Tuesday, December 23, 2008

หวนคืนความหลังกับ “คืนสู่เหย้า ชาวโอวี 2551”


วันเสาร์ที่ผ่านมา มีงานคืนสู่เหย้าที่โรงเรียนครับ ช่วงบ่ายมีการแข่งขันกีฬาระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบัน แน่นอนว่ากีฬาที่ผมถนัดที่สุดก็คือ บาสเกตบอลนั่นเอง


รุ่นพี่สองคนที่ชื่อต้นทั้งคู่(พี่กุลธน ประจวบเหมาะ และพี่ภัคพงษ์ จักษุรักษ์) บอกว่า “พวกกูลงทุนให้พวกมึงขนาดนี้ เอาชนะให้ได้นะเว้ย” 555 ปีนี้มีเสื้อแจกด้วยครับ โอ้ ดีจริง


ปีนี้ได้เล่นที่ Indoor ด้วย ตัดปัญหาเรื่องแดดร้อนไปได้ เริ่มกันเลยดีกว่า


สามควอเตอร์แรก โอวีนำศิษย์ปัจจุบันสิบแต้มครับ ผมทำได้ หกคะแนน(จากสองลูกที่เข้าไปเลย์-อัพวางใกล้ๆแป้นและชู๊ตใต้แป้น บทเรียนสอนให้รู้ว่า หากไม่ค่อยได้ซ้อม ชู๊ตใกล้ๆจะชัวร์ที่สุดครับ) (พลาดลูกโทษไปสองคะแนนครับ 555 พอเหนื่อยศูนย์เบี้ยวไปหมด)


แต่บาสมีสี่ควอเตอร์ครับ จบเกมโอวีแพ้ศิษย์ปัจจุบันแปดแต้มเพราะไม่อาจป้องกันการเล่น Fast-Break (การเล่มเกมเร็ว) ของน้องๆได้(หากป้องกันไม่ดีเพียงนิดเดียว จะมีช่องทำคะแนนทันที)


ด้วยความฟิตที่ผิดกัน ทำให้เกมเกิดความแตกต่าง แต่ก็สนุกสนานดีครับ ได้ร่วมเล่นกับพี่ๆและน้องๆอีกหลายรุ่น แต่ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีครับเพราะปกติจะโดนเด็กถล่มมากกว่านี้ ปีนี้โดนแค่แปดแต้มเอง ปีหน้ามีเฮแน่น้อง 555 (โชคดีปีนี้ ไอ้เด็กที่สูง 192 มันจบไปแล้วครับ ไม่งั้นผมคงแย่งบอลได้ยากกว่านี้)


จบจากเกมนี้ ผมกับเพื่อนๆไปเล่นบาสต่อกันที่แป้นใกล้ตึกศิลปะ ใกล้ๆก็มีเด็กเล็กทั้งสามคณะ มานั่งดูรักบี้ครับ แต่ค่อนข้างจะหันมาดูบาสกันมากกว่า (ไม่ก็ดึงหญ้าเล่นกัน 55)


“พี่เบอร์หกครับ Dunk โชว์หน่อยซิพี่”


“พี่โย่ง Dunk โชว์หน่อยนะ”


ไอ้ผมก็อยากโชว์เด็กครับ เรียกร้องกันเหลือเกิน แต่ลูกบาสแบบนี้ เวลาขึ้นไป จะจับหลุดมือทุกที จากนั้นด้วยความบังเอิญ เดินไปอีกนิด ผมเจอลูกบาสแฟบๆ(ไม่มีลม) อยู่หนึ่งลูกครับ(สนุกละซิ ถ้าแบบนี้ ก็มีลุ้น)


ก็เหลือแต่แรงกระโดดครับ แน่นอนว่า คงสู้สมัย ม ปลาย ไม่ได้ แต่ก็น่าจะลองดู


ครั้งแรก ติดอยู่ขอบห่วงครับ(หน้าแตก) แต่ไอ้เด็กพวกนี้ ก็ยังอุตส่าห์ดูนะ(ไม่กลัวผิดหวังเหรอน้อง พี่หน้าแตกไปแล้วนะ)


ครั้งที่สอง ผมรวบรวมสมาธิ กระโดดให้สูงขึ้น ได้ผลครับ ผม Dunk ลงไปได้ เสียงปรบมือเกรียวกราว


แล้วครั้งที่สามก็ตามมาอีกที ก็ยังทำได้อยู่ แต่ทรงตัวไม่อยู่ ล้มนิดหน่อยครับ(พอดีกว่า พอหอมปากหอมคอ)


แม้จะมีเสียงเด็กๆ เรียกร้องอีก ก็ไม่เอาแล้วครับ ผมกลัวแขนหัก ขาหักน่ะ เดี๋ยวจะอดดำน้ำ แย่แน่ๆ 555(เพื่อนผมชื่อ เฉียด มัน Dunk โชว์สาวครับ ผลคือ แขนหัก ในขณะที่เพื่อนอีกคน ชื่อกล้วย นั่นโหนแป้นเล่น ตกลงมาก็ขาหักน่ะ)


ตกกลางคืน มีออกร้านอาหาร และมีดนตรีที่สนามหน้า ทุกๆคน ดูมีความสุขกันดีครับ ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการได้พบปะเพื่อนฝูง รุ่นน้อง รุ่นพี่ อีกแล้ว


ขากลับ ผมมีโอกาสได้เข้าไปที่คณะผู้บังคับการ นึกถึงความหลังสมัยเป็นเด็กเลยครับ


ทั้งบันไดที่พี่ จักรพันธ์ โปษยกฤต เคยพูดถึง(ตอนนี้ สร้างบันไดใหม่แล้วครับ สามารถขึ้นไปสู่ชั้นบนได้เหมือนเดิม สมัยผมตรงนี้ถูกปิดตายไปเลยครับ เขาคงไม่อยากให้เด็กแอบหนีขึ้นไปงีบน่ะ)


ทั้งบรรยากาศในห้องต่างๆ ที่ผมและเพื่อนๆเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่


“น้องๆ นั่งแบบนี้ เสียบุคลิกหมด ขยันดีแล้ว อยู่ชั้นอะไรครับ” เด็กน้อยรูปร่างผอม กำลังอ่านหนังสือแบบไหล่ตกๆ ไหลลงมาจนเกือบถึงที่รองนั่ง


“ม 1 ครับพี่”


หากไม่นับว่าน้องคนนี้ใส่แว่นแล้ว รูปร่างผอมๆ ไหล่ตกแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงตัวเองในวัยเด็กได้เลย


เป็นวันคืน ที่ผมมีความสุขมากๆครับ อยากให้มีทุกๆวันเลยล่ะ ^^

Friday, December 12, 2008

ทดสอบ กล้องและHousing….ที่พัทยา(2)







Dive 2 Blenny เจ้าปลาตั๊กแตนหิน!!!!

