Lembeh Strait...มหัศจรรย์แห่ง Muck Dive(4)
ดูจากท้องฟ้า ผมเข้าใจว่า 6 โมงเช้าแล้ว(ก็สว่างซะขนาดนี้) แต่ยัง ตี 5 อยู่เลยครับ(ก็แปลกดีนะ สำหรับท้องฟ้าที่นี่) มาประกอบกล้องเข้ากับ Housing ซะหน่อย ทาซิลิโคน ตรวจดูว่าไม่มีเม็ดทราย จากนั้นก็นอนต่ออีกซักนิด
7 โมงเช้า เตรียมของใส่ Ocean Pack ขึ้นมากินข้าวที่ห้องอาหาร เจอพี่ยากับพี่ตุลย์มาถึงก่อนแล้ว ผมเลือกมาม่ากับลูกชิ้น แทนขนมปัง ที่มักจะเลือกเป็น Breakfast อยู่บ่อยครั้ง
ออกมาถ่ายรูปสระว่ายน้ำ เป็นการ Test การถ่ายภาพภายใต้ Housing ด้วย ผมมองออกไปที่ทะเล ซึ่งดูไม่เหมือนทะเลซักเท่าไรนัก มันเหมือนน้ำในทะเลสาปภายในหุบเขามากกว่า นิ่ง สงบ ไร้คลื่น(เดี๋ยวจะได้ลิ้มรสว่าเค็มหรือไม่) นี่ก็ใกล้เวลาแล้วครับ ลงไปด้านล่าง เตรียมอุปกรณ์ขึ้นเรือดีกว่า
สำหรับจุดดำน้ำที่ช่องแคบเลมเบห์ ดูจากแผนที่ มีหลายจุดมาก คงจะต้องมาตามเก็บในครั้งต่อๆไป
เรือลำแรก ครูตุ๋มกับพี่แดง ออกไปแล้วครับ ส่วนลำของผมจะมีกลุ่มของมนุษย์กบไทยอีกชุด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หยก พี่บิ๊ก พี่ตา พี่หมอพี พี่แตง เป็นต้น Divemaster จะมี 2 คน คือ Winston กับ Steven
ส่วนกลุ่มของผม มีแค่ 3 คนเท่านั้น คือ ผม พี่ยาและพี่ตุลย์ โดยมี Divemaster คือ Dodi (คนที่ช่วยผมดูเรื่องอุปกรณ์ เมื่อวานนี้นั่นแหละ) สำหรับไดฟ์แรก เป็น Check Dive เป็นจุดดำน้ำที่ชื่อว่า Aer Prang ครับ ลุยกันเลยดีกว่า
Dive 1 ดำสบาย สไตล์ Lembeh!
ไม่มีปัญหาเรื่อง Clear หู ครับ น้ำอาจจะเย็นนิดๆ ดีนะที่เช่า Wet Suit มาด้วย รู้สึกว่าเป็นการลงไดฟ์แรกที่สบายๆและชิวมาก แม้จะไม่ได้ดำมา 1 ปี แล้ว ดูเหมือนว่า Dodi ก็ไม่ได้ให้ผมแสดงทักษะอะไรๆ ให้ดูเป็นพิเศษ คงเห็นว่า พอจะไปวัดไปวาได้ละมั้ง ส่วนพี่ยากับพี่ตุลย์ ดำกันบ่อย สบายอยู่แล้ว
ส่วนใหญ่ Dive Site จะเป็นพื้นทรายโล่งๆครับ ทรายมีสีดำ เจ้าดาวทะเล(Star Fish) สัตว์ทะเลในไฟลั่มเดียวกับดาวขนนกและเม่นทะเล นอนนิ่งสบายใจเฉิบ
ผ่านไปแวบๆ เสียดายว่าไม่ได้ถ่ายรูปไว้ กลัวจะคลาดกับ Dodi แต่เท่าที่เห็น คล้ายๆ Finger Dragonnet เป็นปลาที่หายากและพบได้ไม่บ่อยนักในเมืองไทย (หวังว่าตัวต่อๆไปจะได้ถ่ายรูปครับ)
ติดตาม Dodi ต่อไป แกชี้ Nudibranch(ทากเปลือย) ให้ดูครับ ตัวนี้สวยดี เหมือนมีใบไม้ออกมาตามตัว
