Tuesday, July 01, 2008

นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม จ. สมุทรสงคราม







ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพนัก ที่สำคัญ จังหวัดนี้ผมเดินทางผ่านทุกครั้ง เวลาเดินทางลงใต้เพื่อไปทะเล




มาคราวนี้ มีเป้าหมายที่จะไปไหว้หลวงพ่อบ้านแหลม ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เพราะคุณพ่อ อยากพาคุณแม่ไปไหว้พระ และอธิษฐานให้สิ่งดีๆเกิดขึ้น




ส่วนผม ต้องติดตามไปดูแลคุณแม่อยู่แล้ว คุณพ่อบอกว่าหลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระประธาน ปางอุ้มบาตร จึงเป็นเรื่องที่ดี ที่ผมจะได้ไปนมัสการ เพราะผมเกิดในวันพุธนั่นเอง




เราแวะทานข้าว ที่ร้านอาหาร “ ลูกปลา” บรรยากาศดีมากครับ เพราะรอบๆ มีการทำนาเกลือ และมีกระชังเลี้ยงปลาด้วย สูดอากาศแล้วได้ ไอทะเลเลยล่ะ(แม้ยังไม่เห็นทะเลก็ตาม)




ไม่นานนัก หอยหลอดผัดฉ่า ปลาหมึกไข่นึ่งมะนาว ก็ลงไปนอนในท้องอย่างเป็นระเบียบ(ดีมาก)
เราเสียเวลา เข้าไปในตัวเมือง จ.สมุทรสาคร เพราะเข้าใจว่า วัดอยู่ที่นี่ สอบถามพี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง จึงทราบว่า อยู่ที่ จ.สมุทรสงคราม ต้องกลับรถ และตรงไปอีกพอสมควร




ไม่นานนัก เราก็มาถึงวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ประตูทางเข้าสีขาวตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้านี่เอง
คนเยอะมากครับ อาจเป็นเพราะเป็นวันหยุดด้วย หลังจากไหว้ด้านนอกแล้ว ผมเลือกที่จะปิดทองหลังพระ เพราะด้านหน้า คนต่อคิวยาวเหยียดเลยล่ะ




จากนั้น เข้าไปด้านในอุโบสถ ผมสวดมนต์ อธิษฐาน ขอให้คุณแม่หายป่วย ประสบความสำเร็จในการศึกษาและในหน้าที่การงาน ปราศจากโรคภัยกันทั้งครอบครัว




ด้านนอกมีพระสงฆ์คอยพรมน้ำมนต์ ให้อุบาสกและอุบาสิกา ก่อนกลับคุณพ่อ เช่าหลวงพ่อบ้านแหลม กลับมาให้ผมบูชาที่บ้านด้วย




ก่อนจากกันในวันนี้ ผมมีประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม มาฝากทุกท่านครับ




“วัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นวัดสำคัญยิ่งของชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง




วัดเพชรสมุทรเดิมทีเรียกว่าวัดบ้านแหลม ก่อนที่จะมาชื่อวัดบ้านแหลม ชื่อวัดศรีจำปา ว่ากันว่า ผู้คนที่มาอยู่อาศัยในบริเวณนี้เดิมมาจากบ้านแหลม เมื่องเพชรบุรี อพยพโยกย้ายมาอยู่ที่นี่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อที่เคยอยู่เก่าว่า บ้านแหลม




หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปศักดิ์เสมือนหนึ่งเป็นแก้วมณี อันมีค่าคู่เมืองสมุทรสงคราม ชาวสมุทรสงครามเคารพสักการะพระพุทธรูปองค์นี้มาหลายชั่วคน หลวงพ่อบ้านแหลม จึงเป็นเสมือนเจ้าพ่อหลักเมืองหรือเทวดาประจำเมืองสมุทรสงคราม




ตามตำนานปากเปล่า คือคำบอกเล่ากันสืบๆมา ชาวบ้านแหลมนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวประมง เชื่อกันว่า คราวหนึ่งเมื่องออกไปจับปลาในอ่าวแม่กลองได้พระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 2 องค์ บางตำนานกล่าวว่าหลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมา องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่งได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ 167 ซ.ม. แต่บาตรนั้นสูญหายไปชาวบ้านได้อัญเชิญมาไว้วัดบ้านแหลม เรียกว่าหลวงพ่อบ้านแหลม บ้างว่าสามองค์พี่น้องคือ หลวงพ่อโสธรจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย บ้างว่ามีสี่พี่น้อง คือหลวงพ่อวัดไร่ขิงจังหวัดนครปฐมอีกองค์หนึ่ง บ้างก็ว่ามีห้าพี่น้อง คือหลวงพ่อวัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แต่ก็สรุปได้ว่า หลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมา 5 องค์พี่น้อง พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้ ล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีอภินิหารเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองนั้น ๆ และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของประชาชน จังหวัดอื่นทั่วไปด้วย




มีนิทานเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหลวงพ่อบ้านแหลม สมควรจะได้เล่าไว้ให้ปรากฏ พร้อมๆ กับประวัติวัดเพชรสมุทร นิทานเรื่องนี้มีความว่า




ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองห้าคนบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจอธิษฐานว่าเกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญ บารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้วก็จะขอสร้างบารมีช่วยสัตว์โลก ให้พ้นทุกข์ต่อไปกว่าจะถึงนิพพาน




ครั้นพระอริยบุคคลทั้ง 5 องค์นี้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูป 5 องค์ มีความปราถนาจะช่วยทุกข์คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ให้พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ นั้น ลอยน้ำมาทางใต้ ตามแม่น้ำทั้ง 5 สาย ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำ จึงพากันอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่าง ๆ




พระพุทธรูปองค์แรกลอยน้ำไปตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดโสธร เมืองแปดริ้ว เรียกว่า หลวงพ่อโสธร




องค์ที่สอง ลอยน้ำไปตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี เรียกว่า หลวงพ่อวัดไรขิง




องค์ที่สาม ลอยน้ำไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบางพลี บากน้ำเจ้าพระยา เรียกว่า หลวงพ่อวัดบางพลี




องค์ที่สี่ ลอยน้ำไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง เรียกว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม




องค์ที่ห้า ลอยน้ำเพชรบุรี แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี เรียกว่า หลวงพ่อเขาตะเครา




พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองนั้นๆสืบมาจนทุกวันนี้”
.
***ขอขอบคุณ ท.พ.มานะชัย ทองยัง ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลครับ ***

0 Comments:

Post a Comment

<< Home