คราวนี้ไม่มีปัญหาครับ ลงได้อย่างสบายๆ ผมเริ่มจากการถ่ายรูปปะการัง ถ่ายรูปพี่หมีกับ Canon G9 และแล้วพี่หมายก็ชี้ให้ผมดูสัตว์ทะเลขนาดเล็กอยู่ในซอกหิน บริเวณพื้น ผมเห็นเขาโผล่หน้าออกมาครับ ในตอนแรกนึกว่าเป็นลูกปลาแมงป่องซะอีก แต่ผมก็พยายามถ่ายครับ แม้จะยากมาก ลอยตัวให้นิ่ง เพราะด้านล่างมีแต่เม่นทะเลทั้งนั้นเลยน่ะ




แต่ประโยชน์ของการที่ผมมีกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ บันดาลให้ผมเจอสัตว์ทะเลที่หายาก(ก็ต้องตาดีด้วยน่ะครับ) หลังจากกลับมาดูรูปที่บ้าน เฮ้ย!! นี่มันไม่ใช่ลูกปลาแมงป่อง




นี่มันปลาตั๊กแตนหินหรือปลาตุ๊ดตู่!!!!!!!!!(Blenny) นี่หว่า




จากการดูจากรูป เป็น Blenny ร้อยเปอร์เซนต์ครับ ไม่ใช่ปลาบู่(Goby)แน่ๆ เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นด้วยล่ะครับ ลักษณะที่ผมมั่นใจ คือ เหนือตาและบริเวณรูจมูกมีขนแตกแขนง ใต้คางมีขนคล้ายหนวดขนาดเล็กหนึ่งคู่ หากผมไม่ได้ถ่ายรูป คงไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นตัวนี้




เสียดายที่ว่า หากแฟลชดีกว่านี้ จะทำให้เห็นสีที่ถูกต้องแท้จริงและจะสามารถแยกชนิดได้ครับ ว่า เป็น Blenny ชนิดไหน(เมื่อลงไปในระดับความลึก สีจะหายไป สีที่เราจะมองเห็น ไม่ใช่สีที่แท้จริงครับ สีที่ได้จากกล้องถ่ายรูปบวกแฟลชที่เพียงพอจะทำให้ได้สีที่แท้จริง)




ต้องบอกไว้ก่อนว่า การจะเข้าไปใกล้ปลาชนิดนี้ ค่อนข้างยาก เพราะเป็นปลาขี้ตกใจ บางคนก็ต้องรอคอยโอกาสเฝ้าหน้าโพรงตอนมันออกมาอีกครั้ง(แต่ตัวนี้ หน้าโพรงมีเม่นทะเลเต็มเลยครับ ต้องจัดระเบียบร่างกายกันดีๆล่ะ ผมขอบายคนนึง ถ่ายได้ขณะลอยตัว ก็ถือว่าดีใจมากๆแล้ว)
ว่ายต่อไป ลองถ่ายดาวขนนกดูบ้างครับ จากนั้นก็เป็นรูปวิวทะเลกับปะการัง มีรูปหนึ่งผมชอบมากๆ ปะการังอยู่ด้านล่าง มีนักดำน้ำอยู่ด้านบน แสงพอดีเลยล่ะครับ




บนเพรียงหัวหอมสีฟ้า พี่หมายชี้ให้ผมดูทากเปลือยขาวจุดดำ(Jorunna funebris) ผมพึ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกครับ บางคนก็เรียกว่า นูดี้กระต่าย ขาว อวบ น่ารักจริงๆ (บอกแล้วครับ ว่าพี่หมายแกเชี่ยวชาญทะเลแถบนี้มากๆ)




พี่หมายยังชี้ให้ดูสัตว์ทะเลอีกชนิดบนพื้นครับ มีสีม่วง คุ้นๆว่าผมเคยเห็นที่เกาะผึ้ง ช่วงเดือนเมษายนทริปตะรุเตานะ พี่หมายก็บอกตรงกับที่ผมคิดไว้ครับ คือ ดาวทะเล(Starfish)ชนิดหนึ่ง แต่ผมมองดูรูปก่อนหน้านั้นจะมองว่าเป็นปะการังก็ได้นะ(หรือว่ารูปหนึ่งเป็นดาวทะเล รูปหนึ่งเป็นปะการังก็ไม่รู้)




จากนั้นก็ลองถ่ายรูปฟองน้ำครกและดาวทะเลที่รูปร่างเหมือนกับดาวมงกุฎหนาม




ดีใจกับ ในที่สุดผมก็ถ่ายรูปปลาได้ ผู้โชคดี คือ ปลากระรอกลายแดง(Redcoat) โชคดีที่แฟลชถึงด้วยครับ เจ้ากระรอกมาเป็นคู่ด้วย(อิจฉาโว้ย)




พยายามถ่ายรูปปลาผีเสื้อแปดขีด(Eight-banded Buttelflyfish) แต่ยังไม่ work ครับ ออกจะเบลอซะมาก




มาได้รูปดาวขนนก ที่ใส่มาโครแล้วเปิดแฟลช ที่ชอบครับ จากนั้นเป็นหนอนพู่ฉัตรที่ผมคิดว่าพัฒนาขึ้น(คิดเอาเอง) และครอบครัวฟองน้ำครก(Barrel sponge)ที่จับกลุ่มเยอะมากๆ




