Saturday, March 18, 2006

ประสบการณ์ “เล็บหลุด”


หลายเดือนก่อนขณะผมไปเล่นบาสเกตบอลในงาน Vajiravudh home coming day กับพี่ๆศิษย์เก่าและน้องๆ
จังหวะที่แย่งลูก แล้วลงมาไม่ดีนัก เกิดปวดบริเวณนิ้วโป้งมาก

หลังจากนั้นบริเวณใต้เล็บของนิ้วโป้งจะมีเลือดเสียที่มาคั่ง ซึ่งผมก็ไม่ได้สนใจเท่าไร คิดว่าเดี๋ยวคงหาย

ต่อมา ก็เริ่มไม่เจ็บแล้ว แต่ดูๆไปก็หมือนทาเล็บเหมือนกัน แต่ใครจะบ้า ทาเล็บแค่นิ้วเดียวล่ะ(ผู้ชายที่ไหนจะทาเล็บ ไม่ใช่น้องตุ้มนี่)

เวลาเดินไปไหน ก็ดูเท่ไปอีกแบบ เพราะรองเท้าแตะสีดำ สีเข้ากับเล็บมาก

3 วันก่อน แม่ผมบอกว่า จริงๆ แล้ว ถ้าไปพบแพทย์ แพทย์จะดึงเล็บออก แล้วทำความสะอาดภายในเล็บด้วย(เดี๋ยวจะเน่ามั้ง)

ผมคิดๆ ดูว่า ทำไมดูรุนแรงจัง ไม่น่าจะต้องดึงเล็บออกมาเลย(คุณหมอเดียร์ และคุณหมอออม บอกผมหน่อยนะ)

แต่ผมเริ่มสังเกตเห็นว่า บริเวณโคนเล็บ เหมือนจะหลุดออกมาจริงๆ

วันนี้เองครับ สดๆร้อน เท้าไปเตะโดนรถเข็นขณะไปซื้อของที่ lotus ใกล้บ้าน

ผล คือ เล็บยื่นออกมา ไม่เข้ารูป มีเลือดซึมเล็กน้อย เจ็บนิดหน่อย (สาวๆ ที่เดินผ่านมา ยืนดูแล้วมีสีหน้าตกใจ เล็กน้อย)

เป็นสัญญาณที่ดีว่า เล็บใกล้จะหลุดแล้วล่ะ(ขออภัยกับรูปประกอบนะครับ แค่จะถ่ายมาให้ดู สังเกตดีๆว่า สีดำที่เล็บเริ่มจะหายไปแล้ว ส่วนเล็บยื่นออกมา อย่างเห็นได้ชัด))

ผมไม่อยากใส่รองเท้าแตะไปทำงานเสียด้วย

นอกจากนี้ ผมยังเคยนิ้วส้น จนคด(หมอหวัน หมอเทวดาที่โรงเรียน ดึงให้จนกระดูกกลับมาเข้าที่)

แต่หากเปรียบเทียบกับเพื่อนๆของผม ที่เล่นรักบี้ แค่นี้ยังน้อยครับ

ไหปลาร้าหัก แขน ขา หัก เป็นเรื่องปกติ

คอหักก็มี(แต่นั่น เสียชีวิตไปแล้วครับ เป็นรุ่นพี่ )

อุบัติเหตุจากกีฬา เกิดขึ้นได้เสมอ

แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกๆคน พร้อมที่จะยอมรับมัน

กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ

ดีกว่า ยาเสพติดแล้วกัน

Tuesday, March 14, 2006

ครั้งหนึ่งกับ..เหตุการณ์ประวัติศาสตร์


ผมรู้คร่าวๆ ว่าวันนี้จะมีการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุมที่คัดค้านนายกรัฐมนตรี จากสนามหลวงมารัฐสภา โดยผมก็ไม่ได้ตื่นเต้นเท่าไรนัก เพราะไม่ได้ฉุกคิดว่า จะมาเดินทางผ่านมาทางที่ทำงานของผม