มองไปอีกด้าน ก็เหมือนหัวผักกาด หรืออะไรซักอย่างเหมือนกัน 555
ทากทะเล (Sea Slug) อีกชนิด คล้ายๆทากหนาม ตัวยาวเหมือนงูเลย อาจจะเคยเห็นที่อันดามันใต้ บ้านเราแล้ว ก็เป็นได้นะ
จากนั้นเป็นปลาแมงป่อง(Scorpionfish) ชนิดนี้น่าจะพบได้ง่าย แต่ดวงตา น่ากลัวมาก
ปลามีดโกน(Razor Fish) ประมาณ 30 ตัว ออกมาให้ยลโฉม พร้อมกับเอกลักษณ์การว่ายน้ำกลับหัว มักจะออกมาไดฟ์แรกเสมอๆ สำหรับทริปดำน้ำต่างประเทศของผม(คราวก่อน ที่สิปาดัน ก็ไดฟ์แรกนะ)
ปลาวัวหนาม Fan-bellied leatherjacket(Filefish) ที่เจอประจำที่เกาะสาก เมืองไทย ก็มากับเขาด้วย จริงๆ Dive Site ที่นี่กับเกาะสาก ก็คล้ายๆกัน ยังมีคนเจอ Mimic Octopus ที่เกาะสากเลยนะ
ปลาปากท่ออย่าง ปลาจิ้มฟันจระเข้ลายด่าง (Scribbled Pipefish) ออกมาทักทาย ดูจะมีความสุขกับทรายสีดำเหมือนกัน
ปิดท้ายไดฟ์ด้วยปลาปักเป้าหนามทุเรียน (Black Blotched Porcupinefish) ส่วนผม อากาศเริ่มเหลือน้อย ก็ทำสัญญานบอก Dodi ขอขึ้นก่อน ช่วงทำ Safety Stop มองเห็นพี่ยา กำลังนอนราบ เล็งถ่ายอะไรซักอย่างด้วย
ขึ้นมาบนผิวน้ำ รู้สึกสบายมาก เรือก็ไม่ค่อยมี ค่อนข้างปลอดภัย วิวสวยๆกับภูเขาที่มีป่าไม้มากมายลองชิมน้ำทะเลซักหน่อย เป็นอย่างที่คิดจริงๆด้วยครับ ไม่ค่อยเค็มเหมือนบ้านเรา (เค็มน้อยมาก ลงไปทางจืดมากกว่า) เป็นสภาพแวดล้อมที่ผมก็ไม่เคยเห็นมาก่อน อยู่ในทะเล แต่น้ำกลับไม่เค็ม
สำหรับในไดฟ์แรก ผมอาจจะยังไม่ได้เห็นอะไรมากนัก(ที่นี่สัตว์ทะเลมากจริงๆครับ) แต่ก็หวังว่า จะได้เห็น 10 wonders in Lembehที่พี่ปิ่น บอกเล่าไว้ ก่อนผมจะเดินทางมาด้วย(ซักนิดก็ยังดี) 1) Rhinopias Scorpionfish 2) Ambon Scorpionfish 3) Blue Ribbon Eel 4) Hairy Frogfish 5) Unusual Nudibranchs 6 )Wunderpus 7) Tiger Shrimp 8) Juvenile Fish 9) Stargazers 10) New and Undescribed Species like a brand new species of pygmy pipehorse
พักน้ำ 45 นาที ก่อนจะลงไดฟ์ต่อไป ช่วงนี้ก็ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ พี่ยากับพี่ตุลย์ทำท่าทางแกล้งว่าเหนื่อยมาก 555 ส่วนผมก็ยังสดชื่นดี
จุดดำน้ำต่อไป ชื่อว่า Aer Bajo 2 จะอยู่อีกฝั่งของจุดดำน้ำแรก (Aer Prang ) จุดสังเกตจะมีเรือเก่าๆ สนิมเขรอะ อยู่ 1 ลำ
กระโดดตามผม แล้วลงไปดำน้ำกันต่อเลยครับ
Dive 2 เร่เข้ามา Flamboyant Cuttlefish กับ Hairy Frogfish!!!!