ชำเลืองดูพี่หมี หันไปดูด้านหลังจนผมเริ่มคลื่นไส้แล้ว ถึงช่วงนี้ ผมเหลืออยู่กับพี่หมีแค่สองคนครับ พี่หมายและคนอื่นๆหายไปแล้ว ยังไงก็ต้องช่วยๆดูกันครับ จะให้ผมตามกลุ่มแต่ทิ้งพี่หมีไว้ ก็คงไม่ดีกว่า(สองคนดีกว่า ช่วยเหลือกันได้น่ะ)




จริงๆแกบอกให้ผมขึ้นไปได้เลยครับ แต่ผมยังรอ และดำไปเรื่อยๆ ขึ้นพร้อมกันดีกว่า(แม้จะอยากขึ้นแล้วก็เถอะ)




ส่วนปลาทะเลอีกชนิดที่จำได้ ก็คือ ปลาผีเสื้อปากยาว(Beak Buttelflyfish) ครับ

คลื้นไส้เหมือนเคยครับ ลองถ่ายรูปภูเขาดูดีกว่า หลังจากส่งกล้องขึ้นไปแล้ว น้ำเริ่มแรงครับ(ไม่ได้รีบขึ้น เพราะมีคนมารอกันเยอะน่ะ) ผลคือ น้ำแรง จนถ้าไม่ได้จับเชือก มีปลิวแน่ๆครับ(ขนาดอยู่ข้างๆเรือนะ)




ลมพัดมา ตัวสั่นไปหมดเลยครับ(อยากมาดำน้ำหน้าหนาว สมน้ำหน้า) แต่ก็ไม่หวั่นครับ แบบนี้ผมชอบอยู่แล้ว ดีกว่าไปขึ้นเขาแล้วกัน ผมชอบดำน้ำน่ะ 555




พี่หมายบอกว่า เราจะทำกันสามไดฟ์ครับ(จริงๆผมก็ไม่อยากลงแล้วน่ะ พะอืดพะอม แต่ลงก็ได้ครับ) พี่หมีหาฟินของตัวเองครับ เข้าใจว่าคนอื่นคงหยิบผิดไป ฟินหายไปคงไม่สนุกแน่ๆ(สุดท้ายก็เจอครับมีคนหยิบผิดไปจริงๆนั่นแหละ)




ไดฟ์สุดท้าย เราจะลงดำกันที่ลอมฟางครับ บางทีการอยู่ในน้ำจะช่วยคลายหนาวมากกว่าอีกนะ 555 (ไม่ต้องเจอลมไงครับ)



Dive 3 วิมานของเหล่าฟองน้ำ!!!

อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส ไม่นานนักก็เหลือผมกับพี่หมีเพียงสองคน ไปเรื่อยๆ ผมเจอปลากะรังท้องกำปั่น(Blue-Lined Rockcod) ว่ายผ่านไปอย่างรวดเร็ว พยายามจะยกกล้องขึ้นมาถ่ายแต่ก็ไม่ดีเท่าไรครับ ได้แค่สีของลำตัวเท่านั้นเอง 555

นอกจากดาวขนนกแล้ว จุดนี้มีฟองน้ำค่อนข้างเยอะ จะเรียกว่าเป็นอาณาจักรของฟองน้ำ ก็คงไม่ผิดนัก เจ้าฟองน้ำสีฟ้าเกาะติดอยู่บนก้อนปะการังเต็มไปหมด พอลองถ่ายรูปดู ตัดกับฉากหลัง คือ สีเขียวของน้ำทะเล ก็สวยดีเหมือนกันครับ

ฟองน้ำ(Sponge) เป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ข้อแตกต่างกับเพรียงหัวหอม(Sea Squirt)คือ รูของฟองน้ำไม่สามารถเปิด-ปิดได้ ในขณะที่เพรียงหัวหอม มีรูที่สามารถเปิด-ปิดได้ครับ


มีตะกั่วอยู่ด้านล่าง ตอนแรกว่าจะเก็บขึ้นมาครับ แต่รอบๆตะกั่วมีเม่นทะเลมาคุมด้วย ไม่เอาดีกว่า ขืนเก็บได้แต่โดนแทงก็คงไม่คุ้มกัน




เริ่มมาที่จุดที่ตื้นขึ้น ผมเรียกพี่หมี บอกว่า ผมเจอปู(Crab)ด้วย อยู่ด้านหน้าโพรง แต่ลืมไปว่า พี่หมีเอาเลนส์ Wide ลงมานี่นา(ว่าแล้ว แกทำสัญญาณให้ผมลงไปถ่าย)




พอเปิดแฟลชปรากฎว่าฉากดำมืดเลยครับ เข้าใจว่าคงอยู่ไกลไป(แฟลชไม่ถึง) พอเข้าไปใกล้ๆ ถ่ายได้ครับ แต่ค่อนข้างเบลอ(มือสั่น ไม่ก็โฟกัสไม่ดี) จากนั้นไม่นาน ปูน้อยก็คงรำคาญผม หนีเข้าโพรงดีกว่า




ผมยังคงถ่ายภาพหนอนพู่ฉัตรและฟองน้ำครกอยู่ ทันใดนั้น ปลาปักเป้าชนิดหนึ่งว่ายผ่านไป ผมรีบยกกล้องขึนมาถ่าย




แม้จะไม่ชัดมาก แต่ยังพอเห็นครับ เมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้ว นี่คือ ปลาปักเป้ากล่องนอใหญ่(Largenose Boxfish) จุดเด่น คือ ริมฝีปากที่นูนออกมาอย่างเห็นได้ชัด มีจุดเล็กๆสีดำ รอบตัว พวกนี้ชอบอาศัยอยู่ในน้ำขุ่น ล่าสุดที่ผมเห็น คือ ที่เกาะสากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่คราวนั้นเห็นแวบเดียวครับ คราวนี้มีรูปถ่ายให้ผมได้ดูด้วยล่ะ(ดีจริง)