หารู้ไม่ว่า คนที่ความรู้สึกช้าอย่างผม กลับพึ่งนึกออกว่า จากสนามหลวงมารัฐสภา ก็ต้องมาทางถนนราชดำเนินนี่หว่า(ซวยแล้ว) กว่าจะรู้สึกตัว ก็ออกจากบ้านมาสายกว่าทุกวันเล็กน้อย แถมรถเมล์สาย 47 ที่เคยนั่งนั้น บัดนี้ได้เปลี่ยนเส้นทางแล้ว เมื่อรถเมล์หมดระยะ ผมจึงเดินเท้าไกลพอสมควร ผ่านวัดสระเกศ ข้างหน้า คือ ถนนราชดำเนิน

ผมยืนสังเกตการณ์ดูบนสะพาน เหมือนคนอื่นๆ เพราะยังมองไม่เห็นว่า จะเดินข้ามถนนเพื่อเข้าที่ทำงานได้อย่างไร (ผู้ชุมนุมจะเดินบนถนนฝั่งกองสลาก ส่วนอีกฝั่งรถสามารถวิ่งผ่านได้)

คนเยอะมากจริงๆ ถนนฝั่งกองสลาก ผู้ชุมนุมค่อยๆเคลื่อนขบวนไป หัวแถวอยู่ไกลมาก(ไปถึงฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะที่ท้ายแถวมองไม่เห็นว่าอยู่ที่ไหน แต่ที่แน่ๆ ตรงอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีแต่ฝูงชน

รอบๆ มีตำรวจคอยยืนสังเกตุการณ์หลายคน ในขณะที่ประชาชนรอบๆ บางคนหยิบกล้องมาถ่ายด้วย(เสียดายมาก ที่ไม่ได้หยิบกล้องมา)

แต่ถึงกระนั้น การชุมนุมก็เป็นไปโดยสงบและระเบียบเรียบร้อยจริงๆ แต่ละชุดจะมีแกนนำ บนรถ คอยนำผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปอย่างเป็นระเบียบ

“ท๊าก..สิน” เสียงหัวหน้ากลุ่มในแต่ละชุดพูด

“ออกไป” เสียงขานจากเหล่าผู้ชุมนุม

ผมไม่เคยเห็นคนมากมายขนาดนี้มาก่อน จึงไม่แปลกใจว่าทำไม จึงตื่นเต้นมาก เมื่อผมเห็นช่องทางที่จะเดินข้ามถนนได้ จึงเดินข้าม(จะมีการเว้นที่ให้รถ และคนเดินถนนผ่าน) ผมผ่านผู้ชุมนุมในระยะประชิด แต่ผมกลับไม่รู้สึกกลัวเลย(เพราะอะไร คิดกันเองครับ)

สีหน้าของผู้ชุมนุมแต่ละคนนั้น อยู่ในสภาพที่ผ่อนคลาย บางคนมีอายุน้อยกว่าผมเสียอีก

เสียงที่ผมจำได้ดี คือ เสียงคุณสนธิ กับเสียงของน้องผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เป็นแกนนำเช่นกัน น้องผู้หญิงบอกให้ผู้ชุมนุมเลิกใช้ เอ ไอ เอส (ผมยิ้มร่า เพราะใช้ orange)

ที่ทางเท้า ไม่มีผู้ชุมนุมเดินขบวน มีเพียงบางคนที่นั่งพักเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเดินบนถนนกัน

วันนี้ร้านขายข้าว ของลุง จึงขายดีเป็นพิเศษ ลูกค้าแน่นร้านเลย(ผู้ชุมนุมทั้งนั้น)

ป้ายง พนักงานทำความสะอาดในที่ทำงานของผม ก็มาดูการชุมนุมเช่นกัน แกบอกว่า ให้ผมเดินเข้าด้านหลัง เพราะประตูด้านหน้าปิด(กันผู้ชุมนุมเข้ามา)

ไม่ว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาจะสัมฤทธิ์ผล หรือไม่ คือสิ่งที่เราทุกคนต้องติดตาม

การชุมนุมอย่างสงบ การต่อสู้ทางความคิด ไม่ใช่กำลัง แบบนี้แหละ แสดงถึงความเป็นอารยะประเทศว่า เหตุใด ประเทศไทยจึงอยู่เป็นปึกแผ่นได้ถึงทุกวันนี้

