Tuesday, May 29, 2007

ปูประหลาด ชื่อ Xeno Crab







กุมภาพันธ์ ปี 2549 ใต้ผืนน้ำที่เกาะจวง เกาะเงียบสงบแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี สำหรับนักดำน้ำที่นี่ถือเป็นจุดดำน้ำที่ค่อนข้างปลอดภัยเพราะไม่ค่อยมีเรือสัญจรมากนัก หากเปรียบเทียบกับเกาะล้านและเกาะสาก

ครั้งแรกสำหรับการมาแสมสาร วันนั้นน้ำค่อนข้างใสมาก ใสจนผมต้องร้อง “ว้าว” ออกมาในใจ ดงปะการังอ่อน(Soft Coral) กว้างใหญ่ชนิดหนึ่ง สีเหลืองอมส้ม พลิ้วไหวไปกับกระแสน้ำ เมื่อตัดกับแสงแดดช่วง 11 โมง บวกกับสีฟ้าใสของน้ำทะเล เป็นภาพที่สวยงามมากครับ

ผมดูปูตัวหนึ่ง เกาะอยู่ที่แส้ทะเล(Sea Whip) รูปร่างของมันค่อนข้างประหลาด กระดองรูปหยดน้ำ มีตาใหญ่สีขาว ขาค่อนข้างเรียวเล็กและยาวมาก มีหนามขนาดใหญ่บนกระดอง มองเห็นแถบสีที่พาดยาวตามลำตัว ไม่เหมือนปูทั่วไป เจ้านี้ชื่อว่าปูซีโนแส้ทะเล (Xeno Crab) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Xenocarcinus tuberculatus

Xeno Crab เป็นปูกลุ่มหนึ่งที่เป็นญาติใกล้เคียงกับปูแมงมุม พบในอันดามันและอ่าวไทย มีสีสันหลากหลาย เช่น เหลือง ส้มอ่อน ขาว อาศัยอยู่กับแส้ทะเลในความลึก 15-20 เมตร เกาะอยู่นิ่งๆในเวลากลางวัน(เว้นแต่มีคนไปแกล้งมัน) เคลื่อนที่ในเวลากลางคืน

ตอนแรกผมนึกว่า คงผิดล่ะมั้ง ซีโนไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินเคยแต่ปูม้าลาย(Zebra Crab)แต่พอมาดูรูปจึงทราบว่า ไม่ใช่ แถมปูม้าลายหายากกว่ามาก(Zebra Crab จะอยู่กับเม่นทะเลครับ)

ผมพึ่งมาเปิดดูนิตยสาร nature explorer ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2000 คุณนัท สุมนเตมีย์ ได้เล่าถึง Xeno Crab ที่เขาพบที่อันดามันใต้ บริเวณกองหิน Anemone Reef ใกล้กับหินมูสัง ซึ่งถือเป็น Xenocarcinus tuberculatus ตัวแรกๆที่มีรายงานการพบในประเทศไทย

ผมจึงได้ทราบว่า ที่อันดามัน ก็มีพวกเขาอยู่เช่นกัน

ใครเห็นควรดีใจไว้ครับเพราะ Xeno Crab ชนิดนี้จะอยู่กับแส้ทะเลเท่านั้นแถมเป็นชนิดที่อยู่ในน้ำลึก นักดำน้ำแบบสน็อคเกิ้ลถ้าอยากเห็นตัวเป็นๆใต้ทะเล ต้องโอนสัญชาติมาเป็นมนุษย์กบก่อนนะครับ

ท้ายสุดนี้ ผมชอบคำพูดของคุณนัท สุมนเตมีย์ มากครับ เลยอยากมาเล่าให้ฟัง “สิ่งที่ผมคาดว่าจะได้เห็นต่อไปในอนาคตนั่นก็คือ ภาพของนักดำน้ำที่สามารถจะชื่นชมกับสิ่งต่างๆรอบๆตัวได้โดยไม่ต้องจำกัดตัวเองอยู่กับความคิดว่าปลาตัวนี้หายาก หรือว่าปลาตัวนั้นเป็นปลาวิเศษอีกต่อไป แต่เป็นภาพของนักดำน้ำที่สามารถจะชื่นชมกับชีวิตต่างๆที่อยู่ใต้ท้องทะเลโดยไม่ยึดติดกับภาพบางอย่างที่เราสร้างขึ้นมา อาจจะเป็นครั้งที่ 20 แล้วที่เราได้เห็นปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเลที่แสนธรรมดา แต่อาจจะเป็นครั้งแรกก็ได้ที่เราจะได้มีโอกาสได้เห็นความรักของพ่อและแม่ปลาการ์ตูนที่คอยเฝ้ารอวันที่ลูกน้อยจะออกมาจากไข่ หรือการเฝ้าดูพฤติกรรมต่างๆของสัตว์ที่เราคุ้นเคย ถ้าหากเราทำเช่นนั้นได้ การลงดำน้ำในที่เดิมซ้ำๆก็อาจมีความหมายมากขึ้นกว่าเพียงแค่การค้นหาสิ่งใหม่ๆเพื่อสนองความต้องการในการดำน้ำของเรา”

ถ้าในอนาคตทำได้จริงๆ คงจะดีไม่น้อยครับ เราอาจจะได้ยินคำว่า “ว้า ไดฟ์นี้มีแต่ปลาอมไข่ ไดฟ์นี้มีแต่ปลาค้างคาวก็เดิมๆ ไม่มีอะไรดูเลย ” น้อยลงก็ได้ น้ำเสียงค่อนข้างผิดหวัง ถูกต้องไหมครับ

เปลี่ยนเป็น “ผมเห็นปลาอมไข่และมันอ้าปาก เห็นไข่ในปากมันด้วยครับ หรือ หนูเห็นปลาค้างคาวกับลูกของมันด้วยค่ะ สีดำๆเหมือนใบไม้เลย”

ฟังน้ำเสียงแล้วดูดีกว่าไหมครับ

ขอขอบคุณ- นิตยสาร nature explorer ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2000
-หนังสือปูทะเลไทย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ,พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์
-หนังสือปลาทะเลไทย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์,อนุวัติ สายแสง,บารมี เต็มบุญเกียรติ, นัท สุมนเตมีย์


0 Comments:

Post a Comment

<< Home