พี่หมีทำสัญญาณให้ผมดู แต่ผมไม่เข้าใจ พอแกถอดเรคกูเลเตอร์แล้วพูดบอกผมใต้น้ำว่า “หนาว” ผมก็ถึงบางอ้อทันที(จะขึ้นเมื่อไรก็ได้ครับ ธรรมดาไดฟ์นี้ตอนแรกก็ว่าจะไม่ลงอยู่แล้ว อีกอย่างผมใส่ Wetsuit 3 มิลลิเมตร ก็ยังว่าหนาว พี่หมีใส่ 0.5 มิลิเมตร ก็คงหนาวกว่าผมแน่ครับ 555)




ระหว่างหาทางขึ้น ผมเจอยูกะกับอาโออิ(ขนาดใส่หน้ากากก็ยังพอดูรู้ครับ) ผมทำสัญญาณมือ OK ให้อาโออิ(เป็นสัญชาติญาณน่ะครับ มือมันไปเอง) เธอยกมือทำสัญญาน OK ตอบเช่นกัน พอหันไปด้านซ้าย เจ้าหัวเกรียนชาวญี่ปุ่นก็อยู่ด้วย อาจกำลังสอบกันอยู่ ผมไปดีกว่า จะยกกล้องขึ้นมาถ่าย เขาจะหาว่า หน้าหม้อ (เดี๋ยวจับไต๋ได้ คราวหน้าเจ้าหัวเกรียนจะยิ่งระวังตัว ใส่เสื้อกั๊กมากขึ้นครับ 55)




ส่วนปลาชนิดอื่นที่จำได้คือ ปลาแพะ(Goat Fish) และปลากระรอกลายแดง(Redcoat)




ขึ้นมาเก็บอุปกรณ์ ระหว่างนั้น สวรรค์ทรงโปรดครับ เห็นอาโออิกับชุดทูพีช(ขาวจริงๆ) (ทริปนี้นอกจากได้ลองกล้องก็ได้อาหารตาด้วย)




เรือแล่นออกจากลอมฟาง กลับสู่ฝั่ง คลื่นแรงมากๆครับ เดินแล้วเสี่ยงต่อการหกล้มเป็นอย่างมาก ผมรีบมาเก็บกล้อง เพราะเวลาเรือออก กล้องที่กลิ้งไปมาในถัง อาจทำให้เสียหายได้




เรากลับถึงฝั่งช้าหน่อย ประมาณทุ่มกว่าๆ แต่ทุกอย่างก็เรียบร้อยดีครับ



บทส่งท้าย

เสร็จสิ้นเรียบร้อยครับกับทริปทดสอบกล้องและHousing ของผม เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเชื่อว่าจะสนุกมากยิ่งขึ้นในทริปต่อๆไปครับ




ผมมีโอกาสได้รู้จักสัตว์ทะเลมากขึ้นกว่าเดิม เพราะบางชนิดที่ผมเห็นเพียงชั่วครู่ อาจจะไม่ใช่ตัวที่ผมคิดก็ได้ การมีกล้องจึงช่วยเหลือตรงจุดนี้ได้มาก ทำให้การวิเคราะห์ยิ่งแหลมคม




ขอบคุณพี่ป้อม ที่ช่วยเป็นธุระให้ครับ ผมเชื่อแล้วครับที่พี่บอกผมว่า อยากมาพัทยาเมื่อไรก็มาได้เลย




ขอบคุณพี่หมาย กับความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี คราวหน้าเจอผมอีกแน่นอนครับพี่




ขอบคุณพี่ตุ๋นกับอาหารที่อร่อยเหมือนเดิมครับ




ขอบคุณพี่หมีครับ ที่ช่วยแนะนำเรื่องการถ่ายรูป ผมว่าคงได้เจอพี่อีกแน่ๆ ในทริปต่อๆไป




ว่าแล้วก็ กราบขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม เจอกันทริปหน้าครับ




Phop Payapvipapong







10 Dec 2008

11:36 pm




Thursday, December 11, 2008

ทดสอบ กล้องและHousing….ที่พัทยา(1)






หลังจากเสร็จสิ้นการไปดำน้ำที่ชุมพร ผมคิดในใจว่า อยากจะหาซื้อกล้องคอมแพคและHousing ซักตัว ไว้ถ่ายภาพใต้น้ำ เก็บรายละเอียดของสัตว์ทะเลที่ผมชื่นชอบ

สองผู้คร่ำหวอดในการถ่ายภาพใต้น้ำอย่างพี่ป๊อคกี้และพี่หมอหมู ก็เคยแนะนำผมครับ ว่า หากมีความรู้เรื่องสัตว์ทะเลแบบนี้ ก็น่าจะหาซื้อกล้องมาถ่ายภาพใต้น้ำได้แล้ว

ผมต้องการกล้องมือหนึ่งที่ราคาสมฐานะ(ไส้แห้ง) ไม่แพงจนเกินไป และเหมาะสมกับผมที่สุด ที่ไม่เน้นในเรื่องการถ่ายภาพบนบกมากนักแต่มุ่งไปที่การถ่ายภาพใต้น้ำมากกว่า(ขืนซื้อแพงมากก็งดดำน้ำยาวซิครับ 555)

หวยมาออกที่ร้านแห่งหนึ่งที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า จากการแนะนำของพี่ปุ๋มและการช่วยเหลือของพี่ต่าย AIS ทำให้ผมได้ของดี ราคาไม่แพง แถมยังมีลูกเล่นเพิ่มขึ้นกว่ากล้องที่ผมใช้อยู่อีกด้วย

แม้บางจังหวะจะทำให้ผมมองเห็นสัตว์ทะเลได้น้อยลงไปบ้าง(เพราะต้องมองผ่านจอ LCD) แต่ก็น่าจะช่วยทำให้ผมวินิจฉัยสกุลและครอบครัวของสัตว์ทะเลได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เนื่องจากบางชนิดสีกลมกลืนยากแก่การจดจำด้วยสายตา บางชนิดว่ายน้ำเร็วมาก การกลับมาดูภาพถ่ายอีกครั้งจึงเป็นประโยชน์อย่างที่สุด(ลงไปใต้น้ำ สีจะค่อยๆหายไปครับ เนื่องจากแสงที่น้อยลง ทำให้เวลาเรามองด้วยตา สีจึงผิดเพี๊ยนไปจากความเป็นจริง)