คนมุงถ่ายรูปเยอะมาก ผมไม่เข้าไปดีกว่า แม้จะเป็นตัวทีเด็ด ซึ่งผมมั่นใจว่าจะได้พบกันอีก นับจากนี้(มันใจเย็นมาก อาจจะไม่ได้เห็นอีกเลยก็ได้นะ) เห็นจากขา ที่ค่อนข้างเหมือนเล็บยาวๆมากกว่า นี่ คือ Ambon Scorpionfishครับ เป็น10 wonders in Lembehของพี่ปิ่น เลยนะ
เรามาดูของที่ผมพลาดไปเมื่อไดฟ์ที่แล้วดีกว่าปลา Finger Dragonnet แวะเวียนมาอีกรอบ คราวนี้ถ่ายรูปได้ อาจจะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็นับว่าแก้ตัวจากที่ไม่มีรูป กลับกลายเป็นมีรูปได้สำเร็จครับ 555 นี่น้ำก็ไม่ลึกเท่าไรนะเนี่ย เยี่ยมจริงเลย
มาดู Flamboyant Cuttlefish กันบ้าง เป็นหมึกชนิดหนึ่ง พบในบางพื้นที่ ทั้ง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แต่ประเทศไทย ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครเคยพบนะครับ เจ้า Flamboyant Cuttlefish สามารถเปลี่ยนสีได้ด้วย คงเป็นการพรางตัวเมื่อรู้ว่ามีภัย ตาผมไม่ได้ฝาดไป มันเปลี่ยนสีได้จริงๆ ทันทีเลยน่ะ สำหรับเจ้าหมึกตัวนี้ ผมขอตั้งเองว่าเป็น Wonders in Lembeh เฉพาะของผมแล้วกันนะ
จาก Flamboyant ด้านหน้าของผม คือ กั้งตั๊กแตน(Mantis Shrimp) ที่ดูดีมาก เมื่ออาศัยอยู่ตามธรรมชาติ(สีสวยมาก) ดูดีกว่าในตู้กระจกตามภัตตาคารซีฟู๊ดทั้งหลาย ว่ากันว่า มีหมัดที่หนัก ใครได้ลิ้มลองละก็ เจ็บปวดทุกรายไป เคยเห็นในสารคดี เหยื่อของกั้งตั๊กแตน โดนเข้าไป แน่นิ่งภายในไม่กี่นาที)
ส่วนเจ้าปากจู๋ ตัวคล้ายกล่อง พื้นสีเหลือง มีจุดสีฟ้า และมีเขา คือ เจ้า Cow Fish (บางคนเรียกว่า ปลากวางครับ) อาจจะดูละม้ายคล้ายเจ้า Yellow Boxfish ปลาปักเป้ากล่องเหลือง แต่เจ้า Cow Fish จะมีเขา และรูปทรงจะแตกต่างออกไป ในบ้านเราจะพบ Yellow Boxfish ได้มากกว่า
ม้วนหางซิลูก ที่เศษปะการังหินปูนเก่าๆ ที่ตายแล้ว มีม้าน้ำ(Sea Horse) ตัวนึง เกาะอยู่ ม้าน้ำเป็นสัตว์ทะเลที่ตัวผู้เป็นผู้อุ้มท้อง อย่างที่เราทราบกัน ตัวนี้สีจะออกน้ำตาลๆหน่อย กลมกลืนกับเศษปะการังและพื้นทราย
ต่อมาเป็นปลาการ์ตูน หนึ่งในนั้นมี Sebae Anemonefish ที่พบเคยพบที่อันดามันใต้ด้วย แม้สีสันจะไม่น่าสนใจนัก แต่นับว่าหาได้ยาก หากเทียบกับปลาการ์ตูนอีกหลายๆชนิดครับ
บนพื้นทรายสีดำ มีทากชนิดหนึ่ง ผมจำได้ทันที เพราะเคยพบกันแล้วที่อันดามันใต้เช่นเดียวกัน เจ้านี่ คือ ทากเปลือยอานม้าสามชั้น(Ceratosoma trilobatum)
