระดาน Leader ชื่อ Valentine ผมคิดในใจ ผู้หญิงแน่เลยว่ะ(แต่ผิด พี่วิทย์บอกว่าเป็นผู้ชายครับ)

หยิบกล้องกลับห้อง ไปอาบน้ำดีกว่า


100 Percent!!!! 80 Percent!!!!


หลังจากอาบน้ำ ผมยังไม่ไปกินข้าว แต่มาใช้บริการ Internet Service ส่งข่าวให้ที่บ้านซะหน่อย ที่นี่ผมเจอ Ramil (เจอที่นี่ประจำครับ แกชอบมาเล่น Internet ตรงนี้) เลยถามว่า พรุ่งนี้ผมจะออกไปดำน้ำ ตี 5 ผมจะมีโอกาสพบปลานกแก้วหัวโหนกมากน้อยแค่ไหน?


“100 percent Bumphead Parrotfish!!!! and 80 percent School of Bumphead Parrotfish!!!!”


จริงเหรอเนี่ย! ผมตื่นเต้นมาก ถ้าเป็นแบบที่ Ramil พูดไว้จริงๆ พรุ่งนี้เช้าผมจะพบเจ้า Bumphead Parrotfish แน่ๆ ส่วนจะเป็น School หรือเปล่าต้องไปวัดดวงเอา แค่เห็นผมก็ดีใจแล้วครับ เมืองไทยพบยากมาก กว่าจะมาซักตัว แล้วไม่สามารถการันตีได้ว่าจะเจอแบบนี้


อาหารเย็นวันนี้ นั่งคุยกับพี่วิทย์ พี่หนึ่ง พี่ปุ๋ม และ Rika ผมหยิบหนังสือสัตว์ทะเลของพี่ Cat และกลุ่มเพื่อนๆของแกในนาม Sea Paradise มาด้วย นอกจากสัตว์ทะเลหลายชนิดที่เป็นที่สนใจแล้ว รูปถ่ายของนักดำน้ำครั้งออกทริปก็เช่นกัน เพราะบางคนพี่วิทย์ พี่หนึ่ง พี่ปุ๋ม ก็รู้จักดี อย่างว่าล่ะครับ วงการนี้มันก็ไม่ได้ใหญ่มากนัก รู้จักกันหมด ออกทริปบ่อยๆ ก็หน้าเดิมๆนั่นแหละ


ก่อนนอนก็ลาพี่หนึ่ง พี่ปุ๋ม ตรงนี้ พรุ่งนี้แกกลับกรุงเทพแต่เช้า (แต่ผมเช้ากว่า) ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตี 4 ดีกว่า กลัวพลาด อย่างที่เคยเรียนไว้ครับ ในห้องไม่ได้มีโทรศัพท์ ไม่มีบริการปลุก ถ้าตื่นสาย พลาดเรือวันพรุ่งนี้ อาจจะกินเวลาอีกหลายปี กว่าผมจะได้กลับมาที่นี่อีก


จะเกิดอะไรในบ้าง ผมจะได้เจอสิ่งที่อยากเห็นหรือไม่ พรุ่งนี้มีคำตอบแน่นอนครับ


26 ตุลาคม 2553


เสียงนาฬิกาปลุกดัง ก็ลุกทันทีเปรียบดั่งไฟลนก้น ตื่นสายคงไม่ตลก เพราะไม่ใช่ว่าจะกลับมาแก้ตัวได้ง่ายๆนะ เช้านี้อากาศเย็นๆ แต่อากาศดีทีเดียว


เตรียมของให้เรียบร้อย ไป Dive Center นี่ผมรีบมาเกินไปหรือเปล่า เรือออก ตี 5 :15 นาที นี่พึ่งจะตี 4 ครึ่งเอง 555


ไม่มีใครอยู่ตรงนี้ นอกจาก Andyrian ที่นอนหลับยืดยาว(ลักษณะเหมือนจะนอนเฝ้า Dive Center) ไม่นานนักก็ได้เวลา นักดำน้ำเริ่มทยอยกันมาที่นี่(Andyrian ตื่นพอดี)


ดูจากรายชื่อ ผมก็เป็นคนไทยคนเดียวอีกนั่นแหละ ไม่เคยตื่นมาดำน้ำเช้าขนาดนี้มาก่อน เรือชื่อ Lady Ai Yun ว่าแต่คนไหนล่ะ Valentine?


“You ‘ re Valentine?”