สิ่งที่ผมลืมไม่ได้คือ ต้องรบกวนสัตว์ทะเลให้น้อยที่สุดครับ จะ Landing ต้องแน่ใจว่าตรงนั้นเป็นพื้นทราย การดูแลเอาใจใส่ มองดูนักดำน้ำใกล้ๆตัว ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำอยู่เสมอครับ

นั่นแหละครับ หลังจากซื้อมา ก็ได้แต่ไปลองในสระว่ายน้ำอย่างเดียว ใส่ตะกั่วถ่วงลงไปข้างใต้สระ ผลคือ น้ำไม่เข้าครับ แต่การทดสอบในทะเลก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า รอคอยมาหลายเดือน จึงได้จังหวะที่เหมาะสมครับ

วันศุกร์เป็นวันพ่อแห่งชาติและติดกับวันเสาร์อาทิตย์ ผมและครอบครัวต้องมาพัทยาอยู่แล้ว(พาคุณแม่มาพักผ่อนด้วยน่ะครับ) วันเสาร์เช้าๆก็ออกมาที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักเท่าไร

แม้พี่ป้อมจะไม่มีทริปพัทยาสัปดาห์นี้ แต่แกก็บอกผมว่า

“ ภพ อยากดำน้ำพัทยาเมื่อไรบอกพี่ มีทุกอาทิตย์แหละ เดี๋ยวพี่ฝากให้ไปกับพี่หมายครับ”

ก็เหมาะเลยครับ ผมมักจะว่างในวันที่คนอื่นไม่ว่างอยู่ด้วยซิ ทริปนี้มีพี่หมี WhiteShark จะมาทดสอบ Housing ที่ซื้อมาใหม่ด้วยครับ ล่าสุดก็เจอกันที่ทริปร้านเป็ด ร้านไก่ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

หากพร้อมแล้ว ก็ดำดิ่งเพื่อไปเรียนรู้การถ่ายภาพใต้น้ำด้วยกันและพบกับสัตว์ทะเลเช่นเคยครับ


4-5 ธันวาคม 2551

มาถึงพัทยาช่วงเย็นวันพฤหัสครับนอกจาก Wetsuit ยาวที่ผมมักแบกไปเป็นประจำแล้ว พอมีกล้อง ก็จะมีกระเป๋าสำหรับใส่ Housing เพิ่มขึ้นมาอีก


เช้าวันศุกร์ วันพ่อแห่งชาติ พักผ่อนในที่พักกับครอบครัว ก่อนที่จะติดต่อพี่ป้อมเพื่อขอเบอร์พี่หมาย(สคูบ้าเทค) ไว้ติดต่อเวลาไปถึงท่าเรือ เมื่อคุยกับพี่หมาย นัดเวลากันเรียบร้อย ทราบคร่าวๆว่าในวันเสาร์เราจะไปหมายไกล อย่างเกาะริ้นกันครับ(สำหรับเกาะริ้น ผมเคยไปมาแล้วหนึ่งครั้ง(รายละเอียดติดตามเรื่อง “สู่หมายไกล…ทะเลพัทยา” ครับ)

ส่วนพี่หมีจะขับรถออกมาจากกรุงเทพฯ พรุ่งนี้เช้า มาเจอผมที่ท่าเรือ ผมจัดของให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ พรุ่งนี้จะได้ไปลองกล้องซะที รอมานานแล้ว 555


6 ธันวาคม 2551

ก่อนออกจากที่พัก กินอาหารเช้าให้เรียบร้อย คุณพ่อมาส่งที่ท่าเรือครับ ใช้เวลาประมาณสิบนาทีก็ถึง ที่ท่าเรือแหลมบาลีฮายในเวลานี้ มีลมเย็นๆพัดมา หนาวจริงๆครับ

มีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาติดต่อเรือโดยสารเพื่อไปเกาะล้าน น่าจะเป็นชาวไต้หวันครับ ชาวไต้หวันถือว่าเป็นตลาดใหญ่แถวนี้เหมือนกันนะ

“สวัสดีภพ รอนานหรือเปล่าครับ” พี่หมีทักทาย

“สบายมากครับพี่ ตรงไปที่ล๊อค D เลยครับ พี่หมายบอกว่าเรืออยู่ที่นั่น” ผมตอบ

“สวัสดีครับ พี่หมาย” ผมรีบขนของลง ก่อนที่พี่หมีจะถอยรถออกไปจอดด้านนอก

“สวัสดีครับ ต้องรอซักหน่อยนะ ผมเผื่อเวลาไว้น่ะเพราะบางคนก็มาจากกรุงเทพกัน” พี่หมายตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

ผมมั่นใจว่า จากการที่ผมมาดำน้ำที่พัทยาก็หลายครั้ง ผมเคยเห็นพี่หมายมาก่อนแน่ๆครับ คุ้นหน้าจริงๆเลยล่ะ

พี่หมายเล่าให้ฟังว่า หากอยากมาดำน้ำให้ติดต่อมาได้เลย เรือออกทุกเสาร์ อาทิตย์ วันเสาร์จะเป็นหมายไกล เช่น เกาะริ้น ยักษ์กระโดง ลอมฟาง วันอาทิตย์จะเป็นหมายใกล้อย่างเกาะสาก เกาะล้าน เรือหลวงกูด เป็นต้น บางครั้งห้าคนก็ออกครับ แต่อาจจะเป็นหมายใกล้ๆแทน โดย Leader ก็คือ พี่หมายครับ

ระหว่างนี้พี่หมายกับเด็กเรือกำลังช่วยกันขนแท๊งค์ ขึ้นเรือ ผมเริ่มเห็นนักดำน้ำชุดแรกที่มาถึง เป็นชาวต่างชาติสี่คนและชาวไทยหนึ่งคนครับ(ชาวไทยคนนี้จะคอยอธิบายให้ชาวต่างชาติฟังโดยตลอด)