Sunday, March 12, 2006

ไว้อาลัยแด่….รุ่นน้อง


ผมพึ่งทราบข่าวจากพี่เงี่ยน(สมสมรรถ เดชะไกศะยะ) นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยรุ่นที่ 68 ว่า รุ่นน้องที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นที่ 73 คณะดุสิต ประเสริฐ ปิยะภานีรัตน์ ซึ่งมีชื่อที่เรียกกันในโรงเรียนว่า สถุน ถูกยิง เสียชีวิตเมื่อวานนี้

แม้ผมจะไม่สนิทสนมกับรุ่นน้องคนนี้นัก เพราะอยู่คนละคณะและอยู่คนละชั้นปี แต่เมื่อผมทราบข่าว ก็เสียใจกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของรุ่นน้องคนนี้เช่นกัน ที่สำคัญ เป็นการจากไปก่อนวัยอันควรด้วย

สถุน เป็นลูกพี่ลูกน้องของคอห่าน(ทวี ปิยะภานีรัตน์) นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย รุ่นที่ 72 รุ่นติดกับผมนี่เอง ถ้านับตามอายุแล้ว สถุนแก่กว่าผมเสียอีก แต่พอเข้ามาในโรงเรียนแล้ว เราถือตามลำดับอาวุโสของชั้น มากกว่าอายุ

ในการแข่งกีฬาบาสเกตบอลกับคณะดุสิต ครั้งใด ผมมักจะเจอสถุน ในสนามแข่งขันแทบจะทุกครั้ง เพราะร่างกายที่สูง ใหญ่กว่า เด็กในวัยเดียวกัน ทำให้สถุนสามารถเล่นกีฬาได้หลายอย่าง รวมทั้งรักบี้ฟุตบอล กีฬาหลักของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยด้วย

นอกจากนี้ ในการแข่งขันกรีฑา ประเภทกระโดดสูง รุ่นกลางและรุ่นใหญ่ ในปีสุดท้าย ผมก็ได้เป็นตัวแทนของคณะผู้บังคับการ ในขณะที่สถุน ก็เป็นตัวแทนของคณะดุสิต ซึ่งผลปรากฏว่า ผมแพ้เจ้ารุ่นน้องคนนี้ เพราะสถุนกระโดดได้ถูกต้องกว่า(ศิษย์ครูหมิว) เล่นมานานกว่ามาก ในขณะที่ผมพึ่งได้ลงแข่งขันในปีแรกเท่านั้น

คำพูดที่ผมจำได้ ครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกับสถุน ก็ คือ ที่สนามบาสข้างๆคณะผู้บังคับการ วันนั้นสถุนเดินมาถามผมว่า

“พี่กับ พี่กระจิบ(พี่ชายคนกลางของผม) ใครเล่นบาสเก่งกว่ากันครับ”

“พี่กระจิบแหละ พี่ไม่ค่อยเก่งหรอก”

แน่นอนว่า บุคคลที่เสียใจที่สุด คงไม่พ้นครอบครัว ญาติพี่น้อง รวมถึงนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ทุกๆคนด้วย

สถุน น้องทำบุญมาน้อยในชาตินี้

หวังว่า ชาติหน้า คงได้มีโอกาส มาเล่นกีฬาด้วยกันอีก

ขอให้ไปสู่ สุขคตินะครับ

พี่กระสาบ
ภพ พยับวิภาพงศ์
นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยรุ่นที่ 71

Friday, March 10, 2006

ความดันทุรังที่เลือกได้ และความพึงพอใจ ของข้าพเจ้า


การเดินทางไปทำงานใน 2 วันแรก ผมเลือกที่จะขับรถไปจอดที่วัดราชนัดดา(บริเวณภูเขาทอง)เสียค่าจอดตลอดวัน 30 บาท เนื่องจากว่า แถวนั้นจะหาที่จอดรถ(อย่างสบายใจ ไร้สีกากี) นั้น ยากมาก

แต่ในส่วนลึกในจิตใจของผมนั้น ไม่ได้อยากขับรถมาหรอกครับ แม้จะสบายกว่าก็ตาม ครั้นจะนั่งรถเมล์มาอย่างเดียว ก็ไม่ได้ใช้รถ(มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะหลังเลิกงาน ผมจะต้องใช้รถมาเรียนหนังสือที่ศาลแพ่ง รัชดา)