“Yes”


ชายผมยาว ลักษณะหน้าตา ท่าทาง ออกแนวๆ นักร้อง ฟลุค ไอน้ำ ที่บ้านเรา มาทักผม ถามว่าผม ไปลำไหน พอทราบว่า คนนี้แหละ Valentine และผมอยู่ในกลุ่มนี้ เขาก็บอกให้ผมไปขึ้นเรือได้


อุปกรณ์พร้อมแล้ว ไปกันเลยครับ


His name is Valentine!!!!


ใช้เวลาไม่นาน ก็มาถึงเกาะสิปาดัน สิ่งที่ต้องทำเหมือนเมื่อวานนี้ ก็คือ ลงชื่อครับ แต่ว่าเจ้าหน้าที่ไปไหนละเนี่ย?


พอเจ้าหน้าที่มา รีบลงชื่อโดยด่วน เรือลำอื่นของแต่ละรีสอร์ท ก็เริ่มมากันแล้ว เยอะซะด้วย


จากข้อมูลเท่าที่ผมทราบจากครูตุ๋ม นี่คือ เส้นทางของ Bumphead Parrotfish หรือปลานกแก้วหัวโหนกครับ


“Bumphead Parrotfish มันจะนอนในถ้ำเต่าที่ Drop-off ทางทิศเหนือของเกาะสิปาดัน พอฟ้าเริ่มสว่าง มันจะตื่นจากถ้ำแล้วก็จะว่ายไปหากิน เลาะตามแนวเกาะจากเหนือลงไปทางตะวันออก /ลงใต้ คือจาก Drop-off ไปทาง Baracuda Point - Mid-reef คนที่นั่นเขาเชี่ยวชาญดีค่ะ แต่ว่าจะกะจังหวะได้โดนมันหรือเปล่า อันนี้อยู่ที่ดวง ตอนเช้าถ้าตอนลงทะเบียนที่เกาะสิปาดันไม่ล่าช้า ก็อาจจะทันดักหน้าได้เจอพวกนี้ที่ Baracuda Point แต่ถ้าสายไป หรือพลาดในไดฟ์หนึ่ง ไดฟ์สองก็กะว่าไปดักหน้าฝูงมันที่ไดฟ์ไซต์ต่อไปข้างหน้าค่ะ ถ้าตอนเช้าไม่เจอ ไดฟ์บ่ายก็ลองมาดักรอลุ้นตอนมันกลับบ้าน แถว Baracuda Point อีกทีค่ะ”


เนื่องจากเราลงชื่อได้ช้า เพราะกว่าเจ้าหน้าที่จะมาก็ใช้เวลาอยู่ Valentine พามาที่ Turtle Cave ก่อนจะไปยืนบนหัวเรือ จ้องมองลงไปที่ผิวน้ำอย่างพินิจพิเคราะห์ แล้วบอกคนขับเรือให้ไปจุดอื่นต่อ


คราวนี้มาจุดดำน้ำที่เรียกว่า Coral Garden Valentine(หรือ ไอน้ำ) ยังคงไปยืนที่หัวเรือ จ้องมองลงไปอย่างเชี่ยวชาญ ก่อนจะหยิบหน้ากาก กระโดดม้วนตัวลงไป เสียงกระโดดดัง ตูม!


2-3 นาที Valentine ขึ้นมา แล้วบอกว่า ให้ลงตรงนี้ ฟัง Valentine Brief แล้ว ผมยังคิดในใจ ที่กระโดดลงไปเมื่อกี้แสดงว่าเช็คเกี่ยวกับ ปลานกแก้วหัวโหนก หรือเปล่า ขอถามหน่อยเถอะ


“ Valentine , You see Bumphead Parrotfish ?”


“Yes”


โอ้ โห เทพจริงๆ สั่งได้ เช็คได้แบบนั้นเลยเหรอ งั้นลงไปดูของจริงกันเลยครับ



Dive 8 My God / Bumphead Parrotfish!!!!


ตรงตามชื่อก็คือ Coral Garden ดูจะมีปะการังมากหน่อย ส่วนใหญ่เป็นพวกปะการังก้อน แต่สู้ของบ้านเราไม่ได้ซักนิดเดียว


ความลึกประมาณ 5 เมตร เท่านั้น สิ่งที่เห็นก็คือ ฝูงปลานกแก้วหัวโหนก(Bumphead Parrotfish) ประมาณ20-30 ตัว แต่ละตัวมีทั้งเล็กและใหญ่ เป็นเมตรก็มี แม้จะไม่ถึงร้อย แต่ภาพแบบนี้หาดูได้ยากมาก เข้าได้ใกล้ชิดเลย โหนกที่หัวมันใหญ่จริงๆ