ผมไม่รู้จักชื่อเรือครับ เห็นแต่ว่า มีเลข 9 อยู่ด้านบนหัวเรือ พี่หมีมาแล้วครับ ขึ้นเรือดีกว่า

นอกจาก Gear Bag ของพี่หมีแล้ว ก็ยังมีถังแช่กล้องที่พี่หมีเอามาเอง ด้วยอุปกรณ์ที่ใหญ่ กินเนื้อที่เยอะ ทั้งกล้อง อาร์มยึดแฟลชและสโตป การนำมาเองก็สะดวกและปลอดภัยดีครับ(ไม่มีรถเสร็จแน่ครับ 555)

ปกติผมจะเป็นคนทำอะไรชักช้า เรื่องการประกอบอุปกรณ์นี่ ผมจะขี้เกียจเบียดเสียดผู้คน รอให้ประกอบกันเสร็จก่อน แต่คราวนี้ยังไม่มีคนมาครับ เป็นโอกาสดี เนื้อที่เยอะ ผมรีบประกอบอุปกรณ์เลยดีกว่า

พี่หมายให้ตัวที่เกี่ยวกับกล้องไว้ติดกับ BCD ที่พี่ป้อมฝากมาให้ครับ ผมว่าจำเป็นอย่างมากเลยล่ะ

ประกอบอุปกรณ์เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว แบบไม่เคยมีมาก่อน ส่วนตะกั่ว ผมร้อยแค่สี่ก้อนครับ ลดไปหนึ่งก้อน เพราะอยากจะลดตะกั่วลงน่ะ(ไม่รู้จะเกิดเหตุการณ์เดิมอีกหรือเปล่า คราวก่อนก็เกิดที่เกาะริ้นนี่แหละ 555)

ผมเห็นชายคนหนึ่ง ลักษณะคล้ายพี่หมายมากๆครับ

“อ้าว นี่มันพี่ตุ๋นนี่หว่า” ผมเจอแกบ่อยครับ เวลามาดำน้ำที่นี่ การันตีว่า มื้อเที่ยงผมจะได้กินไข่เจียวแสนอร่อย กับน่องไก่ทอดแล้วล่ะครับ(ทำเป็นเล่นไป ผมว่า อาหารอร่อยกว่า Liveaboard บางลำที่ผมเคยไปอีกนะ 555)

ซักพักกลุ่มนักดำน้ำชาวญี่ปุ่นก็ขึ้นมาบนเรือ หนึ่งในนั้น ผมจำได้ดี ชาวญี่ปุ่นหัวเกรียน ผมเจอบ่อยๆ น่าจะเป็น Instructor ไม่ก็ Divemaster นี่แหละ มักจะพานักดำน้ำญี่ปุ่นมาดำน้ำเป็นประจำ(สาเหตุเหรอครับ ที่ญี่ปุ่นการดำน้ำค่าใช้จ่ายสูงมาก แถมต้องนั่งเรือออกไปไกลสุดๆ มาดำน้ำเมืองไทยดีกว่า ค่าใช้จ่ายก็ถูก มีอะไรดีๆดูเยอะด้วย)

ประเด็นอยู่ที่นี่ครับ สาวญี่ปุ่น โอ้ว้าว ผิวก็ขาว ในกลุ่มนี้ มีสองสาว คนหนึ่งตาเข้มๆออกแนวแบบวัยรุ่นโตเกียว อีกคนหน้าตาน่ารักมากๆแบบสาวชนบทที่ดูบริสุทธิ์ ไร้สิ่งเจือปน(ผมเหมือนกับพวกโรคจิตไหมครับ 55 )

เอาเป็นว่ายังไม่รู้จักชื่อเธอครับ ขอเรียกสองสาวนี้ว่า ยูกะ กับ อาโออิ ก่อนแล้วกัน(ผมรู้นะ ว่าคุณคิดอะไรอยู่ 555)

พยายามจะแอบถ่ายรูปมาฝากทุกท่านกัน(เข้าขั้น โรคจิตแล้ว) ระหว่างสองสาวกำลังเตรียมอุปกรณ์ แต่ถ่ายติดเฉพาะยูกะครับ(อาโออิดันก้มหน้าซะได้) นึกถึงพี่ๆในเว็บ ที่มีกล้อง DSLR ถ้ามาล่ะก็ ซูมปั้บได้ภาพช๊อตเด็ดแน่ๆครับ

ผมกับพี่หมี นั่งด้านล่างครับ พี่หมีอยากเฝ้าดูกล้องด้วยล่ะ ผมได้จังหวะหยิบกล้องมาประกอบกับ Housing โดยให้พี่หมีช่วยดูด้วย

เริ่มแรก นำ โอริง ลักษณะเป็นยางที่คั่นกลางระหว่างกล้อง เวลาเปิด –ปิด มาทาซิลิโคน ดูว่ามีเส้นผมติดอยู่หรือไม่ เสร็จแล้วนำมาติดไว้กับตัว Housing

จากนั้นนำตัวกล้องใส่เข้าไป(เอาสายคล้องกล้องออกก่อนด้วยล่ะ) ปิดฝาให้เรียบร้อย ดูว่าปิดดีแล้วหรือยัง

จากนั้นลองเปิด-ปิด ทดลองปุ่มดูว่าใช้ได้หรือไม่ ก่อนที่จะเอาตัวกระจายแฟลช ลักษณะเป็นแผ่นที่ติดหน้ากล้อง มาผูกกับกล้อง แล้วดันตัวกระจายแฟลชเข้าไป

ผูกสายคล้องกับ Housing ที่ยึดกับ BCD(ที่พี่ป้อมให้มา) แล้วยังมีสายคล้องที่ผมมีอยู่แล้ว เอาไว้รัดบริเวณข้อมือ เรียกว่า ถ้ากล้องจะหลุดไปจากผม ก็ต้องให้สองส่วนนี้หลุดออกไปก่อน 555

เอากล้องลงไปแช่ในถังครับ(พี่หมีบอกจะได้ไม่เป็นฝ้า) ผมเห็นหลายๆคนก็แช่กันทั้งนั้นนะ

เรือออกเดินทางสู่เกาะริ้นครับ วันนี้อากาศดี คุยกับพี่หมีซักพัก พี่หมายก็ลงมาคุยด้วย