คำตอบที่ผมถวิลหาอยู่ตลอด วาดฝันมาตลอด ก่อนที่จะเริ่มทำงานเสียอีก คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน(MRT)และรถไฟฟ้า(ฺBTS) ผมรู้สึกอิจฉาเจ้าอ้อม เพื่อนโอวีที่ทำงานก่อนผม แต่กลับเดินทางไปทำงานโดยรถไฟฟ้าใต้ดินอย่างสะดวกสบาย บริหารเวลาได้ง่าย แล้วผมจะทำอย่างไรล่ะ เพื่อที่จะไม่ลำบากสำหรับตัวผมมาก พึงพอใจ และการเดินทาง ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้

ถ้าเริ่มแปลกใจว่า อยู่ราชดำเนิน จะไปทำงานโดยรถไฟฟ้าใต้ดินเหรอ ตลกล่ะมั้ง?(ถ้าไม่ใช่แถวรังสิต ผมจะดันทุรังไประบบขนส่งที่แสนจะสะดวกสบายจนได้ซิน่า)

ผมใช้เวลาช่วงวันศุกร์ที่มีม็อบรากหญ้า มาจากต่างจังหวัดเพื่อมาเชียร์นายก ลองเดินทางมาโดยรถใต้ดิน โดยลงที่สถานีหัวลำโพง ซึ่งขามาถ้าจะเลือกเส้นทางที่ไม่ผ่านสนามหลวงนั้น จะมีรถเมล์น้อยมาก (ใครติดตามข่าว คงทราบดีว่าสนามหลวงมีอะไร) มาทำงานได้ 3 วัน ผมก็มาสายซะแล้ว แต่ไม่กลัวครับ เปรี้ยวน่ะ ใครจะทำไม (ล้อเล่นครับ มันจำเป็น ที่ต้องลองเส้นทางครับ เลยทำให้นั่งรถเมล์ผิดสาย)

ส่วนขากลับถ้าจะไม่ผ่านสนามหลวง รถเมล์ก็น้อยอีก(ต้องยอมรับว่าสนามหลวงเป็นศูนย์กลางที่รถเมล์ส่วนใหญ่ผ่าน) หลังจากได้คำแนะนำจากพี่ๆที่สภาทนายความ ทำให้ผมมีความหวังมากขึ้น พร้อมที่จะลองอีกครั้งในวันจันทร์ (วันจันทร์เป็นม็อบกู้ชาติครับ) เลยไม่เอารถมาอีก

ถ้าเหลือการเดินทางเพียง 2 ทาง คือ ขับรถไปเอง หรือ ขับรถไปจอดที่รถไฟฟ้าใต้ดินแล้วนั่งรถเมล์ต่อ ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดที่ผม คำนวณออกมา(ขอย้ำว่า คงไม่มีสาวๆคนไหน ที่จะมาเดินทางแบบผมแน่ๆ จะสบายที่สุดก็ไม่ใช่ จะลำบากที่สุดก็ไม่เชิง แต่ที่แน่ๆ ผมพอใจมากครับ)

โปรแกรมแรก ขับรถไปทำงาน

ออกจากบ้านย่านเสนานิคม ผ่านไปทางประชาชื่น ลัดเลาะผ่านราชวัตร ผ่านโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เลี้ยวขวาวัดเบญจมบพิตร เข้าสู่ถนนราชดำเนิน(เลี่ยงอนุเสาวรีย์ชัย) 6 โมง 20 นาที ถึงที่ทำงานประมาณ 7 โมง 20 นาที

ขากลับออกจากที่ทำงาน 16.45 น(กลับทางเดิม) ถึงศาลแพ่งรัชดา เวลา 18.30 น

ค่าเดินทางต่อวัน ไปกลับ 40 กิโลเมตร รถยนต์กินน้ำมัน 1 ลิตร ต่อ 10 กิโล น้ำมันราคาตอนนี้จะพุ่งลิตรที่ 27 อยู่แล้ว ตีว่า ใช้วันละ 4 ลิตร (27คูณ 4 บวก 30 ค่าจอดรถ ก็ 30 บาท ตีซะ 140 แล้วกันต่อวัน)