จ้าหมึกตัวนี้ แปลกตาครับ ดูเผินๆเหมือนมีกาบมะพร้าว ห่อหุ้มร่างกายอยู่ เจ้า Coconut Octopus นี่ สมชื่อจริงๆ ไปไหน มาไหน ก็จะแบกกาบมะพร้าว (เรียกว่า เป็นเกราะ ดีกว่า) เหมือนมีบ้านติดตามไปด้วยตลอดเวลา
ปลากบครับ เป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำอยู่เหมือนกัน เป็น Giant Frogfish ตัวนี้มีสีเหลือง สวยงามดีจริง นอนสบายใจอยู่บนพื้นทรายนี่แหละ
เรามาดูกุ้งกันบ้าง กุ้งใสๆตัวนี้ไม่ได้อยู่บนดอกไม้ทะเล เหมือนที่พบเคยพบครับ แต่อยู่บนพื้นทรายสีดำ ทำให้ง่ายต่อการมองเห็น
สำหรับตัวนี้ เป็น Wonders in Lembeh ที่พี่ปิ่นบอกไว้เลย มาเจอไดฟ์ที่สองนี่แหละ ชื่อว่า Hairy Frogfish (ไม่ใช่ Harry Potter นะ 555) Hairy Frogfish หรือปลากบขนยาว เป็นหนึ่งในสัตว์ประหลาด หน้าตาแปลกๆแห่ง Lembeh Strait นี้ ขนมันยุบยับทั่วตัวเลยครับ การเคลื่อนไหวก็เหมือนปลากบทั่วๆไป คือ การใช้ครีบเดิน มากกว่าว่ายน้ำ( ว่ากันว่า ถ้าเห็นว่ายน้ำ แสดงว่ามีคนไปแกล้งมัน หรือ มันหนีภัยอันตรายมา) ช๊อตเด็ด ที่ครั้งนึงในชีวิต ผมอยากจะถ่ายภาพ คือ ภาพตอนปลากบหาว(อ้าปาก)ครับ คงต้องรอไปก่อน สำหรับตอนนี้ Dodi ไปไหน ผมไปด้วย เขาชี้อะไร ผมก็จะเห็นด้วย
ตัวต่อไปที่ Dodi ชี้ให้ดู ก็คือ ปลาแมงป่องใบไม้ หรือ Leaf Scorpionfish ครับ ตัวนี้มีสีเหลือง ผมเคยพบครั้งแรกที่ สิปาดัน(Ramil ชี้ให้ดู) เหมือนมีผมทรงโมฮอคอยู่บนหัวเลยนะ
ปิดท้ายปลายไดฟ์ด้วยปลากบสีน้ำตาลแก่ ที่อยู่ท่ามกลางเศษเชือกและขยะ ช่างเป็นไดฟ์ที่พบเจอสัตว์แปลกๆ หายาก มากเหมือนกันครับ
ขึ้นมาบนผิวน้ำ ถ่ายรูปซะหน่อย น้ำสีเขียวแก่ ใสๆ กับเรือสนิมเขรอะ นั่นเรือมาครับ ตีขา หลบก่อน เกือบโดนชนล่ะ 5555(เรือน้อย แต่ก็พอมีนะ ยังไงก็ต้องระมัดระวังใว้เสมอนะครับ)
กลับ Bastianos Diving Resort พักกินอาหารกลางวัน มีผัก มีของทอด(เหมือนข้าวโพด) แล้วก็มีเหมือนเนื้อไก่ผัดซีอิ้วมั้ง และปลาหวานๆ อร่อยดีครับ(ขอเติมแน่นอน พร้อมกับเรียนรู้ ภาษาอินโดนีเซีย สำหรับชื่ออาหาร จากพนักงานสาวไปด้วย)
ทะเลเรียบ อากาศดีมากๆ มานั่งเล่น ตากลม หน้าห้องซักแป๊บ
นั่งเรือลำเดิมออกมา จุดดำน้ำต่อไป เรียกว่า Pante Parigi (ชื่อจุดดำน้ำนี่ แปลกๆ ทุกจุด สัตว์ทะเลก็แปลกๆทุกจุด เช่นเดียวกัน)
พร้อมแล้ว ลุยต่อกันเลยครับ
0 Comments:
Post a Comment
<< Home