พี่หมายบอกว่า แกชอบสะสมรูปทากทะเลในอัลบั้ม เพราะแกดำน้ำที่นี่มาทุกสัปดาห์ พบเจอทากมาแล้วหลายชนิด รู้ว่าตรงจุดไหน มีอะไรดูบ้าง ว่าแล้วก็โชว์รูปในกล้องให้ผมกับพี่หมีดู หลายชนิดผมยังไม่เคยเจอมาก่อนเลยครับ สุดยอดจริงๆ ใครจะไปเชื่อว่าพัทยาก็มี

แกเป็นคนอัธยาศัยดีมากครับ หากได้คุยจะรู้ได้ทันที ต่อไปนี้ผมจะมาดำน้ำพัทยา ว่างเมื่อไรก็ได้มาดำแน่นอนครับ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีทริปอีกต่อไปแล้ว

มาถึงที่เกาะริ้นครับ ผมยังจำหาดทรายสีขาวที่ทอดยาวด้านหน้าได้ดี ใกล้ๆมีลอมฟาง จุดดำน้ำอีกที่หนึ่ง เสียดายจังครับที่ผมไม่ได้หยิบกล้องบนบกมา เพราะทิวทัศน์ที่นี้สวยงามจริงๆ(หากจะหยิบกล้องที่ประกอบ Housing มาถ่าย ก็อาจจะได้เหมือนกัน แต่อาจจะมีละอองน้ำติดน่ะครับ)

ผมแต่งตัวเตรียมพร้อมสำหรับไดฟ์แรก กระแสน้ำค่อนข้างไหล และมีลม ไปลุยกันเลยครับ


Dive 1 ไม่ได้โชคร้ายเสมอไปหรอก ไอ้น้อง!!!

เอาอีกแล้ว สาบานได้เลยว่าผมไม่ได้ตื่นเต้น เมื่อปล่อยลมออกจาก BCD จนหมด ตัวก็ไม่จมลง ในขณะที่พี่หมีและพี่หมาย ลงไปหมดแล้ว

ผมพยายามอยู่หลายที เพื่อจะลงไปใหม่ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ อีกทั้งกระแสน้ำที่ไหล ทำให้ตัวผมถูกพัดห่างออกจากเรือไปเรื่อยๆ

ซวยล่ะซิ อุตส่าห์เอากล้องมาลอง กับแห้วในไดฟ์นี้อีกแล้ว ผมคิดในใจว่า จะตีขาไปใกล้ๆเรือเพื่อเพิ่มตะกั่ว(ต่อไปนี้ไม่ลดแล้วล่ะครับ 555) แต่ยิ่งตีขา ก็ยิ่งห่างจากเรือไปเรื่อยๆ แดดที่แรงจัดแบบนี้ ผมเริ่มคลื่นไส้แล้วล่ะครับ

เอาใหม่ ตีขาไปเกือบถึงเรือ ลองลงไปใหม่ ก็ยังไม่ได้ เลิกดีกว่าเว้ย กลับเรือ กลับเรือ(ห่างออกไปอีกแล้ว)

“จับทุ่นไว้ครับ” เสียงสวรรค์จากบนเรือ หนึ่งในนั้น คือ พี่ตุ๋น

โชคดีครับ ผมจะหมดแรงอยู่แล้ว ให้ตีขาเข้ามา เป็นเรื่องยากมากๆ ด้วยกระแสน้ำที่ไหลสุดๆ ผมจับเชือกและถูกดึงเข้าเรือ

“ตะกั่วไม่พอน่ะครับพี่ จะว่ายกลับเรือก็ไปไกลเลย”

“ว่ายไม่ได้หรอกครับ กระแสน้ำมันไหลมาก” พี่ตุ๋นบอก

แปลกแฮะ ผมเจอกลุ่มคนต่างชาติสี่คน และคนไทยอีกหนึ่งคน ที่เจอก่อนขึ้นเรือ ไหงพวกเขาขึ้นมาเร็วจังล่ะ

ทราบภายหลังว่า ทั้งหมดเป็นนักเรียน Open Water จากโรงเรียนนานานชาติ รีเจนซ์ กรุงเทพฯ โดยมีครูวีรชัย มาสอบภาคทะเล ที่สำคัญ พวกเขากำลังจะลงไปอีกครับ(และบอกให้เรือไปรับด้วย)

“เอ้าก็ แบบนี้ ก็เจ๋งซิ” ผมคิดในใจ และรีบเพิ่มตะกั่ว

“ขอผมลงไปด้วยนะครับ” ว่าแล้วไปลุยกันต่อกันเลยครับ

สบายๆครับ ลงได้แบบไม่มีปัญหา ผมเริ่มจากการถ่ายรูปครูวีรชัยก่อน ค่อยๆทำความคุ้นเคยกับกล้องไป ในน้ำมีตะกอนแบบนี้ หากไม่ใช่วัตถุที่ใกล้ๆ ถ้าเปิดแฟลช อาจจะติดตะกอนได้(ลองแล้ว ขาวโพลนเลยครับ แฟลชก็ตัวจิ๋วเดียว 555)

เริ่มจากเจ้าหนอนพู่ฉัตร(Chrismas tree worm) นี่แหละ สัตว์ทะเลที่มักเกาะติดอยู่กับปะการังก้อน ตัวที่ผมเห็นมีสีเหลืองครับ แต่ยังต้องนิ่งกว่านี้ รีบร้อนไปก็ได้ภาพแบบรีบร้อนน่ะ(ข้อดี คือ ไม่รีบร้อนจะได้ภาพสวย รีบร้อนภาพไม่สวยแต่มีข้อมูลมาเล่าเรื่อง ดีคนละแบบครับ 555)

ฟลุคครับ ผมเจอทากทะเล(Sea Slug)สองตัวอยู่บนก้อนหิน เมื่อรอบๆไม่มีปะการังและเม่นทะเล ผมลงไป landing กดมาโครและพยายามโฟกัสวัตถุ ก็ได้ภาพดีบ้าง เบลอบ้าง ตามฝีมือ 555(สีออกครีมๆครับ)