ข้อเสีย ไม่ได้อ่านหนังสือสอบระหว่างทาง(จำเป็นมาก) นอนหลับไม่ได้(หลับใน แน่นอน) แถมอดดูสาว ระหว่างทางด้วย จะแวะที่ไหนก็ต้องจอดรถ ค่าเดินทางแพงกว่าโปรแกรมที่สอง(จะแจกแจงให้ดูครับ) รถยนต์ที่จอดนั้น แดดแรง ร้อนมาก(สงสารรถ) รถติดทั้งขาไปและกลับ(โดยเฉพาะขากลับเริ่มตั้งแต่ราชดำเนินเลย) เปลืองน้ำมันมากในภาวะที่น้ำมันพุ่งขึ้นๆ และหากจะแวะสยาม พันธ์ทิพย์ เยาฮัน เป็นต้น ลำบากทั้งรถติด และการหาที่จอดรถ

ข้อดี ถึงที่หมาย ไม่มีเหงื่อซักหยด(เรื่องจริง) จอดรถนานแค่ไหนก็30 บาท (จะหาว่าผมลำเอียงว่าข้อดีมีน้อย ไม่ได้นา ก็มันโปรแกรมที่ผมจัดนี่ แต่ลองพิจารณาดูแล้วกันครับ)

โปรแกรมที่สอง เอารถไปจอดที่รถไฟฟ้าใต้ดิน แล้วต่อรถเมล์

ออกจากบ้าน 6 โมง 15 นาที ลัดเลาะออกตามซอย ถึงรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว แบบไม่เจอไฟแดง(ประมาณ 6 โมงครึ่ง)

ถึงสถานีสามย่าน เกือบ 7 โมง เดินข้ามถนน มานั่งรถเมล์สาย 47(มีแต่รถร้อน) ราคา 6 บาท(มีเยอะมาก ) ผ่านมาบุญครอง
เลี้ยวซ้ายผ่านสนามกีฬาแห่งชาติ ขึ้นสะพานขาว ถึงราชดำเนินเวลา 7 .25 น ไม่มีการผ่านอนุเสาวรีย์ไชย ที่หลายๆคนไม่ชอบเพราะรถติด)

ขากลับออกจากที่ทำงาน 16.41 น เดินข้ามถนน มาป้ายรถเมล์ รอสาย 47( มาเยอะเช่นเดิม) มาตามเส้นทางเดิม ผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ(กรณีรอรถติดไม่ไหว ก็ลงได้ครับ แล้วนั่งไปลงสถานีศาลาแดงไปเปลี่ยนรถใต้ดินสถานีสีลมเอา) (หลังๆผมจะไม่เปลี่ยนแล้ว นั่งรถเมล์เอา) พอรถตรงมาเรื่อยๆเลี้ยวขวา ก็ผ่านมาบุญครอง ตรงไปอีกหน่อย นั่นก็รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามย่านแล้ว ถึงสถานีลาดพร้าวเวลา 6 โมง(เร็วกว่าขับรถมาแน่นอน)

ค่าเดินทาง รถเมล์ไปกลับ 12 บาท รถใต้ดินไปกลับ ตีว่า 60 บาท ค่าจอดรถหลังแสตมป์บัตรปลายทาง ตีว่า ไม่เกิน 40 บาท รวม 112 บาท

ข้อดี คือ ได้อ่านหนังสือระหว่างเดินทาง นอนหลับก็ไม่ยากเย็นได้ดูสาวๆ ได้เห็นชีวิต ถูกใจสำหรับคนชอบเดินทางอย่างผม ต่อมาก็สามารถแวะได้เกือบทุกที่ จะไปหาซื้อแผ่นdvd ที่มาบุญครอง ไปซื้อคอมที่ฟอร์จูน ไปกินอาหารที่เยาวราช ไปศูนย์สิริกิติ์ ดูงานแสดงต่างๆ สารพัดที่ทำให้การเดินทางสะดวก สบาย รถยนต์จอดอย่างสบายภายใต้ร่มเงาที่จอดรถ การเดินทางขากลับ รถไม่ติดเสียด้วย (รถเมล์ก็นิดเดียวครับ เร็วกว่าเข้าอนุเสาวรีย์ชัยแน่นอน) ขนาดนั่งหลายต่อแบบนี้ ค่าเดินทางก็ถูกกว่า ประหยัดค่าน้ำมันไปได้มากด้วย