โหนกนี้มีประโยชน์ครับ ว่ากันว่า ในบางครั้งเจ้า Bumphead จะใช้หัวกระแทกปะการังให้หักก่อนที่จะกิน อาหารก็คือปะการังและสาหร่าย ลองนึกถึงปลานกแก้วบ้านเรา เคยได้ยินเสียงเวลามันขบกัดปะการังไหมครับ ปะการังแข็งๆ ยังหักแบบง่ายดาย(มือคนก็คงไม่เหลือ ถ้าจะทำ) แต่พวกเขาและเธอไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นมิตร และให้ความร่วมมือดีมากๆ


ลองมาถ่ายวีดีโอบ้าง สำหรับปลานกแก้วหัวโหนกที่เมืองไทย ตัวแรกและตัวเดียวที่ผมเห็น ก็คือ ทริปโลซิน เมื่อหลายปีก่อน แถมว่ายน้ำเร็วมากๆ พี่เอต้องตีฟินเข้าไปตามถ่ายเลยทีเดียว ผิดกับที่นี่ เห็นครั้งหนึ่งหลายสิบตัว แถมลอยตัวอย่างช้าๆ เข้าไปถ่ายรูปได้สบายๆ


ตรงนี้มีกระแสน้ำบ้าง ผมใช้มือเกาะหิน แล้วค่อยๆขยับเข้าไปใกล้ๆ ตามประสาผู้มาเยือน เพราะนี่คือถิ่นของ Bumphead บางตัวกำลังกินอาหารด้วย(อืม แปลกครับ ที่นี่ผมไม่เจอปลานกแก้วแบบธรรมดาๆเลยนะ ถ้าบ้านเราจะเยอะ) มาทีก็ Bumpheadเลยครับ (ของใหญ่)


Valentine ให้สัญญานไปต่อ พี่หลามมาแล้ว Whitetips Shark ตัวอ้วนเชียว


ฟองน้ำครกด้านหน้า มีควันขึ้นมา Valentine เขียนกระดานแล้วบอกผม แม้จะไม่เข้าใจนักว่า ควัน คืออะไร(อาจเป็นพวกน้ำเชื้อก็ได้มั้ง)


ตัวนี้ผมอาจเคยเห็น แต่ไม่เคยสังเกต นี่คือ ปลานกขุนทองหัวโหนกหรือปลานโปเลียน(เพศเมีย)


(Napoleonfish) ตัวจะออกสีขาว แต่พอคิดเปรียบเทียบกับตัวผู้ล่ะก็ เห็นความแตกต่างชัดเจน(บ้านเราจะเจอปลานโปเลียนได้ก็ที่สิมิลันครับ)


Whitetips Shark อีกแล้ว คราวนี้ว่ายน้ำ สง่างามมาก ส่วนตัวต่อไปกำลังนอน ดูอ้วนกว่าเมื่อวานเยอะเลยนะ กินอะไรเข้าไปล่ะเนี่ย 555


จากนี้ก็จะมีแต่ฉลามครีบขาวครับ ผลัดกันมายลโยม ส่วนปลาอื่นๆก็มี ปลาผีเสื้อเทวรูป(Moonish Idol) ปลาสาก(Barracuda) ปลาสินสมุทรอานทอง(Blue-Girdled Angelfish) ปลาสินสมุทรลายบั้ง(Six-banded Angelfish) และ ปลาหูช้างครีบยาว(Teira Batfish)


ก่อนขึ้นผมได้เห็นวิธีทำ Safety Stop ของ Valentine ก็คือ ใช้ Octopus หงายขึ้นให้เกิดฟอง เพื่อส่งสัญญานให้เรือที่อยู่ด้านบนทราบ นับเป็นวิธีที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน(การได้ดำกับหลายๆคน ทำให้เห็นอะไรๆเยอะเหมือนกันครับ)


ขึ้นมา มีของแถมอีกแล้วที่เข่า เลือดออกนิดหน่อย คงจะโดนปะการังนั่นแหละ


“This is School of Bumphead Parrotfish?”


“No , Separate”


คือ คำตอบของ Valentine สำหรับ ปลานกแก้วหัวโหนก ในไดฟ์นี้ ไม่มากถึงขนาดเป็น School of Bumphead Parrotfish เพราะมันแยกจากกัน หลายกลุ่ม แต่แค่นี้ก็ทำให้ผมดีใจมากแล้วล่ะครับ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสได้เห็น หนึ่งในไฮไลท์ของสิปาดัน

0 Comments:

Post a Comment

<< Home