ต่อด้วย เม่นทะเล(Sea Urchin) มีเยอะนัก ก็ขอถ่ายรูปหน่อยแล้วกัน

ระหว่างผมถ่ายรูป จะใช้เวลาไม่มากครับ คอยชำเลืองดู กลุ่มเป็นระยะ เพื่อจะได้ไม่ต้องคลาดกัน

ด้านหน้าผม มีเจ้าปลาการ์ตูนอินเดียนแดง(Pink Anemonefish) แต่ด้วยความที่เคลื่อนไหวเร็ว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเก็บภาพได้อย่างงดงามครับ

มาดูของนิ่งๆ ง่ายๆ ชัวร์ๆ อย่างปะการังดีกว่า ด้านหน้า คือ ปะการังโต๊ะ(Table Coral) ครับ ส่วนใกล้ๆ คือ สัตว์ทะเลที่สาวๆมักจะขยะแขยง คือ ปลิงทะเล(Sea Cucumber) ผู้เปรียบเสมือนเทศบาลแห่งท้องทะเลครับ

ยังมีแส้ทะเล และอวนเล็กๆ อยู่บนพื้น ก็ถ่ายไปเรื่อยครับ(ไม่มีอุปกรณ์ตัดด้วยน่ะ)

ครูวีรชัยทำสัญญานให้ขึ้นเพื่อทำ Safety Stop ผมไม่ดื้ออยู่ต่อหรอกครับ(จะอยู่ก็ได้ครับ Sausage ก็มี) แต่เพื่อความปลอดภัยก็ไม่ควรอวดเก่ง ที่ลงมาได้ก็เพราะครูวีรชัย เวลาขึ้นก็ควรจะขึ้นพร้อมๆกัน มาถ่ายรูปนักดำน้ำต่อดีกว่า เท่าที่ดูเหมือนพวกเขาจะชอบด้วยครับ(พี่ประสิทธิ์ จันเสรีกร เคยเขียนในหนังสือการถ่ายภาพใต้น้ำ บอกว่า เมื่ออยู่ใต้น้ำ หันกล้องไปที่นักดำน้ำ เป็นใครก็ยากที่จะปฎิเสธลง จริงแท้แน่นอนครับ)

ผมรอให้ครบสามนาที ก่อนจะขึ้นตามพวกเขาไป ระหว่างนี้ก็ถ่ายรูป Dive computer นี่แหละ

จากนั้นจึงลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ


“ขอบคุณมากนะครับ ที่ถ่ายรูปให้” ครูวีรชัยบอก

“ผมก็ต้องขอบคุณครูด้วยครับ ไม่ได้ครูก็คงไม่ได้ลงมาเหมือนกัน ตะกี้ผมหลงจากกลุ่มน่ะครับ” ว่าแล้วผมก็ถ่ายรูปให้พวกเขาบนผิวน้ำพร้อมๆกัน(ง่ายกว่าถ่ายด้านล่างเยอะเลยครับ 555)

ครูวีรชัย อธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้นักเรียนชาวต่างชาติฟังว่า ผมดำมาแล้ว แปดสิบกว่าไดฟ์ แต่ยังอยู่ระดับ Open Water ซึ่งจำนวนไดฟ์ขนาดนี้ก็สามารถจะสอบเป็นระดับ Dive Master ได้แล้ว(พวกฝรั่ง อู้หูกันใหญ่ครับ ไม่รู้แปลกใจว่าดำเยอะหรืออะไรกันแน่ 555)


โน้นครับ เรือมารับแล้ว เจ้าฝรั่งโบกฟินแล้วพูดว่า “Help me!!” ด้วยอารมณ์ขันครับ

พี่ตุ๋นกับพี่หมายช่วยกันดึง Diver ขึ้นเรือ ว่าแต่พี่หมียังไม่ขึ้นเลยครับ


เรือกลับไปที่จุดเดิม ซักพักพี่หมีก็ขึ้นมาครับ(แกบอกว่า ตกใจเพราะขึ้นมาบนผิวน้ำ เรือก็หายไปแล้ว) (ที่หายเพราะว่าเรือแล่นไปรับกลุ่มครูวีรชัยและผมน่ะครับ 555)


ระหว่างผมนั่งเก็บแท๊งค์เข้าที่ ก็ประจันหน้ากับยูกะและอาโออิครับ(กลุ่มญี่ปุ่นพึ่งจะลงครับ) โอกาสดีแบบนี้ ฟอร์มว่ายกกล้องมาเทสดีกว่า แล้วก็แชะ(ทีตอนใส่หน้ากากเนี่ย เกิดถ่ายได้ซะงั้น 55)

มากินข้าวกลางวันดีกว่าครับ กระเพราไก่ ไข่เจียว น่องไก่ทอด ตามด้วยน้ำอัดลมเย็นๆ กินให้หายคิดถึงอาหารของพี่ตุ๋นเลยครับ โอ้ อร่อยจริงๆ

ผมโชว์รูปถ่ายเจ้าฝรั่งที่โบกฟินให้เขาดูรูปตัวเอง(บังเอิญเป็นรูปที่พอดูได้ครับ ไม่เบลอ) เจ้าฝรั่งยิ้มแล้วบอกว่า “Like a fish”(อารมณ์มันก็ขำดีครับ 55)

นั่งคุยกับพี่หมีซักพัก ผมก็ไปเปลี่ยนแท๊งค์ ปัญหาที่ผมเจอบ่อยเวลาเปลี่ยนแท๊งค์ คือ มักจะหมุนไม่ออก(ปัญหาดูง่ายแต่ผมไม่ฉลาดเองน่ะครับ 555) พี่หมีบอกว่า ต้องไล่อากาศออกให้หมดทั้งใน BCD และ Regulator ผลคือ ออกง่ายมากครับ

จุดดำน้ำต่อไป เรามาหลบคลื่นอยู่ในอ่าว ซึ่งยังเป็นที่เกาะริ้นอยู่ครับ แต่เป็นอีกด้านหนึ่งน่ะ ว่าแล้วก็ไปกันต่อเลยครับ