ส่วนข้อเสีย คือ จะมีเหงื่อบ้าง ซึ่งผมทนได้อยู่แล้ว

คงดูออกนะครับ ว่าผมจะเลือกหนทางใด

และ แล้ว การเดินทางที่น่าตื่นเต้นของผมก็เป็นเช่นนี้ แม้จะเป็นวันทำงานที่ต้องปวดหัวก็ตาม

จริงๆ ยังเหลือเส้นทาง คือ ทางเรืออีกครับ แต่ผมตัดไม่เอามาอยู่ในรายการครับ

ผมเชื่อว่า น้อยคนที่จะเลือกการเดินทางแบบผม แต่การเดินทางเช่นนี้แหละที่ทำให้ผม มีความสุขมาก เพราะลงตัวในทุกๆทางๆ แม้ไม่ใช่เส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับใครหลายๆคน

แต่ดีที่สุดสำหรับผม

แล้วจะมีเรื่องมาให้อ่านกันแน่นอนครับ

ขอขอบคุณ พี่ติ๋ว พี่ตา แห่งฝ่ายสิทธิมนุษยชน ใกล้ๆโต๊ะทำงานของผม ที่แนะนำสายรถเมล์ ให้ครับ

Monday, March 06, 2006

ทะเลที่รักษ์ ตอน เล่าเรื่องของนีโม


สัปดาห์ที่สอง ที่ผมมีโอกาสได้ชม ก่อนรายการนี้จะมีรายการเลี้ยงปลาหมอสี ซึ่งแม้จะไม่ใช่ปลาทะเล ขึ้นชื่อว่าปลา เวลาชมแล้วก็ทำให้เพลินได้เหมือนกัน

เมื่อรายการถึงเวลาออกอากาศ อ ธรณ์ แนะนำว่าปลาการ์ตูน(Anemonefish) อยู่ในกลุ่มปลาสลิดหินซึ่งทั้งโลกมีหลายร้อยชนิด โดยในกลุ่มปลาสลิดหินแบ่งเป็นปลาการ์ตูน 20 กว่าชนิด

ปลาการ์ตูนที่เด็กๆและคนทั้งโลกรู้จักเป็นอย่างดี เจ้า นีโม ปลาแสนน่ารักในภาพยนต์อันโด่งดัง จริงๆแล้วชื่อของเขา คือ ปลาการ์ตูนส้มขาว(Crown anemonefish)

ปลาการ์ตูนหลายชนิดอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล ความสัมพันธ์เป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งมีดอกไม้ทะเลเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ที่ปลาการ์ตูนอาศัยอยู่ได้

นั่นเป็นเพราะหนวดของดอกไม้ทะเลมีพิษ เมื่อถูกสัมผัสระบบจะยิงเข็มพิษโดยอัตโนมัติ(หากเราจับที่โคนดอกไม้ทะเลก็จะไม่ถูกพิษ พูดแบบนี้ก็ไม่แนะนำให้จับอยู่ดีนะครับ) ถามว่าเหตุใดเวลาหนวดดอกไม้ทะเลชนกัน ถึงไม่ยิงเข็มพิษใส่กัน นั่นเป็นเพราะดอกไม้ทะเลมีเมือก ซึ่งเป็นเกราะป้องกันเข็มพิษ จึงเป็นคำตอบได้ว่า เหตุใดปลาการ์ตูนถึงไม่ถูกเข็มพิษทำร้าย เพราะพวกเขาจะใช้ลำตัว ถูไป-มากับเมือกของดอกไม้ทะเล ทำให้สามารถอาศัยอยู่เป็นบ้านได้(นึกภาพตามครับ น่ารักมาก)

ปลาการ์ตูนตัวต่อไป คือปลาการ์ตูนลายปล้อง(Clark ‘ s anemonefish) อาจารย์จะเรียกว่าปลาการ์ตูนบั้งดำ(ซึ่งผมเข้าใจ ว่า คือตัวเดียวกันแน่นอน) ตัวนี้อยู่กับดอกไม้ทะเลอีกชนิด ไม่เหมือนเจ้านีโม แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ พวกเขาขาดดอกไม้ทะเล ไม่ได้ครับ คนเรา ขาดบ้าน ขาดครอบครัว ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้นครับ)

นอกจากนั้นก็ยังมีปลาการ์ตูนอินเดียน(Skunk anemonefish) ที่ทางรายการไม่ได้โชว์ภาพมาให้ดู
แม้ปัจจุบันจะมีการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้แล้ว แต่ยังไงก็อย่าเลี้ยงเลยครับ เพราะการเลี้ยงให้รอดต้องทำให้เหมือนธรรมชาติมาก ไม่งั้นพวกเขาก็ตาย

ถึงจะเลี้ยงให้รอดได้ แต่การที่ซื้อพวกเขามาเลี้ยง ก็เท่ากับสนับสนุนให้คนใจบาปไปจับมาจากทะเลมากขึ้น(ที่ขายตามจตุจักร จับมาทั้งนั้นครับ ไม่มีที่เพาะพันธุ์หรอก)

ปัจจุบันมีโครงการ คืนบ้านให้ปลาการ์ตูน ปล่อยพวกเขา คืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องเลือกดอกไม้ทะเลให้ถูกชนิด และไม่มีปลาการ์ตูนอาศัยอยู่ มิฉะนั้น พวกเขาจะถูกไล่ และตายในที่สุด

หากผมมีโอกาสไปปล่อยปลาการ์ตูนบ้าง เมื่อเวลาเอื้ออำนวย คงยากที่ผมจะปฎิเสธได้ลงครับ

Friday, March 03, 2006

สามวันแรก ในการทำงาน


ผ่านไปแล้ว 3 วันสำหรับชีวิตการทำงานครั้งแรกของผม มันทำให้ผมรู้สึกว่าได้ใช้เวลาในแต่ละวัน อย่างคุ้มค่ามากขึ้น และแน่นอนว่าชีวิตของผมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก(แต่ตัวตน ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง)

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ต้องปรับตัวพอสมควร หลังจากเอาเปรียบหลายๆชีวิต ที่ต้องออกมาเผชิญความยากลำบาก ความยุ่งเหยิงในเมืองกรุงแทบทุกวันมานาน ขณะที่ผม อยู่บ้านเสียส่วนใหญ่ การเดินทางออกข้างนอกก็เฉพาะไปเรียนหนังสือเท่านั้น

เริ่มจากการตื่นนอนและการเข้านอน จากที่เคยนอนตื่น 8 โมง 9 โมง นั้น ทำไม่ได้แล้ว และจากที่เคยนอน ตี 1 ตี 2 นั่นก็เป็นอันต้องยุติ(พลพล ชื่อเพลง เพื่อวันที่ดีกว่า)(เพลง ครับ เพลง)

ได้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ หลายๆคนทำงานตั้งแต่ยังไม่ได้รับปริญญาด้วยซ้ำ ทำให้ผมชื่นชมอยู่ไม่น้อยกับความมุ มานะ ของพวกเขา และพวกเธอ

วันใดที่งานน้อย ผมจะรู้สึกเบื่อ เวลาผ่านไปช้ามาก ในขณะที่วันใดงานยุ่ง ก็มักจะง่วนอยู่กับงาน เผลอแปบเดียวก็เย็นเสียแล้ว

นั่นเป็นคำตอบที่ว่า หากเลือกระหว่างการนั่งตบยุง รอเวลาเลิกงาน กับการทำงานหนักจนเหนื่อยอ่อน ผมเลือกที่จะทำงานหนักมากกว่า

บางวันกลับมา ดวงตาพร่า จนอยากจะนอนเสียเดี๋ยวนั้น

ผมรู้สึกว่า ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นทุกวัน และมันช่วยขัดเกลาให้ผมแกร่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว หลายอย่าง เป็นเรื่องที่ในชีวิตประจำวัน หลายอย่าง เป็นเรื่องที่ผมเคยร่ำเรียนมาแล้ว นับว่าไม่ผิดหวังที่เลือกเพราะได้ใช้ความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพ จริงๆ

แม้ค่าตอบแทนจะน้อยกว่าราชการ

แม้จะมีปัญหาบ้างเรื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีไม่พอบุคลากร(ซึ่งจำเป็นมาก)

แม้จะต้องทนลำบากหาเวลาอ่านหนังสือสอบอีก

และไหนจะมีอุปสรรคอีกมากที่พร้อมจะรอผมอยู่ข้างหน้า

นี่จึงเป็นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ของผม

แม้จะเดินช้ากว่าคนอื่นๆ แต่ผมจะเดินต่อไป(แบบเต่า)

คนอื่นทำได้ ผมก็ทำได้